โดย: Tonvet
สุนัขกินอาหารลดลงเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
มาดูสาเหตุกันว่า อะไรทำให้สุนัขเบื่ออาหารหรือกินอาหารลดลง
24 สิงหาคม 2563 · · อ่าน (7,688)- ตามปกติสมองส่วนที่ควบคุมความหิวนั้น คือ สมองส่วนไฮโพทาลามัส โดยอาจมีการทำงานร่วมกับสารสื่อประสาทและฮอร์โมนของร่างกายด้วย
- สุนัขที่เบื่ออาหาร กินอาหารไม่ได้ หรือมีความอยากกินอาหารลดลง อาจบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติได้ เช่น อาการป่วยทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง สุนัขหลังจากการผ่าตัด มีการปรับเปลี่ยนอาหารใหม่ และมีการการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
คงเป็นปัญหาหนักใจอยูู่ไม่น้อย หากอยู่ดี ๆ สุนัขของเราก็เบื่ออาหาร หรือมีความอยากกินอาหารลดลง แม้กระทั่งอาหารที่โปรดปรานตั้งอยู่ตรงหน้า ก็กลับไม่ยอมกินเอาเสียดื้อ ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติตามมาได้
ก่อนอื่นเจ้าของต้องสังเกตและแยกให้ได้ก่อนว่า สุนัขของเรานั้นป่วยหรือไม่ สุนัขที่ป่วยนั้นนอกจากความอยากอาหารจะลดลงแล้ว อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่ร่าเริง ไม่เล่น น้ำหนักตัวลดลง อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ ไอจาม มีการบวมที่อวัยวะต่าง ๆ หรือมีการเจ็บปวดช่องปาก เป็นต้น
ต่างกับสุนัขที่มีนิสัยเลือกกินอาหาร สุนัขก็เหมือนกับคนเราซึ่งมีความชอบและไม่ชอบอาหาร หรืออาจจะเบื่ออาหารที่กินประจำก็ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักไม่สอดคล้องกับอาการป่วยอื่น ๆ ตามกล่าวไป และสุนัขยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ร่าเริงปกติ การแก้ปัญหาวิธีนี้อาจ ใช้การฝึกวินัยให้กับสุนัข ให้รู้จักกินอาหารตามเวลา ไม่ตามใจ (ปาก) สุนัขมากเกินไป และเลือกอาหารที่มีกลิ่นชวนน่ารับประทาน หรืออาจอุ่นอาหารให้มีกลิ่นหอม ก็จะเป็นการกระตุ้นความอยากอาหาร ให้กับสุนัขได้เช่นกัน
ตามปกติสมองส่วนที่ควบคุมความหิวนั้น คือ สมองส่วนไฮโพทาลามัส เมื่อใดที่ร่างกายต้องการอาหาร จะมีสัญญาณจากกระเพาะอาหารมากระตุ้นสมองส่วนนี้ โดยอาจมีการทำงานร่วมกับสารสื่อประสาทและฮอร์โมนของร่างกายด้วย ทำให้เกิดความหิวขึ้น ซึ่งสุนัขที่ป่วย เครียด เหงาหงอย ก็อาจจะมีการรบกวนกลไกของร่างกายดังกล่าวได้ จึงทำให้มีความอยากอาหารลดลงได้ วันนี้เราจะมาดูสาเหตุกันว่าอะไรบ้าง ที่ทำให้สุนัขเบื่ออาหารหรือกินอาหารลดลงกันครับ
1. อาการป่วยทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
แน่นอนสุนัขที่ป่วยย่อมส่งผลต่อการความสามารถในกินอาหารได้ เช่น การมีปัญหาโรคฟันอาจทำให้สุนัขไม่กินอาหาร เพราะเกิดอาการปวดฟัน สุนัขพวกนี้อาจจะยังคงมีความอยากอาหารปกติ แต่ไม่สามารถกินอาหารได้ ซึ่งการกินอาหารที่ลดลงหรือไม่กินนี้ อาจทำให้สุขภาพสุนัขย่ำแย่ลงไปอีก
มีการศึกษาในคน แสดงถึงการได้รับอาหารไม่เพียงพอในระหว่างที่ป่วย ส่งผลให้การรักษาตัวในโรงพยาบาลยาวนานขึ้น และยังส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้การที่สุนัขไม่ได้กินอาหารนาน ๆ จนท้องว่าง อาจมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติที่อื่นตามมาได้ เช่น อาเจียน เป็นต้น หากเราพยายามช่วยป้อนอาหารในปริมาณน้อย ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารไม่ให้เสียไปได้ จึงอยากแนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ที่ทำการรักษา
2 สุนัขหลังผ่าตัด
สุนัขที่อยู่ในระหว่างการพักฟื้นหลังการผ่าตัด อาจกินอาหารลดลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการผ่าตัดที่สุนัขได้รับ การจัดการกับเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และความเจ็บปวดภายหลังจากการผ่าตัด สุนัขที่มีความเจ็บปวดอาจส่งผลให้บางตัวซึมลง และมีความอยากอาหารที่ลดลงตามมาได้ มีรายงานการศึกษาสุนัขบีเกิ้ล 7 ใน 15 ตัวที่ได้รับยา buprenorphine (ยาแก้ปวด) ก่อนการผ่าตัดทำหมันในสุนัขเพศเมีย จะกลับมากินอาหารได้ภายใน 26 ชั่วโมงหลังจากผ่าตัด
3. การปรับเปลี่ยนอาหารใหม่
การปรับเปลี่ยนอาหารใหม่ให้กับสุนัข อาจทำให้ความอยากกินอาหารลดลงได้ โดยเฉพาะในสุนัขที่มีอาการป่วยและต้องปรับมาเป็นอาหารเพื่อใช้ในการรักษาโรคนั้น อาหารเหล่านี้อาจจะไม่น่ากินเท่ากับอาหารเดิมที่สุนัขเคยกินมา ส่งผลให้สุนัขมีปัญหาในการกินอาหารลดลงหรือไม่อยากกินอาหาร ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอาหารใหม่ เจ้าของควรมีการผสมกับอาหารเดิมก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นความอยากอาหารและให้ร่างกายสุนัขได้ปรับตัว อาจใช้เวลาสัก 1-2 สัปดาห์จนสามารถปรับมาเป็นอาหารใหม่ได้อย่างสมบูรณ์
4 การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมของสุนัข อาจทำให้มีความอยากอาหารที่ลดลงได้ เช่น การย้ายที่อยู่ใหม่ หรือเดินทางไปยังสถานที่ที่สุนัขไม่คุ้นเคย จึงทำให้สุนัขหงุดหงิด เครียด จนไม่อยากกินอาหารได้ อาจพบได้ในสุนัขที่นำไปฝากเลี้ยง มักจะกินอาหารลดลง แม้ยังคงให้อาหารแบบเดียวกับที่กินที่บ้านก็ตาม
จะเห็นได้ว่าสุนัขที่มีความอยากอาหารลดลงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัญหาสุขภาพและพฤติกรรม ทั้งนี้เจ้าของควรที่จะสังเกตและคัดแยกความผิดปกติในเบื้องต้นได้ เพราะหากมีปัญหาสุขภาพ ก็ควรพาสุนัขไปพบแพทย์เพื่อรีบทำการรักษาต่อไปครับ
ข้อมูลบางส่วน :
SHARES