โดย: Tonvet

7 วิธีเอาตัวรอดจากโรค COVID-19 ของคนและสุนัข

มาดูวิธีการรับมือกับโรค Coronavirus Disease 2019 หรือ โรค COVID-19 ทั้งในคนและสุนัขกัน

5 มีนาคม 2563 · · อ่าน (5,237)
377

SHARES


377 shares

 

  • ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 ยืนยันได้ว่า มีสุนัข 1 ราย สามารถได้รับเชื้อโรค COVID-19 จากคนได้ แต่ยังไม่แสดงอาการป่วย และไม่มีหลักฐานว่าสามารถแพร่เชื้อต่อไปยังมนุษย์และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ หรือส่งต่อเชื้อไปยังสิ่งแวดล้อมต่อได้ ขอให้ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
 
  • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เราไม่ทราบประวัติ โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยจะป่วยเป็นโรค COVID-19 ควรงดเลี้ยงสัตว์หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อมายังสุนัข
 
  • การป้องกันโรคที่ดี สามารถทำได้โดยการสวมหน้ากากและถุงมือป้องกัน หรือล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสกับสุนัข
 


 

Dogilike.com :: 7 วิธีเอาตัวรอดจากโรค COVID-19 ของคนและสุนัข


 

     เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีข่าวใหญ่ที่กระทบความรู้สึกของคนรักสุนัขทั่วโลกว่า มีรายงานการตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนที่มีเจ้าของเป็นผู้ติดเชื้อจากฮ่องกง ซึ่งผลการตรวจตัวอย่างจากบริเวณปากและจมูก พบเป็นผลบวกในระดับต่ำ (weakly positive) เช่นเดียวกับระดับที่ตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสุนัขตัวดังกล่าวก็ไม่แสดงอาการอะไรที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 เลย แต่เพื่อความมั่นใจจึงได้ทำการกักสุนัขตัวนี้ไว้ เพื่อสังเกตอาการและจะได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจพิสูจน์หาความแน่ชัดต่อไป ในเวลาต่อมาได้ทำการตรวจยืนยันล่าสุด ข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 ได้รับการยืนยันว่า สุนัขตัวดัวกล่าวมีการได้รับเชื้อ COVID-19 จากเจ้าของที่ป่วยจริง ถือเป็นรายแรกของโลกที่ได้รับการยืนยัน แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานว่า สุนัขจะสามารถแพร่เชื้อ COVID-19 กลับมายังคนเราได้แต่อย่างไร และจากการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ ก็ไม่พบว่าสุนัขแสดงอาการป่วยเช่นกัน
 
 
     แต่เพื่อความไม่ประมาท วันนี้ผมได้รวบรวมนำเอาข้อปฏิบัติจากคำแนะนำขององค์กรทางด้านสุขภาพทั้งของคนและสัตว์ ทั้งในระดับโลกและในประเทศ มาสรุปได้เป็นวิธีการง่าย ๆ เพื่อที่พวกเราจะได้ใช้สำหรับการป้องกันโรค COVID-19 ได้ทั้งในคนและในสัตว์เลี้ยง ... เรามาดูกันเลยครับ
 


 
Dogilike.com :: 7 วิธีเอาตัวรอดจากโรค COVID-19 ของคนและสุนัข


 
     1 หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เราไม่ทราบประวัติ ไม่ทราบที่มา หรือไม่คุ้นเคยมาก่อน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้หาทางป้องกันทั้งการสวมหน้ากากและสวมถุงมือทุกครั้งก่อนการสัมผัส หรือล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการไปยังตลาดที่ค้าสัตว์มีชีวิตด้วย
 
 
     2 ผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยจะป่วยเป็นโรค COVID-19 ควรงดเลี้ยงสัตว์หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง งดการสัมผัสสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการลูบตัว กอด หอมตัวสัตว์เลี้ยง หรือยอมให้สัตว์เลี้ยงมาเลียหน้า เลียมือเป็นอันขาด ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้หาทางป้องกันตัว เช่นสวมหน้ากากและถุงมือ รวมถึงล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง แนะนำให้แยกสัตว์เลี้ยงออกไปเลี้ยงที่อื่น หรือนำสัตว์เลี้ยงไปฝากเลี้ยงไว้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่ไม่มีอาการป่วยก่อนเป็นการชั่วคราว


     หากสุนัขตัวดังกล่าวมีประวัติคุกคลีกับผู้ป่วย แนะนำให้ทำการกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและเก็บตัวอย่างเพื่อหาตรวจหาเชื้อ และหากตรวจพบว่ามีการได้รับเชื้อ จะต้องทำการกักตัวต่อไปจนกว่า จะตรวจหาเชื้อไม่พบแล้ว
 
