โดย: Tonvet

จับตาโรคลิชมาเนีย โรคติดเชื้อโปรตัวซัวน่ากลัวในสุนัขและมนุษย์

ทำความรู้จักกับโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) โรคติดเชื้อโปรตัวซัวที่เจ้าของต้องเฝ้าระวัง

30 กรกฏาคม 2562 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (2) · อ่าน (6,701)
511

SHARES


511 shares
  • โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) เป็นโรคติดต่อของคนและสัตว์ (สุนัข) ที่มีแมลงดูดเลือด  เช่น ริ้นฝอยทราย (sand fly) เป็นพาหะ
 
  • เป็นโรคที่ส่งผลต่อผิวหนังและอวัยวะภายใน ในสุนัขนั้นรายที่เป็นรุนแรง จะแนะนำให้การุณยฆาต เพราะการพยากรณ์โรคไม่ดีและเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
 
  • ปี ค.ศ.2019 พบการติดต่อของโรคลิชมาเนียจากสุนัขไปยังสุนัข (ผ่านแมลงพาหะ) ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในสหราชอาณาจักร ถือเป็นสุนัขป่วยรายแรกที่อาศัยในประเทศ

 

Dogilike.com :: จับตาโรคลิชมาเนีย โรคติดเชื้อโปรตัวซัวน่ากลัวในสุนัขและมนุษย์




 

     เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข่าวโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (nicrotic fasciitis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน และแบคทีเรียที่สามารถสร้างสารพิษได้ ทำให้เกิดเนื้อเน่าและเนื้อตายได้ ก็เลยนึกถึงโรคติดเชื้อโปรตัวซัวโรคหนึ่ง ที่พบในได้สุนัขและคน ทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนังและอวัยวะภายในได้ โรคนี้เรียกว่า โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) แม้ว่าโรคนี้จะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูกันสักเท่าไร แต่ถือเป็นโรคติดต่อสู่คน (zoonosis) โรคหนึ่งที่สำคัญ ที่ผู้เลี้ยงสุนัขทุกคนควรทำความรู้จักกันไว้ครับ
 
 
 

รู้จักโรคลิชมาเนีย

 
 
     โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่เกิดจากเชื้อโปรตัวซัว โดยปกติจะติดต่อผ่านทางแมลงดูดเลือด คือ แมลงจะมาดูดเลือดคนหรือสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ แล้วไปแพร่เชื้อต่อคนและสัตว์ตัวอื่น ๆ ผ่านทางการดูดเลือด โดยแมลงตัวการที่สำคัญเป็นพาหะนำเชื้อโรคนี้ก็คือ ริ้นฝอยทราย (sand fly) ตัวคล้าย ๆ ยุงแต่มีขนาดเล็กกว่า แต่ก็สามารถติดต่อได้ผ่านทางการถ่ายเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และการถ่ายทอดผ่านทางรกได้ด้วยเช่นกัน
 
Dogilike.com :: จับตาโรคลิชมาเนีย โรคติดเชื้อโปรตัวซัวน่ากลัวในสุนัขและมนุษย์
 
     โรคนี้ค้นพบครั้งในปี พ.ศ.2477 โดยผู้รายงานคนแรกชื่อว่า Leishman พบบ่อยในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย และบังคลาเทศ ซึ่งมีแมลงพาหะนำโรคอาศัยอยู่ แต่โรคนี้เคยตรวจเจอในประเทศไทยเช่นกัน จัดเป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีชาวต่างชาติหรือผู้ที่ไปอาศัย ทำงาน หรือท่องเที่ยว ในประเทศที่มีการระบาดนำโรคกลับมาระบาด ตัวเชื้อ Leishmania นั้นมีหลายสปีชีส์ ตั้งแต่ในปี พ.ศ.2538 มีการยืนยันการตรวจเชื้อสปีชีช์ Leishmania siamensis  ในผู้ป่วยชาวไทย ส่วนใหญ่จะพบในภาคใต้ ในคนที่ปกติ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย
 
 
 

โรคลิชมาเนียในสุนัข

 
 
     ในสุนัขจะเกิดจากโปรตัวซัว Leishmania infantum  ซึ่งติดจากการถูกแมลงดูดเลือดมากัด มีผลต่อผิวหนังและอวัยวะภายใน แบบที่มีผลต่อผิวหนังจะทำให้น้องหมาผิวหนังตกสะเก็ด ขนร่วง ผิวแห้ง พบตุ่มนูนบนผิว และอาจพบแผลหลุม ในสุนัขมักแสดงอาการทางผิวหนังเป็นหลัก ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเชื้อโปรตัวซัวที่ได้รับ และระดับภูมิคุ้มกันของสุนัขเอง รอยโรคพบผิวหนังสามารถรักษาได้ และบางครั้งจะหายไปเอง อีกรูปแบบ คือส่งผลต่ออวัยวะภายใน จะส่งผลต่อตับ ม้าม ไต ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลือง ทำให้ตัวและม้ามโต มีไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ ถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้มีน้ำหนักลดลง ซึ่งรูปแบบนี้จะไม่ค่อยพบในสุนัข อย่างที่บอกครับว่า สุนัขที่ป่วยรูปแบบผิวหนังส่วนมากจะหายเองได้ ถ้าภูมิคุ้มกันดี ส่วนสุนัขที่ติดเชื้อและแสดงอาการรุนแรงจะไม่แนะนำให้รักษา ส่วนใหญ่จะทำการการุณยฆาตร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่สัตว์และคนอื่น ๆ ต่อไป    
 
