โดย: Tonvet
สงสัยจัง การขูดหินปูนในสุนัขทำไมต้องวางยาสลบ ?
การขูดหิดปูนในสุนัขมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องวางยาสลบ ถ้าขูดหินปูนแบบไม่วางยาจะดีหรือไม่
21 มีนาคม 2562 · · อ่าน (21,447)- การขูดหินปูนมีความสำคัญ โดยเฉพาะคราบหินปูนหรือคราบน้ำลายที่อยู่บริเวณตามขอบเหงือกและเกาะตามฟันที่อยู่ใต้ขอบเหงือกลงไป ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น และเราไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยวิธีตามปกติ แม้จะแปรงฟันทุกวันก็ตาม จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกำจัดคราบหินปูนให้
- การขูดหินปูนจำเป็นจะต้องวางยาสลบให้กับสุนัข แต่ก่อนจะวางยาสลบได้นั้น สุนัขจำเป็นจะต้องได้รับการประเมินสุนัขอย่างละเอียดก่อน โดยต้องทำการตรวจเลือดร่วมด้วย
- การขูดหินปูนโดยไม่วางยาสลบนั้น ไม่ต่างอะไรกับการไม่ขูดหินปูนเลย เพราะเราไม่สามารถทำการขูดหินปูนให้กับสุนัขได้อย่างละเอียดรอบด้านของแต่ละซี่ฟัน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้เหงือกลงไป ที่สำคัญเรายังไม่สามารถทำการตรวจช่องปากของสุนัขได้อย่างละเอียดได้อีกด้วย
ถ้าจะให้พูดถึงอวัยวะที่เจ้าของสุนัขมักจะละเลยมากที่สุด ก็ต้องขอบอกเลยว่า "ช่องปากและฟัน" เป็นอวัยวะอันดับต้น ๆ ที่มักขาดการดูแลเอาใจใส่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นมีความสำคัญต่อร่างกายมาก เป็นต้นทางของการนำอาหารเข้าไปเลี้ยงในร่างกาย เท่าที่ผมลองสอบถามเจ้าของที่พาสุนัขมารักษา ว่าเคยแปรงฟันให้กับสุนัขหรือไม่ คำตอบมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ก็จะตอบว่า "ไม่เคยแปรงฟันให้สุนัขเลย" (ลองถามตัวเองว่าจริงหรือเปล่า)
ต้องยอมรับเลยว่าอุปสรรคสำคัญก็เกิดมาจากตัวสุนัขเอง ที่ไม่ยอมให้เราแปรงฟันให้ บางตัวแค่จะจับปากก็ไม่ยอมแล้ว แถมมีขู่อีกต่างหาก เจ้าของบางคนก็เลยล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำไป เชื่อหรือไม่ครับว่า สุนัขที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ต่างก็มีปัญหาสุขภาพช่องปากด้วยกันทั้งนั้น มากน้อยขึ้นกับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละตัว ที่สำคัญปัญหาสุขภาพช่องปาก ยังส่งผลถึงสุขภาพร่างกายโดยรวมได้ด้วย ดังนั้นเราก็ไม่ควยจะปล่อยผ่าน เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไปได้เลย...
