โดย: Tonvet
การดูแลสุนัขที่ขาดอาหาร
จะรับมืออย่างไรเมื่อเราต้องดูแลสุนัขที่ขาดอาหาร
11 กรกฏาคม 2561 · · อ่าน (37,882)- สุนัขไม่ได้รับอาหารร่างกายจะปรับเข้าสู่โหมดของการเอาตัวรอดภายใน 24 ชั่วโมง เป้าหมายสูงสุดคือการรักษาระดับของน้ำตาลในเลือดให้คงอยู่ในระดับปกติ โดยเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นน้ำตาลกลูโคสที่พร้อมใช้งาน
- เมื่อเวลาผ่านไปมากกว่า 2 วัน ปริมาณไกลโคเจนที่สะสมจะเริ่มหมดลง ร่างกายก็จะไปดึงเอาไขมันที่สะสมอยู่มาใช้เป็นพลังงาน เพื่อรักษาระดับของกลูโคสต่อไป
- หลังจากผ่านไปได้ 5 วัน พลังงานหลักก็จะมาจากไขมันที่สะสมในร่างกาย ร่างกายจะมีการหลั่งอินซูลินลดลง และมีอัตราการเผาผลาญลดลง เมื่อไขมันถูกดึงมาใช้ร่างกายก็จะเริ่มผอมลงเรื่อย ๆ จนเห็นหนังหุ้มกระดูก
- การดูแลสุนัขที่อดอาหารมานานไม่ใช่เรื่องง่าย สุนัขอาจเสียชีวิตได้จากการให้อาหารที่ผิด เราเรียกว่า Refeeding syndrome
- สุนัขควรได้รับอาหารเริ่มต้นที่ 25% ของความต้องการพลังงานปกติต่อวัน โดยแนะนำให้แบ่งให้อาหารสุนัขเป็นมื้อเล็ก ๆ คือ ให้ทุก ๆ 6 ชั่วโมงแทน จากนั้นก็ค่อยเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นอย่างช้า ๆ จนพอครบ 3-5 วัน จึงค่อยให้อาหารเต็มที่ตามความต้องการของพลังงานปกติต่อวัน
บ่อยครั้งที่เราพบเห็นสุนัขข้างทางหรือสุนัขหลงทางที่มีสภาพร่างกายที่ผอมโซ มองเห็นแต่หนังหุ้มกระดูก จึงเกิดความสงสารอยากที่จะช่วยเหลือ แต่การนำอาหารไปให้เลยนั้น อาจไม่ใช่การช่วยที่ถูกต้องนัก เพราะถ้าเราให้ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้สุนัขเกิดภาวะ Refeeding syndrome ตามมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้สุนัขเกิดอันตราย จนถึงแก่ชีวิตตามาได้เช่นกัน เนื่องจากการที่สุนัขอดอาหารมานานนั้น ร่างกายมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มีการหลั่งสารบางอย่างลดลง แน่นอนว่าร่างกายก็จะมีสมดุลของแร่ธาตุบางตัวในร่างกายที่เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นเราจะทำอย่างไร ที่จะช่วยให้สุนัขที่น่าสงสารเหล่านี้อยู่รอดปลอดภัยได้อย่างถูกวิธี วันนี้ มุมหมอหมา มีคำตอบครับ
เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายสุนัขที่ขาดอาหาร
เมื่อสุนัขไม่ได้รับอาหารร่างกายจะปรับเข้าสู่โหมดของการเอาตัวรอดภายใน 24 ชั่วโมงที่ไม่ได้รับอาหาร เป้าหมายสูงสุดคือการรักษาระดับของน้ำตาลในเลือดให้คงอยู่ในระดับปกติ เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำเกินไป อวัยวะสำคัญอย่างสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะสำคัญอื่น ๆ จะหยุดทำงาน นำไปสู่การเสียชีวิตตามมาได้ ดังนั้นเมื่อสุนัขไม่ได้กินอาหารก็จะมีการระดมน้ำตาลจากแหล่งสะสมต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ตับและกล้ามเนื้อ โดยอาศัยขบวนการทางชีวเคมีของร่างกาย เพื่อเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นน้ำตาลกลูโคสที่พร้อมใช้งาน
เมื่อเวลาผ่านไปมากกว่า 2 วัน ปริมาณไกลโคเจนที่สะสมจะเริ่มหมดลง ร่างกายก็จะไปดึงเอาไขมันที่สะสมอยู่มาใช้เป็นพลังงาน เพื่อรักษาระดับของกลูโคสต่อไป พลังงานที่ได้จากการออกซิไดส์ไขมันสามารถแปรรูปออกมาได้หลายรูปแบบ ภาวะที่มีการปลดปล่อยกรดไขมันออกมามากส่งผลให้มีอะซีทิลโคเอมากจนเกิดเป็นสารคีโตนขึ้น ปกติแล้วร่างกายจะไม่ผลิตคีโตนออกมากจากเกินไป ยกเว้นอยู่ในภาวะอดอาหาร เพราะถ้าผลิตมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ในช่วงที่อดอาหารตับจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าคีโตนเข้าสู่กระแสเลือด คีโตนจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ร่างกายของสุนัข โดยสงวนเอากลูโคสไว้ใช้เฉพาะเซลล์ที่สำคัญเช่นสมองและเม็ดเลือดแดง
และพอหลังจากผ่านไปได้ 5 วัน พลังงานหลักก็จะมาจากไขมันที่สะสมในร่างกาย ร่างกายจะมีการหลั่งอินซูลินลดลง และมีอัตราการเผาผลาญลดลง เมื่อไขมันถูกดึงมาใช้ร่างกายก็จะเริ่มผอมลงเรื่อย ๆ จนเห็นหนังหุ้มกระดูก หลังจากนี้ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญพลังงานลดลง เพื่อประคองร่างกายให้อยู่รอดได้นานที่สุด จนกว่าจะได้รับอาหาร สุนัขที่ผอมแห้งและขาดอาหารจะมีคะแนนรูปร่างน้อยกว่า 2 คะแนนจาก 5 คะแนน (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในนี้) จะเริ่มเห็นชัดเจนเมื่อสุนัขที่ไม่ได้รับอาหารมานานมากกว่า 5-10 วัน แม้ว่าร่างกายจะมีสภาพปกติก็ตาม รวมถึงสัตว์ที่สูญเสียน้ำหนักตัวไปเกินกว่า 10% ภายในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือนก็เช่นกัน ทั้งนี้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคบางอย่างก็อาจมีร่างกายที่ผอมหนังหุ้มหระดูกได้ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรืออยู่ในช่วงเลี้ยงลูกและได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เป็นต้น
