โดย: Tonvet
ปรงสาคู พืชมีพิษที่อาจคร่าชีวิตสุนัขได้
รู้จักความเป็นพิษของปรงสาคู และวิธีช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของเราให้พ้นภัย
10 กันยายน 2563 · · อ่าน (5,614)
- ปรงสาคูหรือปรงญี่ปุ่น (Cycas revoluta Thumb) บ้างก็เรียกว่า ปาล์มสาคู (Sago Plam) ถึงแม้จะมีชื่อปาล์ม แต่เป็นพืชตระกูลปรง "ไม่ใช่ปาล์ม" มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ปัจจุบันนิยมนำมาเป็นพืชประดับจัดแต่งสวน
- มีพิษอยู่ในทุกส่วน โดยเฉพาะใน "เมล็ด" จะมีความเข้มข้นของพิษมากสุด โดยแป้งในเมล็ดจะมีพิษที่เรียกว่า ไซคาซิน (Cycasin) พิษนี้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ตับ และระบบประสาทส่วนกลาง โดยสารพิษจะถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อยแล้วได้สารก่อพิษที่เรียกว่า MAM
- หากสุนัขกินปรงสาคูเข้าไปจะเกิดความผิดปกติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยจะเริ่มแสดงอาการภายใน 15 นาทีถึง 3 วัน ซึ่งความเป็นพิษขึ้นกับปริมาณที่รับเข้าไป สุนัขจะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหล ดีซ่าน อ่อนแรง เดินเซ และมีการชัก
- การปฐมพยาบาลต้องรีบทำให้สุนัขอาเจียนออกมาภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป โดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% หรือเบกกิ้งโซดาป้อนให้กับสุนัข แต่ห้ามใช้กับสุนัขที่หมดสติเด็ดขาด หลังจากอาเจียนแล้ว ให้ป้อนผงถ่าน activated charcoal เพื่อดูดซับสารพิษในทางเดินอาหารอีก
เมื่อกล่าวถึงสาคู เราอาจจะนึกถึงขนมสาคูเมนูต่าง ๆ ที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง แต่ความจริงแล้วในอดีต แป้งสาคูที่เรากินนั้น ได้มากจากแป้งที่อยู่ในส่วนของลำต้นสาคู เราจึงเรียกกันจนติดปากว่า แป้งสาคู พืชนี้พบได้ในเขตร้อน มักขึ้นตามพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น พรุ ห้วย หนอง คลอง บึง มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด บ้านเราพบได้มากในภาคใต้ เช่นเดียวกับพืชประดับอย่างปรง ก็มีการนำมาทำแป้งสาคูด้วยเช่นกัน
ปรง จัดเป็นพืชโบราณที่อยู่ในกลุ่มพืชเมล็ดเปลือย มีวิวัฒนาการอยู่ระหว่างชั้นของเฟิร์นกับชั้นของพืชดอก เนื่องจากไม่มีเนื้อไม้ห่อหุ้ม แต่ภายในเมล็ดจะมีแป้งเป็นอาหารให้กับต้นอ่อน แป้งนี้เองที่มีสารพิษเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ ปรงมีหลายชนิด อย่างที่จะพูดถึงในบทความนี้ คือ ปรงสาคูหรือปรงญี่ปุ่น (Cycas revoluta Thumb) บ้างก็เรียกว่า ปาล์มสาคู (Sago Plam) หรือ ปาล์มสาคูกษัตริย์ (king sago plam) ถึงแม้จะมีชื่อปาล์ม แต่เป็นพืชตระกูลปรง "ไม่ใช่ปาล์ม" มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ปัจจุบันนิยมนำมาเป็นพืชประดับจัดแต่งสวน
สามารถเอากิ่ง ราก และเมล็ดมาบดเป็นแป้งไปทำสาคูได้เช่นกัน แต่ว่ามันก็มีพิษอยู่ในทุกส่วน โดยเฉพาะใน "เมล็ด" จะมีความเข้มข้นของพิษมากสุด โดยแป้งจะมีพิษที่เรียกว่า ไซคาซิน (Cycasin) เป็นพิษกลุ่ม azoxyglycoside และ beta-methyl amino-L-alanine (BMAA) อยู่มาก พิษนี้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ตับ และระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นก่อนที่จะนำมารับประทาน จะต้องต้มในน้ำร้อนหรือแช่น้ำทิ้งไว้หลายวันจนกว่าพิษจะสลายไปก่อน
