โดย: Tonvet

เจ้าของต้องรู้! ... วิธีรับมือโรคท่อลมตีบในสุนัข

มาทำความรู้จับกับโรคท่อลมตีบหรือหลอดลมตีบในสุนัข พร้อมวิธีรับมือกันครับ

20 กุมภาพันธ์ 2562 · · อ่าน (53,818)
242

SHARES


242 shares

 

  • โรคท่อลมตีบ หรือที่คนส่วนมากมักจะเรียกว่า โรคหลอดลมตีบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตราฐานหรืออ้วน
 
  • เกิดจากความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกอ่อนของท่อลมลดลง กล้ามเนื้อของท่อลมเป็นอัมพาต มีก้อนเนื้อภายนอกท่อลมมาเบียดท่อลมให้แคบลง หรือมีไขมันไปเบียดหลอดลมทำให้ตีบในที่สุนัขอ้วนมาก ๆ
 
  • ในสุนัขที่เป็นโรคท่อลมตีบ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาทางยา ไม่ว่าจะเป็นการป้อนยา ฉีดยา หรือพ่นยา หากเป็นรุนแรงอาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมด้วย

 





     โรคท่อลมตีบ หรือที่คนส่วนมากมักจะเรียกว่า โรคหลอดลมตีบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตราฐานหรืออ้วน น้องหมาที่ป่วยมักจะมีอาการไออยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาที่เห่ามาก ๆ ตื่นเต้น หรือหลังการออกกำลังกายหนัก ๆ เวลาที่ไอแต่ละทีก็มักจะมีเสียงที่ดังก้องกังวาน คล้ายกับเสียงห่านร้อง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคนี้ บางรายท่อลมตีบมาก ๆ ก็อาจถึงขั้นหายใจลำบากเลยทีเดียว 

 
 
 
 

สาเหตุของโรคท่อลมตีบ

 
     ท่อลมหรือหลอดลม (Trachea)  เป็นอวัยวะเชื่อมต่อจากคอหอยไปถึงปอดคล้ายท่อ แต่ท่อลมนี้จะมีโครงสร้างเป็นส่วนแข็งที่เรียกว่า กระดูกอ่อน (cartilage rings) รูปตัว C (ซี) ครึ่งหนึ่ง กับส่วนอ่อนที่เป็นกล้ามเนื้อ tracheal muscle อีกครึ่งหนึ่ง พอโครงสร้างที่เป็นส่วนแข็งเกิดอ่อนตัวลง ทำให้ผิดรูปไป ส่งผลให้ส่วนอ่อนที่เป็นกล้ามเนื้อเรียบยุบตัวลงมาปิดกั้นทางไหลผ่านของลม ท่อลมก็เลยตีบแคบตามมาได้ สาเหตุนอกจากจะเกิดจากความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกอ่อนของท่อลมลดลง ขาดการสะสมของสารพวกไกลโคอะมิโนไกลเคน กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต แคลเซียม ฯลฯ แล้ว อาจมาจากสาเหตุอื่นๆ อย่างเช่น กล้ามเนื้อของท่อลมเป็นอัมพาต หรือมีก้อนเนื้อภายนอกท่อลมมาเบียดทำให้ท่อลมตีบแคบลงก็ได้ ในสุนัขที่อ้วนความจุช่องอกลดลง มีไขมันไปเบียดหลอดลมทำให้ตีบได้เช่นกันครับ 
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้! ... วิธีรับมือโรคท่อลมตีบในสุนัข
 


 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมาเป็นโรคท่อลมตีบ

 
     อย่างที่บอกไปว่า อาการไอของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคท่อลมตีบมีลักษณะที่เฉพาะ เวลาตรวจคุณหมอจะดูจากประวัติและอาการ ซึ่งค่อนข้างเด่นมากในโรคนี้ คือ การไอแบบเรื้อรังและมีเสียงดังกังวาน คล้ายกับเสียงห่านร้อง เพราะว่าลมหายใจไหลผ่านท่อลมที่แคบลงจนเกิดเสียงหายใจที่ผิดปกติขึ้น หากคลำตรวจท่อลมและลองกระตุ้นให้สุนัขไอ ก็จะพบว่าไอได้ง่ายขึ้น แต่เราจะทำการตรวจยืนยันด้วยอีกทีการถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) โดยจะถ่ายทั้งในช่วงหายใจเข้าและหายใจออกเพื่อเทียบกัน หากสถานพยาบาลไหนมีกล้องส่อง Endoscope ก็สามารถวางยาสลบแล้วทำ Tracheobronchoscopy เข้าไปส่องดูว่าท่อลมตีบหรือไม่ ตีบตรงไหน ตีบอย่างไร และยังใช้แบ่งเกรดความรุนแรงของโรคได้ด้วย แต่วิธีการตรวจที่ดี ซึ่งไม่ต้องวางยาให้เสี่ยงและสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของท่อลมได้ด้วย คือการทำ Fluoroscopy ซึ่งจะเห็นการเคลื่อนไหวของท่อลม หากตีบก็สามารถเห็นได้เลยครับ
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้! ... วิธีรับมือโรคท่อลมตีบในสุนัข


 
 

