โดย: Tonvet

ทำไมสุนัขถึงสะอึก (hiccup) ?

อาการสะอึกในสุนัขเกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายหรือไม่ ตามมาดูกันเลย

15 มิถุนายน 2563 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (0) · อ่าน (64,532)
255

SHARES


255 shares
  • การสะอึกพบได้บ่อยในลูกสุนัข เกิดจากการที่กระบังลมหดตัวผิดจังหวะ มักเกิดขึ้นเมื่อสุนัขกินอาหารหรือน้ำเร็วเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่การสะอึกจะหายไปได้เอง
 
  • การช่วยเหลือสุนัขที่สะอึก พยายามทำให้สุนัขสงบ ประคองให้สุนัขนอนหงาย ค่อย ๆ ลูบท้องให้สุนัขเบา ๆ ช้า ๆ และเป็นจังหวะ สามารถบรรเทาอาการสะอึกได้

 

Dogilike.com :: ทำไมสุนัขถึงสะอึก (hiccup) ?
 
 
     การสะอึก (hiccup) ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในสุนัขเช่นเดียวกับในคน หลายคนมองว่าน่ารักดีเวลาที่สุนัขสะอึก แต่บางคนก็อาจเกิดความกังวลว่าจะเป็นอันตรายกับสุนัขหรือไม่ บทความนี้จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักการสะอึกในสุนัข เจาะลึกถึงสาเหตุ และวิธีการช่วยสุนัขที่สะอึกว่าต้องทำอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกันเลยครับ 
 
 
 

สาเหตุของการสะอึกในสุนัข

 
     กระบังลมเป็นกล้ามเนื้อที่กั้นระหว่างช่องอกกับช่องท้อง มีความเกี่ยวข้องกับเวลาที่น้องหมาหายใจ คือ เมื่อเวลาที่น้องหมาหายใจเข้า กะบังลมจะหดตัวและเคลื่อนตัวลง ทำให้ช่องอกขยายตัวมากขึ้น แต่เมื่อน้องหมาหายใจออก กะบังลมจะคลายตัวและเคลื่อนตัวขึ้นสู่ช่องอก ซึ่งการเคลื่อนตัวก็จะเป็นจังหวะเช่นนี้ไปตลอดในยามปกติ แต่เมื่อใดที่กล้ามเนื้อกะบังลมเกิดการหดตัวผิดจังหวะ (กระตุก) อย่างกระทันหัน ก็จะเกิดอาการที่เราเรียกว่า สะอึก (hiccup) นั่นเอง 
 
     โดยการหดตัวที่ผิดจังหวะนี้ส่งผลให้เกิดการหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะเดียวกับที่กล่องเสียงเกิดการปิดลงกระทันหัน จากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ทำให้อากาศที่เข้ามาถูกกักไว้ ซึ่งการที่กล้ามเนื้อของกล่องเสียงหดตัวอย่างรวดเร็วนี้เอง ที่ทำให้เกิดเสียงสะอึกขึ้นมา
 

 
 
     ความจริงแล้วเรายังไม่รู้ที่มาที่แน่ชัดว่าการสะอึกเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แต่มีทฤษฎีที่เชื่อว่าเป็นพัฒนาการที่หลงเหลือมาจากทารกในครรภ์ เพื่อเป็นการทดสอบระบบกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลาย ๆ ชนิด อาการนี้จึงพบได้บ่อยในลูกสุนัขอายุไม่เกิน 6 เดือน เมื่อเทียบกับสุนัขที่โตแล้วก็จะพบอาการสะอึกได้น้อยกว่า
 
     สำหรับอาการสะอึกในสุนัขมักเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ กรณี เช่น การที่สุนัขกินอาหารและน้ำเร็วเกินไป ความตื่นเต้น ความเครียด ความกลัว ท้องอืด กลืนอากาศเข้าไปมากเกินไป ฯลฯ แต่ในรายที่มีอาการสะอึกเรื้อรัง อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อยู่ด้วยได้ เช่น โรคที่ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกระบังลม โรคที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจ เป็นต้น แม้อาการสะอึกจะไม่ได้เป็นปัญหาที่ร้ายแรงอะไร แต่หากสุนัขของเรามีอาการสะอึกต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป 
 
 
 

การแก้อาการสะอึกให้สุนัข

 
     อาการสะอึกส่วนมากจะหายไปได้เองโดยที่ไม่ต้องทำอะไร แต่เราสามารถช่วยสุนัขที่มีอาการสะอึกได้โดย การช่วยปรับจังหวะการหายใจอย่างช้าในจังหวะที่สม่ำเสมอ พยายามให้สุนัขอยู่ในท่าทางที่สงบ อย่าให้ตื่นเต้นหรือเครียด จะทำให้สุนัขหายใจเป็นจังหวะมากขึ้น ให้สุนัขนอนหงาย ค่อย ๆ ลูบท้องให้สุนัขเบา ๆ ช้า ๆ และเป็นจังหวะ สามารถบรรเทาอาการสะอึกได้

     ป้องกันพยายามอย่าให้สุนัขกินเร็วเกินไป อาจแบ่งให้อาการทีละน้อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดการสะอึกตามมาได้อีก ไม่แนะนำให้ใช้วิธีหยุดการสะอึก โดยทำให้สุนัขหวาดกลัวหรือตกใจ หรือใช้การกลั้นลมหายใจและดึงลิ้นของสุนัข เพื่อหยุดการสะอึก เพราะอาจไม่ช่วยให้อาการสะอึกดีขึ้นและยังอาจก่อให้เกินอันตรายตามมาได้ด้วย อย่างไรก็ดียังไม่มีวิธีการแก้ไขอาการสะอึกที่เฉพาะและได้ผลในทันที หากอาการสะอึกไม่หายไปในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ควรปรึกษาสัตวแพทย์ต่อไป

 
Dogilike.com :: ทำไมสุนัขถึงสะอึก (hiccup) ?
 
 
     กล่าวโดยสุรปก็คือ การสะอึกพบได้บ่อยในลูกสุนัข เกิดจากการที่กระบังลมหดตัวผิดจังหวะ มักเกิดขึ้นเมื่อสุนัขกินอาหารหรือน้ำเร็วเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่การสะอึกจะหายไปได้เอง เพื่อน ๆ ไม่ต้องกังวลไปนะครับ 

 

 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

 
รูปภาพประกอบ :
https://outwardhound.com/furtropolis/wp-content/uploads/2017/09/puppy-hiccups.jpg
https://dogsanddog.com/wp-content/uploads/2020/04/dog-hiccups-390x220.jpg
https://www.youtube.com/watch?v=NG1dRrUiEx0