โดย: Tonvet

ไขปมดราม่า ... สุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์(พิษสุนัขบ้า)ต้องโดนกำจัดจริงหรือ?

มารับมือกับโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าด้วยความเข้าใจกันเถอะ

7 กุมภาพันธ์ 2561 · · อ่าน (5,402)
160

SHARES


160 shares
  • สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ต้องกำจัดสุนัขที่มีพฤติกรรมที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้า เพราะ โรคนี้มีระยะเวลาการฟักตัวของโรคไม่แน่นอน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 เดือน หรืออาจมากกว่านั้น บางรายอาจยาวนานเป็นปีเลยก็ได้
     

 

  • ในปัจจุบัน การตรวจยืนยันโรคเรบีส์ต้องตรวจหาแอนติเจนจากสมองด้วยวิธี Fluorescent antibody test (FAT) ซึ่งเป็นวิธีมาตราฐานขององค์การอนามัยโลก
     

 

  • สุนัขที่ยังไม่แสดงอาการมีโอกาสตรวจไม่พบโรคได้ แต่เพื่อลดความเสี่ยง และลดความสูญเสีย จึงต้องแยกสัตว์ที่ต้องสงสัยออกไปก่อน
     
  • วิธีแก้ปัญหาโรคเรบีส์ในระยะยาวคือ การป้องกัน โดยต้องเลี้ยงสัตว์ระบบปิดและพาไปฉีดวัคซีนกับสัตวแพทย์ทุกปี
 
 
Dogilike.com :: ไขปมดราม่า ... สุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์(พิษสุนัขบ้า)ต้องโดนกำจัดจริงหรือ?
 
     หลายคนคงจะทราบข่าวการระบาดของโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ของอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว และส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ เพื่อค้นหาสัตว์ที่สัมผัสโรค และให้ความรู้ต่อชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา พร้อมทั้งขอมติที่ประชุมร่วมกับชาวบ้าน โดยมีมติดำเนินการการุณยฆาตสัตว์ที่สัมผัสและสัตว์ที่สงสัย ตามประกาศข่าวปศุสัตว์ ที่เผยแพร่ข้อมูลโดย สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งมีมติมอบสัตว์เลี้ยงจำนวนร้อยกว่าชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่รับตัวไปดำเนินการต่อ

     ซึ่งประเด็นนี้สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้รักสัตว์จำนวนมาก ถึงวิธีการที่ต้องทำการการุณยฆาตสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น โดยที่ไม่มีการตรวจแยกสัตว์ที่ป่วยและไม่ป่วยก่อนที่จะทำการการุณยฆาต วันนี้จึงอยากมาทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงสุนัข ถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดโรคเรบีส์ ตลอดจนข้อจำกัดในวิธีการตรวจโรคในสัตว์กันก่อนสักหน่อยครับ แล้วค่อยมาดูกันว่าทำไมถึงต้องมีดำเนินการเช่นนี้ และพอมีวิธีใดในการแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้บ้างหรือไม่

 
Dogilike.com :: ไขปมดราม่า ... สุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์(พิษสุนัขบ้า)ต้องโดนกำจัดจริงหรือ?

 
     โรคเรบีส์ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นโรคที่ติดต่อกันผ่านน้ำลาย เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายตรงบริเวณที่ไปสัมผัสเชื้อ ไม่ว่าจะถูกกัด เลีย หรือถูกข่วนก็ตาม เชื้ออาจจะผ่านเข้ามาตามบาดแผล หรือเยื่อเมือกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ช่องปากหรือที่ตา ที่ไปสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ป่วย เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว ก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนบริเวณเซลล์กล้ามเนื้อบริเวณนั้นก่อนแพร่เข้าสู่ปลายเส้นประสาท แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ไขสันหลังและสมองซึ่งเป็นระบบประสาทส่วนกลาง ที่ตรงนี้เชื้อจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอีกครั้งโดยเฉพาะในสมอง ช่วงเวลานี้เองที่สัตว์ป่วยจะเริ่มแสดงอาการป่วย โดยจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเป็นระยะนำของโรค แล้วจึงจะมีการคลุ้มคลั่งต่อไป 
 
