โดย: Tonvet

เตรียมรับมือ!! โรคน้องหมาที่มากับหน้าหนาว

ฤดูหนาวมีปัญหาสุขภาพอะไรที่เจ้าของจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือให้กับสุนัขบ้าง

31 ตุลาคม 2561 · · อ่าน (8,392)
597

SHARES


597 shares
  • โรคของสุนัขที่มักพบในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหวัด ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ รวมถึงโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ 
 
  • โรคหวัด หรือ โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในลูกสุนัขและสุนัขที่มีร่างกายอ่อนแอ
 
  • ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (Hypothermia) ในสุนัข หมายถึง การที่อุณหภูมิในร่างกายของน้องหมาต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ ปกติน้องหมามีอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ที่ 101-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ หากน้องหมามีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 96 องศาฟาเรนไฮต์ ก็จะแสดงความผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้ 
 
  • ในฤดูหนาวสุนัขที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ลูกสุนัข สุนัขแก่ สุนัขที่มีโรคประจำตัว ฯลฯ เพราะจะเสี่ยงป่วยได้ง่าย

 

Dogilike.com :: เตรียมรับมือ!! โรคน้องหมาที่มากับหน้าหนาว



     ตอนนี้ประเทศไทยก็เข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้วตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงแม้ว่าสภาพอากาศจริง ๆ จะยังคงร้อนถึงร้อนมากอยู่ก็ตาม แต่หากใครที่ตื่นเช้า ๆ ก็คงได้สัมผัสกับความเย็นลงอยู่บ้าง ดังนั้นเราจึงควรต้องเริ่มต้นเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับหน้าหนาวที่กำลังจะมา เพราะดูทีท่าง่าอากาศคงจะเย็นลงเรื่อย ๆ ในอีกไม่ช้านี้ สำหรับคนเลี้ยงสุนัขปัญหาหนึ่งที่เป็นกังวล ก็คือเรื่องของสุขภาพของน้องหมา ที่มักจะพบว่าป่วยได้ง่ายขึ้นในช่วงหน้าหนาวเช่นนี้ ยิ่งหากเป็นสุนัขกลุ่มเสี่ยง เช่น ลูกสุนัข สุนัขแก่ สุนัขที่มีโรคประจำตัว ฯลฯ ที่มีร่างกายอ่อนแอ เจ้าของจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะสุนัขกลุ่มนี้จะเสี่ยงป่วยได้ง่าย เรามาดูกันครับว่า โรคน้องหมาที่มากับหน้าหนาวนั้นมีอะไรที่ต้องระมัดระวังกันบ้าง

 

โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (โรคหวัด)



     โรคหวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ส่วนมากที่พบจะเป็นพวกเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งในฤดูหนาวมีอากาศที่แห้ง ร่างกายจะสูญเสียความชุ่มชื้นไป โดยตามปกติระบบร่างกายจะมีการปกป้องเชื้อโรคตามธรรมชาติ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทางเดินหายใจที่ขาดความชุ่นชื้น จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ยิ่งหากสุนัขมีสุขภาพที่อ่อนแอร่วมด้วยแล้ว ก็จะทำให้ป่วยเป็นหวัดตามมาได้ นอกจากกลุ่มลูกสุนัข สุนัขแก่ และสุนัขที่ร่างกายอ่อนแอมีโรคประจำตัว ที่เสี่ยงป่วยเป็นหวัดได้ง่ายแล้ว ยังมีกลุ่มสุนัขพันธุ์หน้าสั้น สุนัขที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วนด้วย ที่เจ้าของต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ   

     ระบบทางเดินหายใจของสุนัขนั้น จะมีกลไกป้องกันเชื้อโรคที่เข้ามาอยู่แล้วครับ โดยการอาศัย cilia และ mucus ที่อยู่ตามทางเดินหายใจและหลอดลม ทำหน้าที่คอยพัดโบกขับเอาเชื้อออกมา เราเรียกกลไกนี้ว่า Mucociliary clearance (MCC) เมื่อใดที่ร่างกายเกิดความเครียด อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง หรือมีการติดเชื้อไวรัส จะทำให้ cilia หยุดทำงาน เชื้อก็จะสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย น้องหมาที่ได้รับเชื้อ ก็จะแสดงอาการป่วยหลังจากสัมผัสเชื้อไปแล้วประมาณ 3-10 วัน สำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นหวัด ก็จะมีน้ำมูก มีขี้ตา ตาแดงและอักเสบ มีอาการไอ บางตัวอาจจะไอแบบมีเสมหะ ก็จะทำท่าทางขากเสลด คล้ายกับจะอาเจียน ส่วนใหญ่น้องหมาจะยังคงซน ร่าเริงดี กินอาหารได้ แต่สำหรับบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ปอดบวม หายใจลำบากได้