แม้ปรงจะมีความเป็นพิษ แต่ก็เป็นแหล่งอาหารทั้งในคนและปศุสัตว์มาอย่างยาวนาน อย่างในแอฟริกาใต้ คนพื้นเมืองจะนำไปล้างก่อนนำมาอบแห้งเพื่อล้างพิษ ความเป็นพิษมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในมนุษย์ มีรายงานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทำให้เกิดอาการเมา ปวดท้อง ท้องร่วง และกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ในวัวและแกะก็มีรายงานทำให้เบื่ออาหาร ท้องร่วง เสียชีวิต และทำให้เกิดเป็นอัมพาตเช่นกัน ในสุนัขก็มีรายงานการได้รับสารพิษจากปรงสาคูอยู่ไม่น้อย บางตัวกินไปแค่ 2 เมล็ด ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย วันนี้เรามาดูกันครับว่า พิษของปรงสาคูจะส่งผลอย่างไรต่อสุนัขบ้าง
กลไกการเกิดอันตรายของปรงสาคูในสุนัข
ปรงสาคู เป็นพิษอย่างมากในสุนัข (รวมถึงแมวด้วย) หากสุนัขกินเข้าไปจะเกิดความผิดปกติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติภายใน 15 นาทีถึง 3 วัน ซึ่งความเป็นพิษขึ้นกับปริมาณที่รับเข้าไป ส่วนมากสุนัขจะได้รับพิษจากเมล็ด โดยมีกลไกการเกิดโรค เริ่มจากสาร azoxyglycoside (จากแป้งของปรงสาคู) เมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารแล้ว จะถูกเอนไซม์เบต้า-กลูโคซิเดรสที่แบคทีเรียในลำไส้สร้างขึ้นมาย่อย จนได้เป็นสารพิษที่ชื่อ Methyl-azoxymethanal หรือ MAM (จำชื่อนี้ไว้ให้ดีดีนะครับ) ซึ่งทำให้เกิดตับวายอย่างเฉียบพลันได้ มีการทดลองฉีด azoxyglycoside เข้าในเส้นเลือดพบว่า ไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่พอฉีด MAM เข้าเส้นเลือด กลับก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้
นอกจากนี้ MAM ยังถูกดูดซึมผ่านเส้นเลือดเข้าไปในตับ เมื่ออยู่ในตับมันจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการ glucuronidation ได้เป็นสารคอนจูเกต MAM-glucuronide แล้วขับออกจากตับผ่านทางท่อน้ำดี กลับมายังลำไส้เล็กอีกครั้ง ที่ลำไส้เล็ก MAM-glucuronide จะถูกเอนไซม์เบต้า-กลูคูโลนิเดรสย่อย (เป็นเอนไซม์อีกตัวที่สร้างจากแบคทีเรียในลำไส้เช่นกัน) ให้กลับมาเป็นสารพิษ MAM อีกครั้ง ทำให้ยิ่งเพิ่มการสัมผัสความเป็นพิษให้กับร่างกายเข้าไปอีก...ร้ายยิ่งนัก
การทดลองในหนูพบว่า MAM ทำให้เกิดการตายของเซลล์ตับ การบาดเจ็บของไมโตคอนเดรียในตับ และการย่อยสลายของเอนโดพลาสมิกเรติคูลัมในตับ นอกจากนี้ MAM ยังขัดขวางการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ทีนี้เมื่อตับมีปัญหา ก็ทำให้ลดการสังเคราะห์โปรตีน จนทำให้โปรตีนในเลือดต่ำลง อีกทั้งการแข็งตัวของตับยังไปรบกวนการไหลเวียนของน้ำดี จึงลดการดูกซึมของวิตามินเค เพราะว่าวิตามินเคละลายได้ในไขมันและน้ำมัน อีกทั้งยังเก็บสะสมไว้ที่ตับด้วย เมื่อตับมีปัญหาวิตามินเคก็ลดลง ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดตามมาได้
พิษอีกชนิดหนึ่ง คือ beta-methyl amino-L-alanine หรือ BMAA ซึ่งมีอยู่ในแป้งปรงสาคูเช่นกัน พิษนี้ก่อให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาทในหนูทดลอง มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นอัมพาตในขาหลังของโคที่กินปรงเข้าไปด้วย สารพิษนี้จึงเป็นที่มาของอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นในสุนัข
อาการในสุนัขที่ได้รับพิษจากปรงสาคู
แม้จะมีรายงานพิษของปรงสาคูในสุนัขไม่มากนัก แต่สุนัขที่ได้รับพิษจะส่งผลต่อร่างกาย 3 ระบบสำคัญ คือ ระบบทางเดินอาการ ตับ และระบบประสาทส่วนกลาง โดยกว่า 85% มีอาการอาเจียน และ 21% มีอาการทางระบบประสาท นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาการท้องร่วง บางตัวถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มีอาการปวดท้อง ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหล ดีซ่าน อ่อนแรง เดินเซ และมีการชัก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดพยาธิสภาพทางคลินิกด้วย โดยหลังจากได้รับพิษปรงสาคู 24-48 ชั่วโมงถึง 2-9 วันหลังจากกินเข้าไป สุนัขจะมีค่าเอนไซม์ตับ ALT และ ALP สูงขึ้น มีค่าโปรตีนอัลบูมินต่ำลง นอกจากนี้จากการประเมินการแข็งตัวของเลือดยังพบว่า มีค่า prothrombin time สูงขึ้นด้วย ซึ่งบ่งชี้ถึงปัญหาการแข็งตัวของเลือด
