โดย: Tonvet

คำโฆษณาเกินจริงของสัตวแพทย์ ที่คนรักหมาต้องระวัง !!

คำโฆษณาขี้โม้โอ้อวดเกินจริงอะไรบ้าง ที่คนรักหมาห้ามหลงเชื่อเป็นอันขาด

16 พฤษภาคม 2561 · · อ่าน (5,003)
659

SHARES


659 shares
  • การโฆษณาที่เกินจริงในทำนองที่โอ้อวดในตัวของสัตวแพทย์เอง สถานพยาบาลสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ทางสัตวแพทย์ ถือว่าผิด 
 
  • การใช้คำ ข้อความ และพฤติกรรมในการโฆษณาที่ไม่สมควร โดยเฉพาะคำต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น รับรองผล ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ยอด หายขาด ปลอดภัยที่สุด หายห่วง ฯลฯ ไม่ควรเอามาใช้โดยเด็ดขาด
 
  • การโฆษณาการให้บริการ “ฟรี” โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ นั้น ให้กระทำได้โดยจะต้องกำหนด วัน เวลา และสถานที่ที่ให้บริการที่แน่นอน อีกทั้งต้องแสดงรายละเอียดว่าเป็นการให้บริการฟรีในเรื่องใด และเงื่อนไขให้ชัดเจน โดยต้องให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตราฐานของสถานพยาบาลสัตว์นั้น ๆ


 

Dogilike.com :: คำโฆษณาเกินจริงของสัตวแพทย์ ที่คนรักหมาต้องระวัง !!





     แม้ว่าการรักษาสัตว์จะเป็นงานการบริบาลให้กับสัตว์ที่ป่วยตามหลักวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตัวสัตว์ที่ป่วยเองและตัวเจ้าของสัตว์ แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงทางเศษฐกิจ ทำให้งานการรักษาสัตว์นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการแข่งขันกันทางธุรกิจ ทั้งตัวสัตวแพทย์เอง สถานพยาบาลสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์ทางสัตวแพทย์ ก็มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น จึงเกิดการโฆษณาเพื่อเชื้อเชิญให้บรรดาเจ้าของสัตว์ทั้งหลายเกิดความสนใจ บ้างก็ใช้โปรโมชั่น หั่นราคา ลด แลก แจก แถม เพื่อมากระตุ้นความสนใจ ซึ่งความจริงแล้วการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด แต่จะผิดอย่างไร และคนรักหมาอย่างเรา ๆ จะมีวิธีการรับมืออย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวง วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจให้ครับ
 
 
 

การโฆษณา

 
 
     ตามข้อบังคับสัตวแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2546 นั้น ได้เขียนเอาไว้ว่า การโฆษณา หมายความว่า การเผยแพร่ การประกาศ อาจจะโดยหนังสือ วาจา การป่าวร้อง การป่าวประกาศ แก่ประชาชน หรือสาธารณชนทางสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรือทางเครือข่ายอิเล็คทรอนิก เป็นต้น ซึ่งในส่วนของตัวสัตวแพทย์เองนั้นมีกฎหมายที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ทั้งของตนเองและของผู้อื่น" 
 
 
     ซึ่งการโฆษณาที่สามารถทำได้ต้องไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์ ทั้งนี้การเผยแพร่ ให้ข้อมูลวิชาการ หรือตอบปัญหาทางวิชาชีพการสัตวแพทย์ทางสื่อมวลชน ถ้ามีการแสดงตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ จะต้องไม่แจ้งสถานที่ทำการประกอบวิชาชีพส่วนตนหรือส่วนบุคคล รวมถึงต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นเอาตนหรือชื่อของตน คุณวุฒิ ความรู้ความสามารถของตนหรือผู้อื่น ไปโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางสัตวแพทย์ต่อประชาชนทางสื่อต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะการโฆษณาที่เกินจริง ซึ่งการโฆษณาในทำนองที่โอ้อวดของตัวสัตวแพทย์เอง สถานพยาบาลสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ทางสัตวแพทย์ถือว่าผิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ไม่มีมูลความจริง การรักษาสัตว์เปรียบเทียบผลในการรักษาก่อนและหลังไปในเชิงการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง การโอ้อวดความเชี่ยวชาญ สรรพคุณของเครื่องมือของสถานพยาบาลสัตว์ กรรมวิธีการรักษาที่เกินความจริง หรือแม้แต่ข้อความที่เสี่ยงทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดในสาระสำคัญของการรักษาก็ทำไม่ได้ ซึ่งสัตวแพทยสภาเอง ก็ได้มีประกาศคำต้องห้ามเอาไว้อยู่หลายคำด้วยกัน ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไปครับ
 