Dogilike.com :: เตรียมรับมือ!! โรคน้องหมาที่มากับหน้าหนาว


     การรักษานั้น ถ้าเป็นไม่รุนแรง ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะสามารถหายป่วยได้เองภายใน 7-10 วัน ช่วงนี้ต้องให้น้องหมาได้พักผ่อนเต็มที่ ให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรให้น้องหมาอยู่ในที่ที่อบอุ่น ไม่ควรให้นอนบนพื้นที่เย็นและชื้น ห้ามเปิดพัดลมโกรกหรือนอนตากแอร์ อาจหาเสื้อมาสวมให้ก็ได้ หากมีเสมหะมากเจ้าของอาจช่วยน้องหมาทำการ "ตบอก (Coupage)" โดยทำฝ่ามือโค้งเป็นรูปถ้วย ตบลงบริเวณซี่โครงช่วงอกด้วยแรงที่พอเหมาะ ไล่จากส่วนท้ายไปต้น คล้ายการตีกลองด้วยมือ เพื่อให้น้องหมาได้ไอแล้วขับเสมหะออกมา ควรทำวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที หรืออาจจะพาเดินเล่นเพื่อกระตุ้นให้ไอก็ได้ครับ หากมีอาการมากขึ้นคุณหมออาจจะฉีดยาและให้ยามาป้อนทีบ้าน นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีการพ่นยา (Aerosol therapy, Nebulization) ด้วยละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กคล้ายควันเพื่อให้น้องหมาสูดดมเข้าไป  ในการพ่นยาแต่ละครั้งจะใช้เวลา 20-30 นาที วันละ 1-4 ครั้ง โดยพ่นอย่างน้อย 3 วันติดต่อกัน ข้อดีของวิธีพ่นยา คือ ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรงเลยครับ


 

ภาวะอุณภูมิร่างกายต่ำ


ิ     สุนัขแต่ละตัวมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศหนาวได้ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นลูกสุนัขที่จะมีอุณหภูมิของร่างกายต่ำกว่าสุนัขทั่วไปอยู่แล้ว อีกทั้งระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังไม่ดีเท่ากับในสุนัขโต ลูกสุนัขมักสูญเสียความร้อนไปกับการระเหยความร้อนออกไป การหายใจ การสัมผัสที่เย็น ๆ หรือแม้แต่การที่ลำไส้ไม่ทำงาน จึงไม่มีการเผาผลาญพลังงานได้ความร้อนออกมา ยิ่งหากอยู่ในสภาพอากาศหนาว ก็จะเสี่ยงทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำได้ง่ายขึ้น ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ (Hypothermia) ในสุนัข หมายถึง การที่อุณหภูมิในร่างกายของน้องหมาต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ร่างกายของน้องหมาสูญเสียความร้อนออกไป เช่น อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่หนาวเย็นจัด หรือเกิดจากความเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายทำงานผิดปกติ  ตลอดจนการได้รับยาบางชนิดที่มีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เช่น การวางยาสลบขณะทำการผ่าตัด ซึ่งยาสลบจะไปกดการทำงานของ hypothalamic thermoregulary center ของร่างกาย จึงทำให้อุณภูมิร่างกายต่ำลงได้

       น้องหมาที่กำลังเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ จะนอนขดตัว มีอาการสั่น ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายไปไหน บางรายอาจมีเหงือกซีดลงหรือม่วงคล้ำได้ หากเราปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำกว่า 90 องศาฟาเรนไฮต์ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะเริ่มล้มเหลว เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิในร่างกายต่ำ จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และเต้นผิดจังหวะ อัตราการหายใจลดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ถุงลมปอดลดลง ส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxia) และมีภาวะเลือดเป็นกรด (Respiratory acidosis) เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาท เริ่มตั้งแต่อาการซึมเศร้าไปจนกระทั่งโคมา (coma) จนเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้ครับ
 