Dogilike.com :: จับตาโรคลิชมาเนีย โรคติดเชื้อโปรตัวซัวน่ากลัวในสุนัขและมนุษย์
 
 
 

รายงานครั้งแรก พบการติดต่อโรคจากสุนัขไปยังสุนัข

 
 
     ในปี ค.ศ. 2019 มีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Vet Record ว่าพบการติดต่อของโรคลิชมาเนียจากสุนัขไปยังสุนัข (ผ่านแมลงพาหะ-ผู้เขียน) ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในสหราชอาณาจักร จากการสอบสวนโรค พบว่า สุนัขที่ป่วยตัวดังกล่าว เป็นสุนัขเพศผู้ พันธุ์ผสมชิสุ อายุ 3 ปี ทำหมันแล้ว อาศัยอยู่กับเจ้าของมาตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข เลี้ยงในบ้าน ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค และไม่เคยได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน ได้ตรวจพบ Leishmania ระยะ amatigotes จากผิวหนัง และได้ทำการเก็บไขกระดูกไปตรวจยืนยันสปีชีส์ด้วยวิธี PCR ก็พบว่าเป็นเชื้อ Leishmania infantum  ซึ่งก่อนหน้านี้ในบ้านมีสุนัขตัวหนึ่งเพิ่งนำเข้ามาจากประเทศสเปนได้ถูกเมตตาฆาตรไปเมื่อ 6 เดือนก่อน เนื่องจากป่วยด้วยโรคลิชมาเนียขั้นรุนแรง จึงเป็นไปได้ว่าเป็นการติดต่อจากสุนัขกับสุนัข ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ไม่ควรวางใจกับโรคนี้แม้ว่าสหราชอาณจักรจะไม่ใช่พื้นที่การระบาดของโรค และให้ระมัดระวังการนำเข้าสัตว์หรือรับสัตว์จากประเทศที่มีการระบาดมาเลี้ยง หากต้องพาสัตว์ไปยังต่างประเทศควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน และหลีกเลี่ยงพาสัตว์ไปทำกิจกรรมนอกบ้านช่วงเวลาพบลค่ำหรือเวลากลางคืน เพื่อป้องกันการรับเชื้อผ่านตัวริ้นฝอยทราย (sand fly) หรือยุง
 
Dogilike.com :: จับตาโรคลิชมาเนีย โรคติดเชื้อโปรตัวซัวน่ากลัวในสุนัขและมนุษย์

 

 

การป้องกันโรคลิชมาเนีย

 
 
      ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังพบได้ไม่บ่อยในบ้านเรา แต่การป้องกันก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการนำเข้าสุนัขจากแหล่งที่มีการระบาดเข้ามาภายในประเทศ และควรมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังโรคโดยเข้มงวดก่อนนำเข้ามาภายในประเทศ รวมถึงหลีกเลี่ยงการถูกแมลงดูดเลือดกัด ควรเลี้ยงสุนัขในบ้านเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการปล่อยสุนัขออกไปนอกบ้านในเวลากลางคืน กำจัดแหล่งพาหะนำโรค เราสามารถกำจัดริ้นฝอยทรายได้ด้วย ยากันยุง  ซึ่งแมลงริ้นฝอยทรายจะมีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้นประมาณ 60 วัน มักจะออกดูดเลือดช่วงพลบค่ำและกลางคืน ระยะทางไม่ห่างจากรังรัศมี 100-300 เมตร มักชอบกัดสุนัขที่อยู่นอกบ้านมากกว่าอยู่ในบ้าน วางไขและทำรังอยู่ตามพื้นที่มืด เย็น และชื้น มีรายงานการพบริ้นฝอยทรายในประเทศไทยด้วย
 
      เพราะการเดินทางในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก ทำให้โรคที่ไกลตัวกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวไปได้ การเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยของทั้งคนและสัตว์ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ อย่างรายของสุนัขในประเทศสหราชอาณาจักร ที่แม้จะไม่เคยออกจากบ้านไปไหนไกลเลย ก็สามารถติดโรคนี้ได้ ดังนั้นพวกเราคนเลี้ยงสุนัขทุกคน ก็ไม่ควรที่จะละเลยการป้องกันโรคติดเชื้อโปรตัวซัวลิชมาเนียนี้  
 



 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์


ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
niah.dld.go.th/th/files/ejournal/v03n1t02.pdf
vet4msuimmune.blogspot.com/2015/12/leishmania-infantum.html
http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=266
https://veterinaryrecord.bmj.com/content/184/14/441


 
รูปภาพประกอบ :
https://cdn.images.dailystar.co.uk/dynamic/1/photos/749000/620x/Leishmaniasis-disease-tropical-dog-parasite-symptoms-770329.jpg
https://www.science20.com/files/images/canine_leishmaniosis.jpg
https://image.slidesharecdn.com/leishmaniasis-120609100101-phpapp01/95/leishmaniasis-14-728.jpg?cb=1339236154
https://www.samaa.tv/wp-content/uploads/2019/01/Sandfly-640x424.jpg