วิธีรับมือกับโรคท่อลมตีบ

 
     ในสุนัขที่เป็นโรคท่อลมตีบ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาทางยา ไม่ว่าจะเป็นการป้อนยา ฉีดยา หรือพ่นยา กรณีที่ไอแห้ง ๆ (ไอแบบไม่มีเสมหะ) ไอรุนแรงบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อลมอักเสบ ก็อาจต้องได้รับยาแก้ไอไปก่อน แต่มักจะไม่ค่อยได้ผลในรายที่หายใจลำบากแล้ว หากสุนัขไอแบบมีเสมหะ (มักจะทำท่าทางขากเสมหะหลังจากไอ) ก็ต้องได้รับยาละลายเสมหะแทน เพราะการไอเรื้อรังตลอดเวลาจะมีการผลิตสารเมือกมาเคลือบภายในท่อลมมากขึ้น อีกทั้งความสามารถในการขจัดเมือกของท่อลมยังลดลงอีกด้วย ทำให้มีเสมหะมาก อีกมีเสมหะมากยิ่งทำให้หายใจลำบากตามมาได้   
 
     สำหรับรายที่มีอาการไอแบบรุนแรงหนัก ๆ จนท่อลมเกิดการอักเสบ อาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการระคายเคืองและการอักเสบของท่อลมจากการไอเรื้อรัง โดยจะให้ในระยะแรก ๆ และมีอาการไอแบบรุนแรงหนัก ๆ เท่านั้น ในส่วนของยาขยายหลอดลม จะใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการขยายท่อลมส่วนปลาย เพื่อช่วยให้การหายใจดีขึ้น แต่ข้อเสีย คือ จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ยิ่งทำให้หย่อนตัวลงมาปิดท่อลมเข้าไปอีก โดยเฉพาะท่อลมในส่วนต้น ๆ ที่สำคัญทำให้สุนัขกระวนกระวายได้ด้วย เจ้าของอาจต้องช่วยคุณหมอสังเกตอาการเหล่านี้ด้วยว่ามีหรือไม่
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้! ... วิธีรับมือโรคท่อลมตีบในสุนัข
 
     ส่วนการรักษาด้วยยาอื่น ๆ ก็ตามแต่กรณี ๆ ไปครับ หากน้องหมามีน้ำมูกข้นเขียว ก็อาจจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ หรือหากสุนัขท่อลมตีบมาก ๆ หายใจลำบากจนได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเกิดอาการลิ้นม่วง ก็อาจต้องได้รับออกซิเจนสำหรับดมร่วมด้วยเพื่อออกซิเจนให้กับร่างกาย ซึ่งการรักษาทางยาจะเป็นยากินหรือยาฉีด ร่วมกับวิธีการพ่นยา โดยจะพ่นยาต่อเนื่องสัก 3 วันเป็นอย่างน้อย สำหรับการรักษาทางการผ่าตัดใช้ในกรณีที่เป็นรุนแรงเกรด 4 (เกรดสูงสุด) หรือไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาทางยาแล้ว ซึ่งการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น การใส่บอลลูนเข้าไปขยาย การผ่าตัดเชื่อมต่อท่อลม ผ่าตัดใส่อวัยวะแทนกระดูกอ่อนรูปตัวซี ฯลฯ บางกรณีอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้น
 
 
 

การดูแลและการป้องกัน

    
     แนวทางที่ดีทางสุดต้องเริ่มจากการควบคุมน้ำหนักก่อนเลยครับ ควรเลี้ยงน้องหมาไม่ให้อ้วน ถ้าอ้วนก็ต้องหาทางลดน้ำหนักให้ได้ โดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์เล็ก ในสุนัขที่กำลังเป็นโรคท่อลมตีบอยู่ ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนัก ๆ หรือการทำให้น้องหมาตื่นเต้นมาก ๆ เห่ามาก ๆ ควรเสริมกลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อช่วยให้กระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น เลี้ยงในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้หายใจได้ง่ายขึ้น เวลาสวมปลอกคออย่าสวมแน่นเกินไป เวลาจูงเดินให้ใช้สายแบบที่รัดอกจะดีกว่าครับ
 

Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้! ... วิธีรับมือโรคท่อลมตีบในสุนัข


     โรคท่อลมตีบหรือหลอดลมตีบก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็กที่มีน้ำหนักตัวมาก หากตัวแสดงอาการหนัก ๆ ถึงขั้นหายใจลำบากขาดออกซิเจนแล้ว ก็สามารถเสียชีวิตได้เลย ในรายที่เกิดปัญหาท่อลมผิดปกติ อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน รวมถึงการควบคุมน้ำหนักก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้สุนัขมีอาการดีขึ้นได้ครับ





 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

 
รูปภาพประกอบ :
https://criticalcaredvm.com/wp-content/uploads/2016/02/cfg181.jpg
https://66.media.tumblr.com/0fa5d9a656bbf4889ce0a02afcb6536d/tumblr_o2cjl4c8cs1roo3o2o1_400.jpg
http://carolsmith.zenfolio.com/img/s10/v16/p1015652883-3.jpg
https://cdn1-www.dogtime.com/assets/uploads/2018/01/fat-shaming-dog-owners-2.jpg