Dogilike.com :: เตรียมรับมือ!! โรคน้องหมาที่มากับหน้าหนาว


     เมื่อพบว่าน้องหมาเกิดภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ เราสามารถช่วยเหลือสุนัขในเบื้องต้นได้ โดยให้รีบย้ายน้องหมามายังที่อบอุ่น ถ้าน้องหมาตัวชื้นหรือเปียกน้ำให้รีบทำการเช็ดตัวและเป่าขนให้แห้ง ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายน้องหมา โดยอาจจะหาผ้าหนา ๆ มาห่มตัวไว้ บางตัวอุณหภูมิร่างกายต่ำไม่มาก ใช้แค่ 2 วิธีนี้ก็ได้ผล แต่หากไม่ได้ผลอาจใช้ร่วมกับการใช้ถุงน้ำอุ่นหรือขวดน้ำอุ่นที่ห่อผ้าขนหนู (เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของผิวหนังจากความร้อน) มาประคบตามบริเวณอก ท้อง รักแร้ ขาหนีบ หรือทำการเปิดไฟกก ซึ่งเราควรค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิให้น้องหมาอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปจนกว่าอุณหภูมิจะกลับมาคงที่ตามปกติ (อุณหภูมิร่างกายปกติจะอยู่ที่ 101-102.5 องศาฟาเรนไฮต์) แต่ถ้าไม่พบการตอบสนองเลยภายใน 30-60 นาที และอุณหภูมิในร่างกายน้องหมาต่ำกว่า 96 องฟาเรนไฮต์ ควรพาน้องหมามาพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไปครับ


 

แนวทางดูแลน้องหมาในช่วงหน้าหนาว

    
     

     ถ้าเป็นไปได้ควรหาที่อบอุ่นให้สุนัขอยู่เพื่อป้องกันลมหนาว หากเป็นน้องหมาขนสั้น น้องหมาพันธุ์เล็ก เจ้าของอาจหาเสื้อมาใส่ให้ด้วยก็ได้ หากเป็นลูกสุนัขแรกคลอดควรเปิดไฟกกเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย อย่าลืมชวนน้องหมาวิ่งออกกำลังกายบ้าง การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเมตาบอลิซึม และยังช่วยสร้างความร้อนให้กับร่างกายไปในตัวด้วย ไม่ควรอาบน้ำสุนัขบ่อยจนเกินความจำเป็น หากอาบน้ำให้ควรใช้น้ำอุ่น และควรรีบเช็ดตัวหรือเป่าขนให้แห้งโดยทันที หลีกเลี่ยงการพาสุนัขไปในสถานที่เป็นแหล่งรวมของสุนัข เพราะอาจได้รับเชื้อโรคติดต่อ ได้ง่าย นอกจากโรคทางระบบทางเดินหายใจแล้ว โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้วย เพราะสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นในหน้านี้ สำหรับสุนัขที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ควรพาไปฉีดให้ครบถ้วนตามนัด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้พร้อม เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขแก่ ลูกสุนัข  สุนัขที่มีปัญหาโรคประจำตัวอยู่แล้ว จะต้องเฝ้าระวังและให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ



     ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปมีเรื่องที่ต้องกังวลใจทุกที แต่ไม่ต้องห่วง เพราะเราสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะครับ รับรองว่าน้องหมาของเพื่อน ๆ จะมีสุขภาพที่ดีและผ่านช่วงฤดูหนาวของปีนี้ไปได้อย่างสบายแน่นอน ขอแค่เราทุกคนเตรียมพร้อมรับมือเท่านั้นพอ 



 

     บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com 
http://family.dogilike.com/tonvet/

 
รูปภาพประกอบ:
https://outwardhound.com/buzzwoof/wp-content/uploads/2017/12/too-cold-for-dog-1.jpg
https://iheartdogs.com/wp-content/uploads/2017/05/pug-1210025_1920.jpg
http://1.bp.blogspot.com/-cfLIEEZ2GZ0/VK3SFsxzlvI/AAAAAAAADWM/rFRxfPUZuNw/s1600/hypothermia%2Bpic.jpg