การช่วยเหลือสุนัขที่ไดรับพิษจากปรงสาคู
ยังไม่มียาแก้พิษจากปรงสาคูโดยเฉพาะ ส่วนมากจะรักษาไปตามอาการ โดยอาศัยประวัติและการสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับสุนัข ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณที่สุนัขได้รับเข้าไป การกระตุ้นให้สุนัขอาเจียนออกมาจะช่วยลดการดูดซับสารพิษได้ หากสุนัขกินปรงสาคูเข้าไป ให้เจ้าของรีบกระตุ้นให้สุนัขอาเจียนออกมาภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป โดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% หรือเบกกิ้งโซดาป้อนให้กับสุนัข แต่ห้ามใช้กับสุนัขที่หมดสติเด็ดขาด หลังจากอาเจียนออกมาหมดแล้ว จากนั้นให้ป้อนผงถ่าน activated charcoal ขนาด 1-5 กรัมต่อน้ำหนักตัวสุนัข 1 กิโลกรัม ตามเข้าไปเพื่อดูดซับสารพิษในทางเดินอาหารอีกที โดยอาจป้อนซ้ำอีกในขนาด 1-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง (ประมาณ 4-6 ครั้ง) จนครบ 24 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่สุนัขกินปรงสาคูเข้าไปจนเกิดพิษแล้วหรือไม่สามารถกระตุ้นให้สุนัขอาเจียนออกมาได้อย่างปลอดภัย ก็ให้รีบพาไปสัตว์แพทย์เพื่อให้ทำการล้างท้องหรือรักษาตามอาการต่อไป ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับยาระงับชัก ยาระงับอาเจียน ยาบำรุงตับ หรือแม้แต่การให้เลือด (พลาสม่า) และวิตามินเค-1 ขึ้นกับอาการของสุนัข
ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณพิษที่สุนัขได้รับเข้าไป บางตัวได้รับปรงสาคูเพียงแค่ 2 เมล็ดก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ สุนัขแต่ละตัวอาจมีความไวรับต่อพิษปรงสาคูไม่เท่ากัน จากการเก็บข้อมูลโดย NAPCC และ LSU VTH ในสุนัขที่ได้รับพิษจากปรงสาคูจะมีอัตราการเสียชีวิตราว 27-50% แต่จากรายงานของ ASPCA Aniaml poison control center ในสุนัขได้รับพิษจากปรงสาคู 1,398 ราย พบว่าตายไป 33 ราย คิดเป็น 2.4% จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลต่อไป โดยเฉพาะวิธีการกำจัดพิษที่มีความเฉพาะเจาะจง เพื่อยับยั้งการย่อยของเอนไซม์จากแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยลดสารก่อพิษอย่าง MAM แต่เนื่องจากปรงสาคูเป็นพืชประดับ เจ้าของสุนัขที่นำมาปลูก ก็ควรต้องทราบถึงโทษอันตรายและวิธีการช่วยปฐมพยาบาลหากสุนัข (และแมว) เผลอกินเข้าไปเอาไว้ด้วยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลบางส่วน :
https://www.cliniciansbrief.com/article/sago-palm-toxicosis-dogs
https://www.vetfolio.com/learn/article/sago-palm-toxicosis-in-dogs
https://criticalcaredvm.com/sago-palm-toxicosis-toxic-plant/?print=pdf
https://www.earth.com/earthpedia/plant/th/cycas-revoluta/
รูปภาพประกอบ :
https://images.ctfassets.net/440y9b545yd9/3GUg2c9M9wt07TrOT2a6aD/02e0a9f5be53d731ad7dc85e3b1d494f/spring_gardendanger850.jpg
https://images.wagwalkingweb.com/media/articles/horse/sago-palm-poisoning/sago-palm-poisoning.jpg
https://s3.amazonaws.com/petcentral.com/wp-content/uploads/2019/07/11101006/Complete-Guide-to-Poisonous-Plants-for-Dogs-940x503.jpg
https://d36ai2hkxl16us.cloudfront.net/thoughtindustries/image/upload/course-uploads/035a42e0-50d4-5e7c-b848-743674f979c6/enterohepatic-circulation-2.jpeg
https://i1.wp.com/mindyourdirt.com/wp-content/uploads/2014/11/feature1.jpg?fit=1200%2C803&ssl=1
SHARES