การขูดหินปูนสุนัขมีความสำคัญอย่างไร
ก่อนจะพูดถึงความสำคัญของการขูดหินปูน ขอย้อนทำความเข้าใจถึงที่มาของปัญหาสุขภาพช่องปากกันก่อนนะครับ สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบก็เกิดจากการสะสมของคราบน้ำลาย คราบน้ำลายก็เป็นการรวมตัวของน้ำลาย เศษอาหาร (น้ำตาล) และแบคทีเรีย (คราบจุลินทรีย์) จะเริ่มจะสมตามขอบเหงือก ใต้เหงือกมากที่สุด เพราะส่วนนี้ไม่ค่อยถูกกัดหรือเสียดสีมากนัก มักก็สะสมกันไปเรื่อย ๆ พอสักพักก็จะเกิดการรวมตัวกับแร่ธาตุ ที่นี้จากคราบน้ำลายก็จะแข็งตัวขึ้นกลายเป็น หินปูน หรือ คราบหินปูน ก็จะเกิดการสะสมของแบคทีเรียเพิ่มขึ้นได้ง่าย ก่อให้เกิดโรคช่องปาก เหงือก และฟันตามมา ลองนึกภาพตามว่า น้องหมามีเชื้อโรคจำนวนมหาศาลอยู่ในช่องปาก ก็เหมือนกันการอมระเบิดเวลาดี ๆ นี่เอง วันดีคืนดีก็ระเบิด ..ตู้ม!! เกิดปัญหาและยังลุกลามไปต่อได้อีก เพราะมีการยืนยันแน่ชัดแล้วว่า แบคทีเรียในช่องปากสุนัข สามารถก่อให้เกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบ ตับและไตอักเสบได้ ฯลฯ เพื่อน ๆ ลองอ่านบทความนี้เพิ่มเติมได้นะครับ ปล่อยให้หมาปากเหม็น ระวัง !! ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบ
ดังนั้น การขูดหินปูนจึงมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะขูดเฉพาะกันแค่ตัวฟันที่โผล่พ้นเหงือกเท่านั้น ในบริเวณตามขอบเหงือกและฟันที่อยู่ใต้ขอบเหงือกลงไป เป็นส่วนที่เรามองไม่เห็นและสามารถมีคราบน้ำลายเข้าไปสะสมได้ มันเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่เรามองไม่เห็นก้อนน้ำแข็งใต้น้ำ อยู่ดี ๆ ก็มีเรือขับไปชนแล้วจมลง เจ้าคราบหินปูนที่อยู่ในส่วนลึกนี้ เราไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยวิธีตามปกติ แม้จะแปรงฟันทุกวันก็ตาม จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกำจัดคราบหินปูนให้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องพาสุนัขไปให้สัตวแพทย์ขูดหินปูนให้ เจ้าของจึงไม่ควรปล่อยให้หินปูนสะสมจำนวนมากแล้วจึงค่อยพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ แต่ควรหมั่นทำต่อเนื่องตามนัดของสัตวแพทย์จะเหมาะสมกว่าครับ
ขั้นตอนการขูดหินปูนในสุนัข
สำหรับใครที่สงสัยกันอยู่ว่า ในสุนัขนั้นมีขั้นตอนการขูดหินปูนอย่างไร วันนี้ผมขอมาเล่าให้พอมองเห็นภาพกันก่อนนะครับ หากเจ้าของต้องการจะพาสุนัขไปขูดหินปูน ตอนแรกเราก็ต้องพาสุนัขไปตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งจะมีการประเมินสุขภาพโดยรวมของร่างกาย และเก็บเลือดไปตรวจ สุนัขบางตัวอาจต้องได้รับการถ่ายภาพรังสีช่องอกร่วมด้วย เพื่อประเมินความพร้อมก่อน เนื่องจากการขูดหินปูนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการวางยาสลบโดยการสอดท่อเพื่อดมยาสลบเพื่อความปลอดภัย ควรพาไปตรวจสุขภาพก่อนอย่าน้อย 1-2 วัน
เมื่อผลร่างกายออกมาว่าสุนัขมีความพร้อมในการรับการวางยาสลบเพื่อขูดหินปูนได้แล้ว ก่อนที่จะพามาขูดหินปูน เจ้าของจะต้องทำการงดน้ำและอาหารสุนัขทุกอย่างเป็นเวลาอย่างน้อย 6-12 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการพาสุนัขไปทำหมัน เมื่อสุนัขมาถึงคุณหมอก็จะทำการตรวจร่างกายอีกครั้ง ชั่งน้ำหนัก และเตรียมสุนัขเข้ารับการวางยาสลบ ก็จะมีการวางยานำสลบ จากนั้นก็จะให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือด แล้วทำการวางยาสลบ ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือด แล้วสอดท่อช่วยหายใจเข้ากับก๊าซยาสลบร่วมกับการให้อ๊อกซิเจน
ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนการขูดหินปูนกันแล้ว ก่อนอื่นคุณหมอก็ต้องทำการตรวจช่องปากโดยละเอียดก่อน จากนั้นก็จะทำการขูดหินปูน ทั้งตัวฟันที่โผล่พ้นเหงือกและอยู่ใต้เหงือกตามล่องของปริทันต์ ทำการย้อมสีฟันดูคราบหินปูนที่ตกค้าง แล้วทำการขูดต่อจนหมดสิ้น ในทุกด้านของฟันทั้งด้านนอกและด้านใน ทั้งฟันบนและฟันล่าง สุนัขโตเต็มวัยจะมีฟันทั้งหมด 42 ซี่ แล้วจึงทำการขัดเคลือบผิวฟัน ซึ่งในการตอนนี้ทั้งหมด นอกจากการขูดหินปูนแล้ว การมีการตรวจเหงือกและฟันอย่างละเอียด บางครั้งหากจำเป็นต้องถอนฟันก็จะได้ทำไปทีเดียวเลย เนื่องจากได้วางยาสลบสุนัขแล้วก็ต้องทำให้ครอบคลุมทั้งหมดทีเดียว หลังจากขูดหินปูนเสร็จแล้ว สุนัขจะถูกส่งตัวไปยังห้องพักฟื้น เพื่อรอสุนัขฟื้นตัวจากยาสลบ แล้วจึงค่อยกลับบ้าน ซึ่งเจ้าของอาจได้รับยาฆ่าเชื้อและยาลดการอักเสบมาป้อนสุนัขที่บ้าน หรืออาจมีนัดกลับไปตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์ครับ
ขูดหินปูนแบบไม่ต้องวางยาสลบได้หรือไม่
เจ้าของหลายคนมักจะกังวลใจทุกครั้งเมื่อสุนัขต้องเข้ารับการวางยาสลบ โดยเฉพาะการวางยาสลบเพื่อทำการขูดหินปูน จึงมีคนฉวยโอกาสจากความกังวลใจนี้ นำมาเป็นจุดขายโฆษณาการขูดหินปูนโดยไม่ต้องวางยาสลบให้กับสุนัข เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงในการวางยาสลบและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาล่อใจเจ้าของสุนัข แต่รู้หรือไม่ครับว่า การขูดหินปูนโดยไม่วางยาสลบนั้น ไม่ต่างอะไรกับการไม่ขูดหินปูนเลย เพราะเราไม่สามารถทำการขูดหินปูนให้กับสุนัขได้อย่างละเอียดรอบด้านของแต่ละซี่ฟัน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้เหงือกลงไป ที่สำคัญเรายังไม่สามารถทำการตรวจช่องปากของสุนัขได้อย่างละเอียด หรือบางครั้งคุณหมออาจต้องเอ็กซเรย์ช่องปากดูเพิ่มเติมอีกด้วย ปกติสุนัขจะไม่ชอบให้เราจับปาก ยิ่งถ้าหากมีการบังคับเปิดปากก็จะปฏิเสธทันที หากสุนัขดิ้นก็ยิ่งได้รับอันตรายจากเครื่องมือที่ใส่ไปช่องปากได้ด้วย ปัจจุบันวิทยาการการวางยาสลบของสุนัขพัฒนามาไกล และมียาสลบที่ปลอดภัยกับสุนัขมากขึ้น อีกทั้งการที่สุนัขทุกตัวได้รับการประเมินสุขภาพอย่างละอียดก่อนการวางสลบ ก็เป็นการช่วยลดความเสี่ยงการวางสลบลงได้เป็นย่างมากครับ
เพื่อน ๆ คงจะเห็นแล้วนะครับว่าการขูดหินปูนในสุนัขนั้นมีขั้นตอนอย่างไร และทำไมจึงต้องวางยาสลบ สำหรับเจ้าของที่ยังกังวลใจหรือเลี้ยงสุนัขที่มีอายุมาก ป่วยเป็นโรคประจำตัวไม่สามารถทำการวางยาสลบเพื่อขูดหินปูนให้ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจช่วยลดคราบน้ำลายได้บ้าง แต่ไม่ดีเท่าการวางยาสลบแล้วขูดหินปูนครับ ดังนั้นเจ้าของอาจต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันเพื่อลดคราบน้ำลาย (คาบจุลินทรีย์) ทั้งการแปรงฟัน ปรับอาหาร ใช้ยาล้างปากชนิดผสมน้ำให้กินหรือเจลแต้มฟัน รวมถึงต้องพาสุนัขไปตรวจกับสัตวแพทย์เป็นประจำด้วยนะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
https://img.buzzfeed.com/buzzfeed-static/static/2017-07/21/6/campaign_images/buzzfeed-prod-fastlane-03/this-dogs-infectious-smile-is-breaking-everyones--2-8735-1500634653-2_dblbig.jpg
https://www.petguide.com/wp-content/uploads/2014/02/tartar-buildup-dogs.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS9rGgr8vUB8MM_oaK0lXcr-ssIvXu8UKw7n3hI8kdS5DNtrZc6
https://www.traditionsanimalhospital.com/storage/app/media/dental_002.jpg
https://barkpost-assets.s3.amazonaws.com/wp-content/uploads/2013/10/51.jpg
SHARES