โดย: Tonvet

ระวัง!! สุนัขปัสสาวะมากสัญญาณเตือนโรคเบาจืด

มาทำความรุ้จักกับโรคเบาจืด โรคที่เป็นแล้วทำให้ฉี่มากจนตัวเบา(จืด)

3 ตุลาคม 2561 · · อ่าน (7,569)
123

SHARES


123 shares
  • โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus) เป็นโรคที่ทำให้น้องหมาจะฉี่ออกมาปริมาณมากกว่าปกติ
 
  • เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่สมองหรือไต ส่งผลต่อการหลั่งและการตอบสนองต่อฮอร์โมนวาโสเพรสซิน (vasopressin)
 
  • สามารถทราบได้ด้วยการทดสอบที่เรียกว่า การตรวจสอบการอดน้ำ (water deprivation test) แล้ววัดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดจนความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ร่วมกับการวัดปริมาณของฮอร์โมนวาโซเพรสซินในกระแสเลือดด้วย
 
  • สุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาจืด เจ้าของจะต้องจัดการเรื่องน้ำดื่มให้เพียงพอ เพราะสุนัขจะต้องการน้ำมากกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ


 

Dogilike.com :: ระวัง!! สุนัขปัสสาวะมากสัญญาณเตือนโรคเบาจืด


 

     เบาจืด เป็นอีกโรคที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหู ส่วนมากจะเคยได้ยินแต่ชื่อโรคเบาหวาน แต่ทั้งสองโรคนี้เป็นคนละโรคกันนะครับ เพียงแต่ตั้งชื้อให้พ้องกันเฉย ๆ เพราะโรคเบาหวานจะเกี่ยวข้องกับน้ำตาลในปัสสาวะ (ฉี่หวาน) ส่วนโรคเบาจืดจะไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ (ฉี่จืด) ก็เลยได้ชื่อว่า โรคเบาจืด ซึ่งน้องหมาก็สามารถเป็นโรคเบาจืดได้เช่นกัน วันนี้เลยจะขอพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันครับ
 
 
 

รู้จักโรคเบาจืดในสุนัข

 
 
     โรคเบาจืด หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Diabetes insipidus หรือ DI เป็นโรคที่ทำให้น้องหมาฉี่ออกมาปริมาณมากกว่าปกติ เจ้าของจะสังเกตเห็นว่าน้องหมาที่ป่วยจะฉี่บ่อย ๆ ฉี่มากวันละหลายรอบ สุนัขที่ป่วยเมื่อมีการฉี่ออกไปมาก ก็ทำให้สุนัขต้องกินน้ำจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย โรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่สมองและความผิดปกติที่ไต ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายได้ ปัสสาวะจึงเจือจางมาก เรียกว่าว่าจืดเหมือนน้ำเลย (แต่ไม่แนะนำให้ชิมนะครับ)
 
     ตามปกติสมองจะมีการหลั่งฮอร์โมนตัวหนึ่งมีชื่อว่า วาโสเพรสซิน (vasopressin)  หรืออีกชื่อหนึ่งเราเรียกว่า ADH (Antidiuretic hormone) ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของไต ช่วยในการดูดกลับน้ำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ให้ร่างกายนั้นขาดน้ำ ไม่เช่นนั้นก็จะปัสสาวะออกมาหมด หน้าที่ของเจ้าฮอร์โมนนี้จะควบคุมปัสสาวะให้กับน้องหมาด้วย แต่สำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาจืด ร่างกายจะมีปัญหาในการผลิตและการใช้งานของฮอร์โมนวาโสเพรสซิน เลยทำให้สมดุลร่างกายเสียไป เมื่อเลือดผ่านไปไตแล้วขับออกมาเป็นปัสสาวะหมด ไม่มีการดูดน้ำกลับไปใช้ประโยชน์เลย ปัสสาวะจึงเจือจางเต็มไปด้วยน้ำ 

 
Dogilike.com :: ระวัง!! สุนัขปัสสาวะมากสัญญาณเตือนโรคเบาจืด

 
     ซึ่งโรคเบาจืดยังแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท อย่างประเภทที่ 1 เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองเราเรียกว่า Central diabetes insipidus (CDI) ทำให้สมองผลิตฮอร์โมนวาโสเพรสซินออกมาน้อย ส่วนประเภทที่ 2 นั้น เกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่ไต คือ สมองยังคงผลิตฮอร์โมนวาโซเพลสซินออกได้ตามปกติ แต่ว่าไตกลับไม่สามารถตอบสนองต่อการทำงานของฮอรโมนดังกล่าวได้ ประเภทนี้เราเรียกว่า Nephrogenic diabetes insipidus (NDI) ซึ่งอาจจะเป็นอย่างที่เกิดความผิดปกติที่ตัวของไตเอง (Primary NDI) มักพบได้แต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีรายงานถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ กับอีกอย่างคือ การได้รับยาบางชนิดหรือป่วยเป็นโรคอื่น ๆ มาก่อน แล้วมาส่งผลต่อการทำงานของไต (Secondary NDI) 
 
 
 

การทดสอบหาโรคเบาจืด


 
     เนื่องจากโรคเบาจืดมีหลายประเภท การทดสอบโรคนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นก่อนที่จะทดสอบโรค จะต้องตรวจหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่ต้องสงสัยออกไปก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้เป็นโรคเหล่านั้นอยู่ เช่น ตรวจเลือดดูเม็ดเลือดและค่าเคมีในเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจ Magnetic resonance imaging (MRI) เพื่อดูความผิดปกติที่สมอง โดยเฉพาะโรคที่ทำให้สุนัขมีอาการกินน้ำมากและปัสสาวะมาก เช่น โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น เพื่อน ๆ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในบทความ 4 ปัญหาพบบ่อยในน้องหมาที่กินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกติ

