โดย: Tonvet
สุนัขแบบไหนเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตวาย
เรียนรู้ปัจจัยเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมกับมือกับโรคไตวาย เพื่อไม่ให้สุนัขต้องตายไว
9 มกราคม 2562 · · อ่าน (10,269)
-
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุนัขป่วยเป็นโรคไตวาย ได้แก่ พันธุ์ อายุ อาหาร ยา และโรคที่เป็นอยู่
- อาหารที่มีโปรตีนสูงจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของโรคไตวายเรื้อรังได้
- การที่เราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ช่วยป้องกันหรือช่วยชะลอการพัฒนาของโรคไตวายเรื้อรังไม่ให้ถึงระยะสุดท้ายเร็วขึ้น
โรคไต เป็นถือเป็นโรคหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้สุนัขเสียชีวิตจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สามารถพบเจอได้ทุกช่วงอายุ โดยจะพบอุบัติการณ์สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคไตวายสูงขึ้นเมื่อสุนัขมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรังในสุนัข พบว่าสุนัข 0.5-1% จะป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งส่วนมากจะพบได้ในสุนัขที่มีอายุมาก และโรคก็มักจะพัฒนาไปตามอายุ เนื่องจากการสูญเสียการทำหน้าที่ของหน่วยไต สำหรับการเกิดโรคไตในสุนัขนั้น ก็มีปัจจัยหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด รวมถึงสาเหตุความผิดปกติแต่กำเนิดเช่นกัน วันนี้เรามาดูกันครับว่าปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้สุนัขป่วยเป็นโรคนี้
1 พันธุ์ของสุนัข
สุนัขบางพันธุ์จะมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ จากการเก็บข้อมูลสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็พบว่า ในสุนัขพันธุ์ Shar Pei, Bull Terrier, English Cocker Spaniel, Cavalier King Charles Spaniel, West Highland White Terrier และ Boxer มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ นอกจากนี้บางรายงานยังกล่าวถึงสุนัขพันธุ์ Samoyed, German Shepherd และ Bull Terrier ด้วย
2 อายุของสุนัข
สุนัขนั้นสามารถป่วยเป็นโรคไตวายได้ทุกช่วงวัย สำหรับในสุนัขวัยเด็กอายุ 0-7 ปี พบได้ประมาณ 0.3% ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคทางพันธุกรรมหรือมีอวัยวะพิการมาแต่กำเนิด (congenital disorders) เช่น โรค polycystic kidney disease, renal dysplasia เป็นต้น โดยสุนัขที่มีอายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคไตวายมากขึ้น พบว่าสุนัขที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป พบได้ประมาณ 2.9% เลยทีเดียว ทั้งนี้สุนัขอาจป่วยเป็นโรคบางอย่างแล้วพัฒนาให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังตามมาได้ด้วยเช่นกัน
3 อาหาร
ส่วนประกอบบางอย่างในอาหารมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาในเกิดโรคไตวายได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูงจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของโรคไตวายเรื้อรังได้ แต่การกินเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูงยังไม่มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคไตเรื้อรัง หากแต่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น
4 ยาบางชนิด
การที่สัตว์ได้รับยาบางชนิดในปริมาณที่ไม่เหมาะสมหรือได้รับต่อเนื่องยาวนาน มีผลต่อการพัฒนาของโรคไตวายเรื้อรังในสุนัขได้ ยาเหล่านั้นก็ ได้แก่ aminoglycosides, sulfonamides, polymyxins, amphotericin พวกยาขับปัสสาวะ และเคมีบำบัดอื่น ๆ
5 โรคและความผิดปกติของร่างกาย
โรคและความผิดปกติของร่างกายบางอย่าง ทำให้เกิดการพัฒนาของโรคไตวายได้ เช่น โรคหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคพยาธิในเม็ดเลือด โรคฉี่หนู โรคมดลูกอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคมะเร็ง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และความเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันที่ส่งผลต่อการทำงานของไตด้วย เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินที่ทำให้เกิดกลุ่มก้อนภูมิคุ้มกัน (immune complex) ไปอุดตันของหลอดเลือดฝอยที่ไต ก็ทำให้เกิดโรคไตตามมาได้เช่นกัน
การที่เราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ช่วยป้องกันหรือช่วยชะลอการพัฒนาของโรคไตวายเรื้อรังไม่ให้ถึงระยะสุดท้ายเร็วขึ้น สุนัขที่ป่วยเป็นโรคไตวายนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างทำให้การทำงานของไตค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่สุนัขป่วยมาก่อน ก็อาจโน้มนำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังตามมาได้ การลดปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยเลี่ยงหรือชะลอผลลัพท์ที่จะเกิดตามมาได้ในอนาคต
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.iris-kidney.com/education/risk_factors.html
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23647231
http://www.iris-kidney.com/education/risk_factors.html
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23647231
รูปภาพประกอบ:
http://www.pethealthnetwork.com/sites/default/files/content/images/chronic-kidney-disease-what-does-kidney-failure-dogs-really-fb-104680532.jpg
https://petscaretip.com/wp-content/uploads/2018/01/map_img_979631_1486771509.jpg
https://www.petmd.com/sites/default/files/golden-retriever-dog-shutterstock_2163434_0.jpg
https://img.huffingtonpost.com/asset/585be1aa1600002400bdf2a6.jpeg?ops=scalefit_970_noupscale
https://hellodoktor.com/wp-content/uploads/2017/05/5-Most-Common-Drugs-in-Malaysia-and-Their-Effects-on-the-Body-healthy-living-helldoktor-health-tips.jpg
https://www.vippetcare.com/wp-content/uploads/2018/01/Screen-Shot-2018-01-25-at-9.23.40-AM.png
SHARES