     จากนั้นเชื้อที่อยู่ในสมองจะถูกส่งออกไปตามเส้นประสาทแล้วเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื้อจะได้แพร่กระจายออกจากตัวสัตว์ป่วยต่อไปยังตัวสัตว์อื่น ๆ ได้ เพราะอีกไม่นานสัตว์ตัวป่วยตัวนี้ก็จะตายลงไปภายในไม่ช้า ถึงตรงนี้สัตว์ก็จะมีอาการน้ำลายไหล เคี้ยวหรือกลืนน้ำไม่ได้ เพราะระบบประสาทถูกทำลายไปแล้ว ในที่สุดสัตว์ก็จะเป็นอัมพาตแล้วตายไป ซึ่่งขั้นตอนทั้งหมดที่ไล่มานี้ เราไม่สามารถบอกได้เลยครับว่า แต่ละตัวจะใช้เวลานานเท่าไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่สมอง ซึ่งเป็นระยะฟักโรค เราจะรู้จากการสังเกตได้ก็ต่อเมื่อสัตว์ได้แสดงอาการออกมาหลังจากที่เชื้อเข้าสู่สมองแล้ว ประเด็นนี้จึงสำคัญมาก ๆ เลยครับ เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไรสัตว์ที่ได้รับเชื้อแล้วจะแสดงอาการออกมา บางตัวอาจจะแค่สัปดาห์ แค่เดือน หรือบางตัวอาจเป็นนานปี ถึงแม้โดยเฉลี่ยระยะฟักตัวของโรคนี้จะประมาณแค่ 2-3 เดือนเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะถ้าเรากักสัตว์ป่วยเพื่อดูอาการแค่ 2-3 เดือน แล้วไม่พบความผิดปกติอะไรเลย จากนั้นก็ปล่อยสัตว์ออกไปใช้ชีวิตตามอิสระ วันดีคืนดีสัตว์ตัวนั้นกลับระเบิดอาการของโรคออกมา ถึงเวลานั้นก็สายไปเสียแล้ว


Dogilike.com :: ไขปมดราม่า ... สุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์(พิษสุนัขบ้า)ต้องโดนกำจัดจริงหรือ?
 
 
     ที่นี้ก็มีคนสงสัยว่า แล้วไม่มีวิธีที่จะตรวจทราบก่อนได้เลยหรือ ? สามารถเจาะเลือดไปตรวจ เหมือนเวลาที่เราเจาะเลือดตรวจวัดน้ำตาลหาโรคเบาหวานได้หรือไม่ สำหรับวิธีการตรวจโรคเรบีส์ในสัตว์นั้นก็มีหลายสิบวิธีเลยครับ ซึ่งแต่ละวิธีต่างก็มีข้อจำกัด ไล่ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธีฉีดเชื้อจากสัตว์ที่ป่วยเข้าสมองหนูทดลอง (Mouse inoculation test) แล้วดูว่าหนูตัวนั้นจะป่วยหรือไม่ วิธีนี้สามารถแยกเชื้อไวรัสได้ แต่ใช้เวลาตรวจนานและต้องใช้ชีวิตของหนูทดลองด้วย ต่อมาเลยพัฒนามาฉีดเชื้อใส่เซลล์เพาะเลี้ยงแทน แต่ทั้งสองวิธีก็ยิ่งเป็นการเพิ่มเชื้อขึ้นมาอีก หากการควบคุมเชื้อไม่ดี ก็ง่ายต่อการปนเปื้อน เลยมีการพัฒนามาตรวจหา RNA ของไวรัส หรือตรวจหาแอนติเจนของเชื้อไรรัสโดยตรงแทน แม้แต่มีการวิธีตรวจหาแอนติบอดี้ในซีรั่มหรือน้ำไขสันหลังของสัตว์ด้วย แต่วิธีหลังนี้อาจเกิดผลผิดพลาดได้ง่าย คืออาจตรวจไม่พบ เพราะระยะเวลาการตอบสนองของภูมิค้มกันของสัตว์แต่ละรายนั้นอาจแตกต่างกัน

 
Dogilike.com :: ไขปมดราม่า ... สุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์(พิษสุนัขบ้า)ต้องโดนกำจัดจริงหรือ?

 
     ดังนั้นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ ถือเป็นมาตราฐานที่ทั่วโลกต่างยอมรับ ซึ่งใช้การันตีและปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ การหาแอนติเจนจากสมอง โดยใช้แอนติบิดีที่ติดสารเรืองแสงเข้าไปจับกับแอนติเจนของเชื้อไวรัส หรือวิธี Fluorescent antibody test (FAT) นั่นเอง ก็เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องตัดหัวสุนัขไปส่งตรวจ เพราะเราต้องการเอาสมองของสัตว์ป่วยมาตรวจยืนยันโรคนั้นเอง (ความจริงถ้าสัตว์ขนาดตัวไม่ใหญ่มาก จะส่งซากสัตว์ทั้งตัวไปตรวจก็ได้นะครับ) ซึ่งสมองเป็นอวัยวะที่เชื้อไวรัสจะไปเพิ่มจำนวนตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว แต่การตรวจวิธีนี้นั้น ถ้าหากเชื้อไวรัสยังไม่ไปที่สมอง หรือสุนัขยังไม่แสดงอาการ ก็มีโอกาสที่จะตรวจแล้วไม่พบเชื้อโรคได้ครับ
     