     เราต้องทำการตรวจคัดกรองโรคก่อน  เพราะสุนัขที่กำลังมีภาวะการขาดน้ำ มีภาวะยูเรียในเลือดสูง หรือเป็นโรคมดลูกอักเสบ เหล่านี้จะไม่เหมาะสมที่จะมาทำการทดสอบหาโรคเบาจืด แต่ถ้าไม่ได้เป็นโรคดังกล่าวแล้ว เราก็ค่อยมาตรวจหาโรคเบาจืดกันต่อ โดยเราจะนำสุนัขมาทดสอบหาสาเหตุของโรคเบาจืด เรียกว่า การตรวจสอบการอดน้ำ (water deprivation test) เป็นการทดสอบที่ต้องทำการอดน้ำสุนัข แล้ววัดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว ปริมาณปัสสาวะ ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ รวมถึงส่วนประกอบของปัสสาวะด้วย และอาจต้องทำการวัดปริมาณของฮอร์โมนวาโซเพรสซินในกระแสเลือดด้วย

 
Dogilike.com :: ระวัง!! สุนัขปัสสาวะมากสัญญาณเตือนโรคเบาจืด
 


 
      สำหรับขั้นตอนคร่าว ๆ ในการทดสอบนั้น คุณหมอจะแนะนำให้เจ้าของค่อย ๆ อดน้ำสุนัข เจ้าของจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวด โดยลดปริมาณน้ำที่กินอย่างน้อย  3 วันก่อนเริ่มทำการทดสอบจริง รวมทั้งให้กินอาหารแบบแห้งแทนด้วย เพื่อเป็นการลดการได้รับน้ำ เจ้าของจะต้องชั่งน้ำหนักตัวสุนัขทุกวันเพื่อดูการเปลี่ยน และหมั่นสังเกตอาการสุนัขอย่างใกล้ชิดด้วย ถ้าหากมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น จะต้องรีบแจ้งสัตวแพทย์โดยทันที



     เมื่อผ่านขั้นตอนแรกแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการอดน้ำทันที เพื่อดูการตอบสนองของฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ขั้นตอนนี้จะต้องนำสุนัขมาที่โรงพยาบาลสัตว์ เพื่อติดตามวัดความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ และขั้นตอนสุดท้ายคือ ขั้นตอนการดูการตอบสนองหลังจากมีการอดน้ำและได้ทำการฉีดเดสโมเพรสซินเข้าไปทดสอบ ขั้นตอนนี้ก็จะยังคงมีการเก็บปัสสาวะมาตรวจหาค่าความถ่วงจำเพาะเช่นเคย เมื่อจบทุกขั้นตอนแล้ว คุณหมอจะนำผลการทดสอบมาแปลผล เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นโรคเบาจืดหรือไม่ สำหรับการทดสอบนี้ค่อนข้างอันตรายหากสุนัขเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น จากการขาดน้ำที่มากเกินไป และจากการที่สมองเกิดการบวมน้ำ เมื่อหากสุนัขได้รับน้ำกลับเร็วเกินไปหลังสิ้นสุดการทดสอบ ดังนั้นจึงต้องอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
 
 
 

การดูแลรักษาสุนัขป่วยโรคเบาจืด

 
 
     สุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาจืด เจ้าของจะต้องจัดการเรื่องน้ำดื่มให้เพียงพอ เพราะสุนัขจะต้องการกืนน้ำมากกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะส่งผลต่อร่างกายและสมอง จนอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ ดังนั้นไม่ควรให้สุนัขขาดน้ำเลยเป็นอันขาด ควรตั้งน้ำสะอาดไว้หลาย ๆ จุด ให้สุนัขได้กินอย่างเพียงพอ สำหรับสุนัขที่ป่วยโรคเบาจืดที่มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมองที่ขาดฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (CDI) จะมีการรักษาโดยเสริมฮอร์โมนดังกล่าวให้ มีทั้งกิน ฉีด หรือหยอดจมูก โรคเบาจืดประเภทนี้ เมื่อสุนัขเป็นแล้วจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต แต่การพยากรณ์โรคมักจะดีเมื่อได้รับการเสริมฮอร์โมนให้ หากเกิดจากการบาดเจ็บแล้วกระตุ้นให้เกิดโรค CDI ขึ้น พวกนี้มีโอกาสขาดขาดได้ แต่ถ้าหากเป็นโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของมะเร็งในสมอง แบบนี้การพยากรณ์โรคมักจะไม่ดีนักนะครับ

 
Dogilike.com :: ระวัง!! สุนัขปัสสาวะมากสัญญาณเตือนโรคเบาจืด


     โรคเบาจืดก็เป็นอีกโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัข แม้จะพบได้ไม่บ่อยนักก็ตาม สัญญาณที่บ่งบอกสำคัญเลยก็คือ สุนัขมักจะกินน้ำมากและปัสสาวะมาก ดังนั้นเจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการพวกนี้ด้วย ไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะถ้าเราทราบปัญหาได้เร็ว ก็สามารถจัดการแก้ไขปัญหาไปอย่างทันท่วงทีครับ




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/


รูปภาพประกอบ:
https://cdn-www.terminix.com/cs/smcblog/how-to-get-dog-or-cat-urine-smell-out-of-hardwood-floors/how-to-get-dog-or-cat-urine-smell-out-of-hardwood.jpg
http://www.labpedia.net/static/media/uploads/ADH-1.JPG
https://www.petmd.com/sites/default/files/4803356259_1816fc9d10.jpg
https://slideplayer.com/slide/8661526/26/images/46/Water+deprivation+test.jpg