 
 
 

คำโฆษณาต้องห้ามนำมาใช้โม้โอ้อวด

 
 
 
     การโฆษณาที่โอเวอร์แอ็กติ่งมากไปเป็นสิ่งที่น่าสงสัยไว้ก่อนว่าจะมีความน่าเชื่อถือได้หรือไม่ การใช้คำบางคำเป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศที่ 12/2551 เรื่อง การใช้คำ ข้อความ และพฤติกรรมในการโฆษณาการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ไม่สมควรเอามาใช้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะการโฆษณาการประกอบวิชาชีพทางสัตวแพทย์ด้วยคำต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น
 
 
     เพียง เท่านั้น พิเศษ เฉพาะ ล้ำสมัย ราคาเดิม ครบวงจร ฟรี แถม โปรโมชั่น สมนาคุณ ลดจากราคาปกติเหลือ ลดราคา Sale แห่งแรก แห่งเดียว ได้ผลแน่นอน รับรองผล ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ยอด หายขาด ปลอดภัยที่สุด หายห่วง โอกาสดีอย่างนี้ไม่มีบ่อยนัก ไม่มีใครทำได้ วิเศษ เด็ดขาด ฉับพลัน ไม่ต้องทนรำคาญ ดีเลิศ ทันใจ ไม่มีผลข้างเคียง ศักดิ์สิทธิ์ หมดกังวล เป็นหนึ่งมาตลอด แลก แจก และคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำ ข้อความ และพฤติกรรมข้างต้นด้วย
 
 
     ยกตัวอย่าง สถานพยาบาลสัตว์แห่งนี้ใช้อุปกรณ์ที่ลำล้ำสมัยครบวงจร โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเป็นที่หนึ่ง รับรองว่าได้ผลหายขาดแน่นอน ค่ารักษาเพียงครั้งละ 1,000 บาท เท่านั้น พิเศษ! เฉพาะสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิต ลดราคาค่ารักษาเหลือ 500 บาทเท่านั้น วิเศษแบบนี้มีที่นี่แห่งแรกและแห่งเดียว หรือ ยาฆ่าเห็บยี่ห้อนี้ดีมาก สามารถกำจัดเห็บได้เด็ดขาด ไม่มีผลค้างเคียงและปลอดภัยที่สุด หมดกังกลเรื่องเห็บ รับรองผล 100% เป็นต้น ถ้าเพื่อน ๆ เห็นข้อความแบบนี้ให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก่อนได้เลยว่าไม่น่าจะเป็นจริงตามนั้น ซึ่งผู้ฝ่าฝืนใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้คำเหล่านี้เพื่อการโฆษณาย่อมมีโทษตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และเพิกถอนใบอนุญาตได้เลยครับ
 
 

Dogilike.com :: คำโฆษณาเกินจริงของสัตวแพทย์ ที่คนรักหมาต้องระวัง !!