     3 ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่ในช่วงที่แนะนำให้กักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการลูบตัว กอด หอมตัวสัตว์เลี้ยง หรือยอมให้สัตว์เลี้ยงมาเลียหน้าหรือเลียมือเช่นกัน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้หาทางป้องกันตัว เช่นสวมหน้ากากและถุงมือ รวมถึงล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง อาจนำสัตว์เลี้ยงไปฝากเลี้ยงไว้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่ไม่มีอาการป่วยก่อนเป็นการชั่วคราวเช่นกัน
 
 

Dogilike.com :: 7 วิธีเอาตัวรอดจากโรค COVID-19 ของคนและสุนัข
 

 
     4 ผู้ที่เปิดสถานประกอบการรับเลี้ยงสัตว์ อาบน้ำตัดขน คลินิกหรือโรงพยาบาลรักษาสัตว์ ตลอดจนบุคลากรทางการสัตวแพทย์ ควรระมัดระวังและสอบถามประวัติเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกราย หากเจ้าของหรือคนใกล้ชิดคนอื่น ๆ ของสัตว์เลี้ยง มีประวัติการเดินทางไปยังต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง หรือมีโอกาสไปสัมผัสเชื้อมา แนะนำให้งดการรับฝากสัตว์เลี้ยงตัวดังกล่าว หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เป็นสัตว์ที่ต้องเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการป้องกันตามหลักวิชาการ รวมถึงการสวมหน้ากากและถุงมือตลอดเวลา และล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีประวัติดังกล่าว
 
 
     5 หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ หรือมีประวัติการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาก่อน ให้รีบแยกเลี้ยงทันที แล้วติดต่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านระบาดวิทยาในพื้นที่โดยเร็ว อาจโทรไปที่สาย 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค อาจประสานงานไปยังคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน และควรติดต่อไปยังสัตวแพทย์ก่อนจะนำสุนัขไปตรวจล่วงหน้า ไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยโดยพลการ เพราะจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามมาตรการการป้องกันโรค เพื่อให้สัตวแพทย์ได้เตรียมรับมือ และประสานงานไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบาดวิทยาก่อน
 
 
     6 หากต้องอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ให้หลีกเลี่ยงการพาสุนัขไปยังแหล่งชุมชน ที่มีคนและสัตว์อาศัยอยู่แออัด หรือพบปะกับสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ไม่ทราบประวัติ อย่าให้สุนัขเลียหรือสัมผัสกับสิ่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อได้ ควรให้กินอาหารปรุงสุกหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด เพื่อความปลอดภัย แม้จะยังไม่พบการติดเชื้อจากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ก็ตาม ควรเลี้ยงสุนัขให้ถูกสุขลักษณะ และเจ้าของที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ก็ควรต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา (เมื่อจำเป็น) และล้างมือด้วยสบู่ประจำจนเป็นนิสัยด้วย


 
Dogilike.com :: 7 วิธีเอาตัวรอดจากโรค COVID-19 ของคนและสุนัข

 
 
     7 หมั่นติดตามข้อมูลของโรค COVID-19 เป็นประจำ เพราะโรคนี้ยังถือเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ยังต้องมีการศึกษาและมีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติมมาอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวลวง เราควรติดตามข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานทางสาธารณสุขและทางการสัตวแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ
 
 
 
     
     จนถึงวันนี้เราสามารถยืนยันได้ว่า สุนัขจะสามารถรับเชื้อโรค COVID-19 จากคนได้ โดยรับเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าของที่ป่วย สุนัขตัวดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการกักโรคและยังไม่มีอาการป่วย ที่สำคัญโรค COVID-19 นี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถแพร่เชื้อจากสุนัขมายังมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงอื่นต่อได้ ผู้เลี้ยงสุนัขยังไม่ต้องกังวลใจ แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ควรต้องป้องกันตัวเราเองและสุนัข ควรเลี้ยงสุนัขอย่างถูกสุขลักษณะ รวมถึงตัวผู้เลี้ยงเอง ก็ควรสวมหน้ากากป้องกันและการล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสุนัข เพื่อลดโอกาสการส่งต่อและการรับเชื้อซึ่งกันและกันระหว่างเรากับสุนัขครับ
 


 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์



ข้อมูลบางส่วนและรูปภาพประกอบ :
 
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/about/index.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fcoronavirus%2Fabout%2Findex.html
https://www.oie.int/scientific-expertise/specific-information-and-recommendations/questions-and-answers-on-2019novel-coronavirus/
http://vet.ku.ac.th/vv2018/index.php/news-true-2/859-covid-2019-1
http://vet.ku.ac.th/vv2018/index.php/slide-show/858-2019-covid-19
https://www.nylon.com.sg/wp-content/uploads/2020/02/pets-coronavirus-header.jpg
https://www.globaltimes.cn/Portals/0/attachment/2020/2020-02-28/691e5044-eee9-4f3a-94e6-d05737071c0a.jpeg
https://www.catdumb.tv/wp-content/uploads/2020/02/1-4.jpeg
https://datacdn.btimesonline.com/data/thumbs/full/106160/475/230/50/40/woman-and-man-hugging-dog.jpg