การดูแลสุนัขที่ขาดอาหาร
การดูแลสุนัขที่อดอาหารมานานไม่ใช่เรื่องง่าย สุนัขอาจเสียชีวิตได้จากการให้อาหารที่ผิด เราเรียกว่า Refeeding syndrome จะเกิดกล้ามเนื้อเป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากความผิดปกติของสมดุลโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในเซลล์ ระดับฟอสฟอรัสที่ลดลงจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะโลหิตจางตามมา อีกทั้งยังเกิดอุปสรรคในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงยังเนื้อเนื่อของร่างกายด้วย ดังนั้นช่วงแรกพลังงานที่ได้ควรมาจาก อาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรท เป็นอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการที่สูงและย่อยง่าย อีกทั้งกระเพาะอาหารที่มีขนาดเล็กลงจากการอดอาหารเป็นเวลานาน อาจต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวอย่างน้อย 3-7 วัน จึงแนะนำให้แบ่งให้อาหารสุนัขเป็นมื้อเล็ก ๆ โดยให้ทุก ๆ 6 ชั่วโมง แทนที่จะให้มื้อใหญ่วันละ 1-2 ครั้ง สุนัขควรได้รับอาหารเริ่มต้นที่ 25% ของความต้องการพลังงานปกติต่อวัน โดยคำนวนปริมาณพลังงานจากสูตร RER = (น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม x 30) + 70 ก็จะได้ออกมาเป็นพลังงานกิโลแคลอรี่ต่อวันที่ร่างการต้องปกติในขณะพัก
หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมงแรกก็ค่อยเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นอย่างช้า ๆ จนพอครบ 3-5 วัน จึงค่อยให้อาหารเต็มที่ตามความต้องการของพลังงานปกติต่อวัน ส่วนการจะเสริมฟอสฟอรัสนั้น ควรเสริมให้กับรายที่มีปริมาณต่ำ เช่นเดียวกับการเสริมโพแทสเซียม ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ที่จะต้องประเมินสภาพ ให้อิเล็กโตรไลด์ผ่านทางสารน้ำเข้าทางเส้นเลือด สุนัขที่หิวโหยจะต้องมีแร่ธาตุที่สมดุลด้วย โดยเฉพาะฟอสฟอรัส โพสแทสเซียม และแมกนีเซียม ส่วนสารอาหารอื่น ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งวิตามิน กรดอะมิโนอย่างกลูตามีน และกรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 ล้วนเป็นประโยชน์ในช่วงของการฟื้นฟูนี้ ช่วงแรก ๆ อาจพบเห็นสุนัขอาเจียนหรือท้องเสียจากการปรับตัวของทางเดินอาหาร การเฝ้าติดตามน้ำหนักตัวของสุนัขจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และหากสุนัขมีการกินได้น้อย แนะนำให้ทำการอุ่นอาหารหรือทำให้อาหารมีกลิ่นหอมขึ้น โดยให้เป็นอาหารเปียกก็ได้ ก็จะชวนให้สุนัขสนใจกินได้ดีขึ้น ทั้งนี้ตลอดขั้นตอนการฟื้นฟูในช่วงแรกนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้มวลร่างกายที่ลดลงและการที่มีไขมันที่น้อยลง ย่อมทำให้การรักษาความร้อนของร่างกายทำได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเราต้องช่วยให้ความอบอุ่นต่อร่างกายสุนัขด้วย ต้องให้สุนัขอยู่ในที่ที่อบอุ่นและสบายตัว ให้นอนบนเบาะนุ่มเพื่อลดแรงกดทับอันอาจนำมาซึ่งแผลกดทับที่จะตามมา ให้ช่วยพลิกตัวหรือขยับตัวของสุนัขบ่อย ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ด้วย ลดความเสี่ยงที่จะตามมาจากความล้มเหลวของทางเดินหายใจ มีคำแนะนำในเรื่องของการเสริมโปรไบโอติก ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดการท้องเสียในช่วงของการปรับตัวของทางเดินอาหารได้ด้วยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
http://www.wisconsinfederatedhs.org/feeding-skinny-animals-helpful-or-harmful.html
รูปภาพประกอบ :
http://honesttopaws.com/wp-content/uploads/sites/5/2016/10/mojo-2.jpg
https://s-i.huffpost.com/gen/1691942/thumbs/o-STARVED-DOG-570.jpg
https://wcmu.org/news/wp-content/uploads/2015/11/Doug1.jpg
http://cdn.earthporm.com/wp-content/uploads/2015/09/two-starving-dogs-transform-rescued-trio-animal-foundation-chicago-11.jpg
SHARES