 

คำเรียกของสัตวแพทย์

 
 
 
     คำเรียกของสัตวแพทย์นั้นอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดได้เหมือนกัน จะเรียกว่าเป็นการพลิกแพลงทางภาษาก็ว่าได้ บทนิยามของ "ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์" นั้น เราจะเรียกผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ที่ได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตจากสถานศึกษาในประเทศไทยที่สัตวแพทยสภารับรอง และผ่านการสอบความรู้ตามข้อบังคับสัตวแพทยสภา ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนและมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ด้วยว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง" มีคำนำหน้าชื่อว่า นายสัตวแพทย์ สัตวแพทย์หญิง หรือนายสัตวแพทย์หญิง (ไม่งงนะครับ คำว่า "นาย" นำหน้านี้จะใช้เรียกตำแหน่งของสัตวแพทย์ในทางราชการ) สามารถรักษาสัตว์ได้ทุกชนิดและทำหัตถการ ผ่าตัดได้ทุกประเภท 
 
 
 
     ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ที่ไม่จบสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต แต่ผ่านการอบรมจากสถาบันที่สัตวแพทยสภารับรอง และผ่านการทดสอบความรู้ในบางเรื่องตามข้อบังคับของสัตวแพทยสภา ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนและมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ด้วย จะใช้คำว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง" เราเรียกว่า "สัตวแพทย์" หรือ "Para-veterinarian" สามารถรักษาหรือประกอบวิชาชีพได้เท่าที่ได้รับการรับรองมาเท่านั้น ส่วนมากคนเหล่านี้จะทำงานในทางราชการ 
 
 
 
     ที่นี้ก็มีบางครั้งที่เราเรียกสัตวแพทย์บางท่านว่าอาจารย์ ซึ่งคำว่า "อาจารย์" นี้ ตามประกาศสัตวแพทยสภาที่ 61/2557 ว่าด้วย คำจำกัดความของคำว่าอาจารย์ ตามประกาศสัตวแพทยสภาที่ 7/2552 เรื่องหลักเกณฑ์ว่าด้วยการพิจารณาหลักสูตรและสถาบันผลิตสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต ข้อ 2 คณาจารย์ (ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์) และบุคลากรสายสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากการประชุมคณะกรรมการสัตวแพทยสภาครั้งที่ 12/2557 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดคำจำกัดความของ อาจารย์ หมายถึง ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยบุคลากร ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาอย่างน้อย 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งต้องมีภาระงานอย่างน้อย 3 ด้านประกอบด้วย งานการสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ ดังนั้นสัตวแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพตามสถานพยาบาลสัตว์เอกชน และไม่มีคุณสมบัติเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ ไม่สามารถใช้หรือเรียกใช้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้หรือเรียกใช้ คำว่า "อาจารย์" แทนตัวเองได้ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดถึงคุณวุฒิของตัวสัตวแพทย์เอง
 

 
 

การโฆษณาให้ส่วนลดหรือให้ผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนของสถานพยาบาลสัตว์

 
 
 
     เนื่องจากสถานพยาบาลสัตว์ปัจจุบันเปิดให้บริการกันมากมาย ทำให้มีการแข่งขันที่สูง ในแง่ของธุรกิจจึงอาจมีการโฆษณาให้ส่วนลดหรือผลประโยชน์ใดใดเป็นค่าตอบแทน เพื่อดึงดูดความสนใจต่อผู้เข้ารับบริการ เรื่องนี้สัตวแพทยสภาก็มีประกาศออกมาด้วยเช่นกัน ตามประกาศสัตวแพทยสภา ที่ 30/2557 โดยความเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการสัตวแพทยสภาครั้งที่ 6/2557 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ต้องไม่โฆษณาสถานพยาบาลสัตว์ หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาลสัตว์ที่ตนเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะว่าจะให้ส่วนลดเป็นเงินหรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนใดๆแก่ผู้เข้ารับบริการ หรือแก่ผู้ชักนำผู้ไปขอรับบริการจากสถานพยาบาลสัตว์นั้น ยกเว้นแต่ การโฆษณาการให้บริการ “ฟรี” โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ นั้น ให้กระทำได้โดย จะต้องกำหนด วัน เวลา และสถานที่ที่ให้บริการที่แน่นอน อีกทั้งต้องแสดงรายละเอียดว่าเป็นการให้บริการฟรีในเรื่องใด และเงื่อนไขให้ชัดเจน 
 

 
Dogilike.com :: คำโฆษณาเกินจริงของสัตวแพทย์ ที่คนรักหมาต้องระวัง !!
 

