โดย: Tonvet
หมาอ้วน...เป็นอะไรได้มากกว่าโรคอ้วน ?
โรคอ้วนมันน่ากลัว แต่ผลที่ตามมาจากโรคอ้วนนั้นน่ากลัวว่า มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
8 สิงหาคม 2561 · · อ่าน (18,503)
-
ปัจจุบันสุนัขป่วยเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น ข้อมูลผลสำรวจของ Association for Pet Obesity Prevention (APOP) เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมากพบสุนัขในสหรัฐอเมริกามากกว่า 56% มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรืออ้วน
- โรคอ้วนในสุนัข คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนเกินมากเกินไป โดยนิยามแล้วสุนัขที่จัดว่าเป็นโรคอ้วนต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 15-30 % ของน้ำหนักตัวมาตรฐานของแต่ละพันธุ์
- โรคอ้วนส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมามากมาย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ โรคผิวหนัง โรคเนื้องอกและมะเร็ง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) โรคตับอ่อนอักเสบ มีความเสี่ยงในการวางยาผ่าตัดมากกว่าสุนัขทั่วไป และทำให้มีอายุสั่นลงด้วย
ปัจจุบันสุนัขป่วยเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น ข้อมูลผลสำรวจของ Association for Pet Obesity Prevention (APOP) เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมากพบสุนัขในสหรัฐอเมริกามากกว่า 56% มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรืออ้วน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (ค.ศ.2016) ที่มีสุนัขมีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรืออ้วนอยู่ที่ 54% ซึ่งผลกระทบที่ตามมาจากการที่น้องหมาอ้วนนี้ก็มีอยู่หลายกรณีเลยครับ วันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปดูกันว่า เมื่อน้องหมาอ้วนแล้วจะมีปัญหาอะไรตามมาได้บ้าง
โรคอ้วนในสุนัข คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนเกินมากเกินไป โดยนิยามแล้วสุนัขที่จัดว่าเป็นโรคอ้วนต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 15-30 % ของน้ำหนักตัวมาตรฐานของแต่ละพันธุ์ โดยสุนัขที่อ้วนจะพบว่า มีไขมันหนาสะสมอยู่ตามบริเวณแผ่นหลังและโคนหาง มองไม่เห็นเอว จับหรือคลำกระดูกซี่โครงหรือกระดูกสะโพกไม่พบ สุนัขมีนิสัยกินเก่งมา กินได้ทั้งวัน เดินอุ้ยอ้าย เชื่องช้า เฉื่อยชา ขี้เกียจ ไม่ทนต่อการออกกำลังกายและเหนื่อยง่าย ทำให้เกิดผลกระทบตามมาดังนี้
1 คุณภาพชีวิตลดลง
สุนัขที่อ้วนจะไม่ค่อยสนใจทำกิจกรรมอื่นใด นอกจากกินแล้วก็นอน การเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง อุ้ยอ้าย ไม่ว่องไว สุดท้ายร่างกายก็่อ่อนแอลง เพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ความต้านทานเชื้อโรคก็ลดลง ทำให้โรคภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาได้ง่าย สุนัขที่อ้วนมักจะมีอายุไม่ยืนยาว ส่วนมากจะเสียชีวิตจากโรคร้ายต่าง ๆ ที่จะตามมาได้
2 ไม่ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อน
สุนัขที่อ้วนจะมีไขมันสะสมหนาที่ชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นฉนวนกันในการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย จริงอยู่ที่ว่าสุนัขจะระบายความร้อนผ่านการหอบ หายใจ และผ่านทางรูขุมขนบางส่วนอยู่บริเวณฝ่าเท้า แต่การที่สุนัขอ้วนก็เหมือนการนำสุนัขมาสวมเสื้อผ้าที่หนา ๆ หลายชั้น ทำให้การถ่ายเทความร้อนทำได้ไม่ดีนัก หากสุนัขอยู่ในสถานที่กลางแจ้ง มีแดดแรง หรือมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ก็อาจทำให้สุนัขเสี่ยงโรคภาวะลมแดดได้ง่ายกว่าสุนัขทั่วไป
3 หายใจลำบาก
สุนัขที่อ้วนจะมีไขมันหนาแทรกตามอวัยวะต่าง ๆ ไขมันส่วนเกินนี้จะปกคลุมบริเวณช่องอกหรือแทรกในช่องท้อง ทำให้เวลาที่น้องหมาหายใจเข้าออก การยืดหดของช่องอกทำได้ลำบากยิ่งขึ้น สุนัขจึงต้องใช้ความพยายามในการหายใจมากขึ้นกว่าสุนัขปกติ ในสุนัขอ้วนมีโรคหนึ่งที่เรามักพบได้บ่อยคือ โรคท่อลมตีบแคบ สาเหตุของโรคส่วนหนึ่งมากจากพันธุกรรม และความผิดปกติของตัวท่อลม แต่หากสุนัขตัวนั้นมีร่างกายที่อ้วนขึ้นด้วยแล้ว ก็ยิ่งส่งเสริมให้โรคที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วย
4 มีความเสี่ยงในการวางยาสลบมากขึ้น
