โดย: Tonvet

น้องหมาและน้องแมวมีความสามารถรับเชื้อโควิด-19 มากแค่ไหน

ไขข้อสงสัยการติดเชื้อโควิด-19 ในสุนัขและแมวได้หรือไม่

17 เมษายน 2563 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (2,906)
156

SHARES


156 shares
  • ข้อมูลปัจจุบัน (17 เมษายน พ.ศ. 2563) แมวสามารถรับเชื้อและแพร่ไปยังแมวตัวอื่นในการทดลองได้ แมวแสดงอาการทางะรบบทางเดินหายใจได้ ในขณะที่สุนัขมีความสามารถในการรับเชื้อน้อยกว่าแมว  สุนัขไม่แสดงอาการป่วย ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ ในสุนัขอาจได้รับเชื้อจากการปนเปื้อน
 
  • มีรายงานการตรวจพบเชื้อในสุนัข แมว และเสือ ที่ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 แต่ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคนได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานการทดลองในเฟอเรทว่าสามารถตรวจพบเชื้อได้เช่นกัน
 
 
 
Dogilike.com :: น้องหมาและน้องแมวมีความสามารถรับเชื้อโควิด-19 มากแค่ไหน

 
 
     โรคโควิค-19 (Covid-19) ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังเฝ้าติดตามอยู่ แม้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงเช่นกัน หลายคนเป็นกังวลว่า สัตว์เลี้ยงที่บ้านจะติดโรคนี้ได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้เราทราบว่า มีรายงานการตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ในสุนัขที่ฮ่องกง ต่อมาก็มีรายงานการตรวจพบเชื้อในแมวที่เบลเยียม และล่าสุดก็มีการตรวจพบเชื้อในเสือโคร่งมลายูจากสวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสัตว์ทั้งหมดได้รับเชื้อจากมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งสิ้น แต่ในระหว่างนั้นนักวิจัยในจีนจาก  Harbin Veterinary Research Institute ได้ทำการศึกษาการแพร่เชื้อโควิด-19 ในสัตว์ต่าง ๆ จากผลการศึกษาพบว่า แมวและเฟอเรทเป็นสัตว์ที่สามารถรับเชื้อโควิด-19 ได้ ในขณะที่สุนัข หมู เป็ด และไก่ มีความสามารถในการรับเชื้อโควิด-19 ได้น้อยกว่า ซึ่งรายละเอียดจะเป็นเช่นไรนั้น ไปตามดูกันเลยครับ
 
Dogilike.com :: น้องหมาและน้องแมวมีความสามารถรับเชื้อโควิด-19 มากแค่ไหน
 
 

ในสุนัข

 
 
     ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 มีการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ในสุนัขจากประเทศฮ่องกง ซึ่งสุนัขทั้งสองตัวมีการได้รับเชื้อมาจากเจ้าของที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากการทดสอบหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน ก็ได้ผลเป็นบวกทั้งสองครั้ง แต่เป็นผลบวกที่อ่อน ๆ สุนัขทั้งสองตัวไม่มีการแสดงอาการป่วยแต่อย่างไร การจะสรุปว่า สุนัขมีการติดเชื้อได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องดูว่า เชื้อสามารถเข้าไปทำกิจกรรมใดใดในร่างกายหรือเซลล์ของสุนัขได้หรือไม่ จึงได้ทำการทดสอบที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในสุนัข โดยการตรวจหาสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ก็พบว่าให้ผลเป็นลบ คือ ไม่พบการสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อดังกล่าวในสุนัขทั้งสองตัว ดังนั้นจึงได้ข้อมูลในเบื้องต้นนี้ว่า ผลบวกที่มีต่อการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ในสุนัขนั้น อาจเกิดจากการปนเปื้อนเข้าไป โดยสุนัขอาจไปเลียหรือสูดดมเอาเชื้อเข้าไปโดยบังเอิญ เชื้อไม่ได้ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในสุนัข สุนัขไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ ในการทดลองจากประเทศจีนก็มีการหยอดเชื้อลงไปในจมูกของสุนัข ก็พบว่าสุนัขมีความสามารถในการรับเชื้อที่น้อยกว่า

 
Dogilike.com :: น้องหมาและน้องแมวมีความสามารถรับเชื้อโควิด-19 มากแค่ไหน
 

ในแมว

 

     ในแมวก็มีรายงานการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 จากประเทศเบลเยียม ซึ่งแมวก็ได้รับเชื้อมาจากเจ้าของที่ป่วยอีกเช่นกัน แต่แมวตัวนี้มีอาการท้องเสียและอาเจียน นอกจากนี้ยังมีการอาการทางระบบทางเดินหายใจเล็กน้อยด้วย มีการตรวจพบเชื้อในอุจจาระและอาเจียนของแมวตัวดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็มีการทดลองจากนักวิจัยชาวจีนในแมวด้วยเช่นกัน

     โดยในการทดลองได้มีความพยายามทดสอบเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ เพื่อดูว่าสัตว์เหล่านั้นจะสามารถติดเชื้อได้หรือไม่ ในการทดลองเป็นการหยอดเชื้อลงไปในจมูกของแมวจำนวน 5 ตัว ก็พบว่าในแมวสามารถติดเชื้อและแสดงอาการได้ ในแมวเด็กจะมีอาการรุนแรงกว่าในแมวที่โตกว่า ส่วนมากจะแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนต้น จากนั้นก็ได้ทดลองต่อไปว่า แมวที่ติดเชื้อเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปยังแมวตัวอื่น ๆ ได้หรือไม่ ก็เลยเอาแมวเหล่านี้ไปเลี้ยงในกรงที่ใกล้ ๆ กับกรงแมวที่ปกติ พบว่า แมวที่ปกติจำนวน  1 ใน  3 ตัว มีการติดเชื้อ ซึ่งแมวไม่มีการป่วยรุนแรงแต่อย่างใด 
 

Dogilike.com :: น้องหมาและน้องแมวมีความสามารถรับเชื้อโควิด-19 มากแค่ไหน
 
 
     อย่างไรก็ดียังคงต้องทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป จนกว่าจะได้ข้อสรุป แม้ในแมวเราจะพบกว่าสามารถติดเชื้อได้จริง แต่ก็เป็นการทดลองที่มีการให้เชื้อในปริมาณที่สูงกว่าที่พบในธรรมชาติ ถึงมีการติดเชื้อในแมวกับแมวได้ แต่การระบาดจากแมวไปสู่มนุษย์ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นได้  ส่วนในสุนัขการรับเชื้อเกิดจากการปนเปื้อน  สุนัขไม่แสดงอาการป่วย และไม่พบการแพร่เชื้อต่อไปยังคนและสัตว์อื่นได้
 


 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์



ข้อมูลบางส่วน :
https://www.nature.com/articles/d41586-020-00984-8
https://science.sciencemag.org/content/early/2020/04/07/science.abb7015?fbclid=IwAR0P-Tpjc16TGwHc9g1HkL83SwidCErXE-H2566aowh4ozsCOQ7_tslLcaE

รูปภาพประกอบ :
https://www.sciencenews.org/wp-content/uploads/2020/03/030520_eg_dog-coronavirus_feat-1028x579.jpg
https://cdn.mos.cms.futurecdn.net/hcpXyGPx4C9DQye6dPE7P6.jpg
https://image.cnbcfm.com/api/v1/image/106458711-1585066411877gettyimages-1201780935.jpeg?v=1585066519
https://vid.alarabiya.net/images/2020/02/16/d5d76129-17dc-4425-8e71-9baea852500f/d5d76129-17dc-4425-8e71-9baea852500f_16x9_600x338.jpg