 
     ซึ่งการโฆษณาที่จัดให้มีการแถม แลกเปลี่ยน ให้สิทธิประโยชน์ รางวัล หรือ จากการเลือก มารับบริการอย่างหนึ่งอย่างใดจากสถานพยาบาลสัตว์นั้น ต้องทำให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมาตรฐานการรับบริการดังกล่าวจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปของสถานพยาบาลสัตว์นั้น ๆ ด้วย โดยการให้ส่วนลดค่าบริการหรือค่ารักษาพยาบาลจะกระทำได้เพียงในกรณี
 
     (1) เป็นการให้ส่วนลดเพื่อการอนุเคราะห์บุคคลด้อยโอกาส
 
     (2) เป็นการให้ส่วนลดตามแผนงานของกรมปศุสัตว์ หรือ ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง
 
     (3) การโฆษณาให้ส่วนลดต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ จึงจะถือว่าเป็นการให้ส่วนลดต่อสมาชิก กลุ่มบุคคล คือ ผู้ได้รับผลประโยชน์ต้องเป็นกลุ่มสมาชิกนั้น และเอกสารดังกล่าวต้องส่งตรงให้แก่ผู้ที่เป็นสมาชิก โดยไม่มีวางจำหน่ายหรือเผยแพร่เป็นการทั่วไป เช่น ให้ส่วนลดเฉพาะสมาชิกบัตรเครดิตของธนาคารและองค์กรต่าง ๆ ให้ส่วนลดสำหรับผู้ใช้จ่ายบัตรเครดิตของธนาคารและองค์กรต่าง ๆ หรือให้ส่วนลดเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกนิตยสารต่าง ๆ เท่านั้น เป็นต้น และจะต้องกำหนดประเภทของกิจการให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการสัตวแพทย์ และจะต้องมีการกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาในการให้ส่วนลดไว้ชัดเจน ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาต้องไม่เกิน 1 ปี เท่านั้นด้วยครับ
 
 
 
     ทุกวันนี้จะซื้ออะไรมาใช้หรือใช้บริการอะไรก็ตาม จำเป็นต้องตรวจสอบกันให้ดี อย่าคิดว่าของที่ได้รับการรับรองหรือมีเลขทะเบียนแล้วนั้นจะปลอดภัย เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เป็นข่าวดัง ว่ามีการใช้คำโฆษณาโอ้อวดเกินจริง จนทำให้ประชาชนหลงเชื่อนำมาใช้ แล้วเกิดความเสียหายทั้งต่อสุขภาพ หรือแม้กระทั้งเสียชีวิตไป การโฆษณาสถานพยาบาลสัตว์ และผลิตภัณฑ์ใดใดทางการสัตวแพทย์ด้วยการให้คนดังมาพูดโอ้อวดสรรพคุณต่าง ๆ ถ่ายภาพพร้อมบรรยายความเชี่ยวชาญต่าง ๆ นั้น ส่งผลต่อการการตัดสินใจ และทำให้มีผู้ติดตามไปใช้บริการ หรือไปหาซื้อผลิตภัฑ์มาใช้ตามคำโอ้อวดเกินจริงเหล่านั้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะต้องดูให้ดี เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนพวกนี้ได้ง่าย ๆ




บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์


เนื้อหาอ้างอิงบางส่วน :
http://vetcouncil.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=400
 
รูปภาพประกอบ :
http://mcaasesores.com/wp-content/uploads/2015/11/interactive-banner-color-pic-2.jpg
www.lekhmart.com/category/pets-pets-care/veterinary-doctors/
www.nurse.com/blog/2017/09/01/theres-a-lesson-or-two-in-utah-nurses-shocking-arrest/