      ซึ่งหากมองในแง่ของความเสี่ยงแล้ว เราไม่สามารถวางใจได้เลยว่าสัตว์ตัวนี้จะไม่เป็นโรค เพราะโรคนี้ถือเป็นโรคสำคัญ เป็นแล้วรักษาไม่หาย และหากแสดงอาการป่วยแล้วก็จะต้องตายอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ในพื้นที่ต้องอยู่อาศัยด้วยความเสี่ยงต่อไป หรือต้องมาเสียชีวิตเพิ่มไปอีกในอนาคต และเพื่อยุติการ Outbreak หรือการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ ณ ขณะนั้นอันเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยแล้ว จึงจำเป็นจะต้องแยกสัตว์ที่มีความเสี่ยงนั้นออกไปจากสังคมก่อนครับ ซึ่งอาจจะจำกัดบริเวณไม่ให้สัตว์ถูกเคลื่อนย้ายหรือหนีหายไปไหนได้ (เพื่อลดการแพร่กระจายและจะได้สังเกตอาการด้วย) หรืออาจถูกกำจัดด้วยการการุณยฆาตภายใต้กฎหมายตามหลักสากล ซึ่งเป็นขั้นตอนเด็ดขาดที่ทั่วโลกมักพิจารณานำมาใช้ต่อสู้กับโรคนี้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ส่วนผลการตรวจยืนยันที่จะออกมาภายหลังนั้น ก็จะเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการป้องการโรคเชิงระบาดวิทยาได้ต่อไปในอนาคต สำหรับสัตว์ที่แยกออกไปจากสังคม ก็จะต้องถูกกักบริเวณอย่างเคร่งคัด อาจจะนานหลายเดือน และต้องมีการเก็บตัวอย่างตรวจเป็นระยะจนกว่าจะมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซนต์ เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่ทำให้สุนัขตัวนั้นมีความสุขเท่าไรนัก เพราะต้องถูกจำกัดการใช้ชีวิตไปโดยปริยาย

 
Dogilike.com :: ไขปมดราม่า ... สุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์(พิษสุนัขบ้า)ต้องโดนกำจัดจริงหรือ?

 
     ลึก ๆ แล้วคงไม่มีใครอยากการุณยฆาตสัตว์หรอกครับ การแก้ปัญหาโรคเรบีส์ในระยะยาวนั้นทำได้อย่างเดียวคือ การป้องกัน ผู้เลี้ยงจะต้องเลี้ยงสัตว์ระบบปิด ไม่ปล่อยปะละเลย  ให้สัตว์เลี้ยงออกมาเร่ร่อน เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงออกไปติดเชื้อมาได้ ที่สำคัญจะต้องพาไปรับการฉีดวัคซีนกับสัตวแพทย์ทุกปี รวมถึงผู้เลี้ยงและสมาชิกทุกคนในบ้านเอง ก็ต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วย ไม่ต้องรอให้ถูกกัดก่อนแล้วถึงฉีดก็ได้ พวกเราก็คงจะเห็นกันแล้วว่า เมื่อเกิดการระบาดของโรคขึ้นมา มีแต่เสียกับเสีย เสียสุนัขอันเป็นที่รักไป เสียขวัญกำลังใจ เสียเงินรักษา ค่ายา ค่าฉีดวัคซีน เสียเวลาที่ต้องมาแก้ปัญหานี้อีก ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมานั้นมันไม่คุ้มเลย เพราะสัตว์ดี ๆ ก็อาจต้องมาติดร่างแหไปด้วย แต่ก็ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ ทำให้ทุกคนได้ตระหนักและจริงจังกับป้องกันโรคเรบีส์นี้กันเสียที.... 




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
www.who.int/rabies/about/home_diagnosis/en/
 
รูปภาพประกอบ :
www.petwave.com/-/media/Images/Center/Health/Dog/Brain-and-Spine/Rabies/Rabies-2.ashx
veteriankey.com/wp-content/uploads/2016/08/B9781416061304000203_f020-008-9781416061304.jpg
www.scielo.br/img/revistas/jvatitd/v13n1/02t2.gif
postmedialeaderpost2.files.wordpress.com/2018/01/aptopix-taiwan-rabies.jpg