ยาสลบส่วนมากจะดูดซึมเข้ากับไขมันได้ดี เนื่องจากยาสลบต้องไปออกฤทธิ์ที่สมอง สมองมีส่วนประกอบเป็นไขมัน ยาสลบนอกจากจะต้องไปออกฤทธิ์ที่สมองแล้ว ยังอาจเข้าไปยังไขมันส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย สุนัขที่อ้วนยาสลบก็จะกระจายไปตามไขมันส่วนอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ กว่ายาสลบจะไปที่สมองจนถึงระดับที่เหนี่ยวนำการสลบได้ ก็ต้องใช้ปริมาณยาสลบที่มาขึ้นกว่าสุนัขทั่วไป เมื่อใช้มากก็ทำให้ฟื้นจากยาสลบได้ยากขึ้น สุนัขจึงมักจะสลบนานขึ้น ส่วนในกรณีที่ใช้การดมยาสลบ สุนัขที่อ้วนก็มีอุปสรรคในการหายใจอยู่แล้ว ปอดยังทำงานได้ไม่ดีอีก ทำให้การรับและขับยาสลบไม่ดีเท่าสุนัขทั่วไป นี่ยังไม่รวมถึงขั้นตอนการผ่าตัด ที่เวลาเปิดผ่าจะต้องเจอไขมันหนาตัวสะสมอยู่ ทำให้เป็นอุปสสรคในการผ่าตัดอย่างมากเช่นกัน
5 มีปัญหาเรื่องการสืบพันธุ์
สุนัขเพศผู้ที่อ้วนจะมีการสร้างสเปิร์มที่แย่ลง เนื่องจากอุณหภูมิในถุงหุ้มอัณฑะซึ่งตามปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกกว่าอุณหภูมิภายในร่างกาย กลับมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะมีไขมันไปสะสมแทรกตามถุงหุ้มอัณฑะ ส่วนสุนัขเพศเมียที่ตั้งท้องก็จะเสี่ยงคลอดยากด้วย เมื่อแม่สุนัขอ้วน โอกาสที่ลูกในท้องจะตัวใหญ่กว่าปกติก็มีความเป็นไปได้ ความอ้วนจึงเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำทำให้สุนัขคลอดยากได้เช่นกัน
6 มีปัญหากระดูกและข้อต่อ
สุนัขที่อ้วนจะมีน้ำหนักตัวมากขึ้น ทำให้เพิ่มแรงกดทับที่กระทำต่อกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ มากขึ้น ในขณะที่ขนาดของกระดูกนั้น ก็ไม่ได้ใหญ่ตามไปด้วย ทำให้โครงสร้างเดิมต้องแบกรับน้ำหนักที่มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ผลทีตามมาก็คือ ความเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อสะโพก ข้อศอก ข้อเข่า กระดูกสันหลัง หรือเกิดเอ็นไขว้บริเวณข้อเข่าฉีกขาดได้ง่าย ซึ่งสุนัขบางรายที่กระโดดจากที่สูง แม้จะไม่สูงมากนัก ก็อาจทำให้กระดูกเกิดการเคลื่อน ร้าว หรือหักได้จากแรงกระแทก
7 มีปัญหาโรคระบบต่อมไร้ท่อ
โรคทางระบบต่อมไร้ท่อที่ตามมาในสุนัขอ้วนมีด้วยกันอยู่หลายโรค หนึ่งในนั้นคือ โรคเบาหวาน สุนัขบางตัวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นเกิดจากการต้านการทำงานของอินซูลินทีร่างกายผลิตออกมา (Insulin resistance) อันมีสาเหตุโน้มนำมาจากโรคอ้วนที่สุนัขเป็น นอกจากนี้สุนัขที่อ้วนยังทำให้การหลั่ง growth hormone ผิดปกติ และมีระดับการหลั่งฮอร์โมน adrenocortical สูงขึ้นด้วย
8 เกิดโรคผิวหนัง
สุนัขที่อ้วนจะเกิดการหมักหมมความสกปรกได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณรอยยับย่นของผิวหนัง ตามปกติสุนัขทั่วไปก็จะมีวิธีทำความสะอาดร่างกายตามธรรมชาติ เช่น อาจจะเอี่ยวตัวไปเลียยังบริเวณต่าง ๆ เพื่อทำความสะอาดตัว แต่เมื่อสุนัขอ้วนการทำเช่นนี้จะไม่สามารถทำได้ จึงเกิดการหมักหมมจนกลายเป็นโรคผิวหนังที่ตามมาได้
เพื่อน ๆ คงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ความอ้วนไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแค่โรคอ้วนเท่านั้น ยังมีโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมายเลยทีเดียว เฉพาะฉะนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนมองว่า การที่น้องหมาอ้วนเป็นเรื่องน่ารัก และอย่าทำให้ความอ้วนในสุนัขเป็นเรื่องที่ธรรมดาอีกต่อไป หากบ้านไหนที่มีสุนัขอ้วนอยู่ ก็ต้องเริ่มต้นที่จะลดน้ำหนักให้สุนัขอย่างจริง ๆจัง ๆ กันได้แล้วนะครับ เพื่อให้สุนัขมีชิวิตอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน เพื่อนคนไหนที่สนใจเรื่องการลดน้ำหนักในสุนัข สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง นี้ครับ
บทความโดย: หมอต้น น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก:
http://www.vet.cmu.ac.th/cmvj/document/journal/08%20Areerat.pdf
https://petobesityprevention.org/
https://www.dogilike.com/content/vettalk/1754/
รูปภาพประกอบ:
https://files.brief.vet/migration/article/45316/did_nutional-assessment-in-a-dof-with-osteoarthritis-obesity-45316-article.png
https://phz8.petinsurance.com/-/media/all-phz-images/2016-images-850/pet-obesity850.jpg
https://www.petfoodindustry.com/ext/resources/Images-by-month-year/17_04/Obese-pet-1705PETobesity.jpg
http://trimauxil.com/wp-content/uploads/2016/05/measuring-fat-dog.jpg
SHARES