โดย: Tonvet
การรักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ทางเลือกใหม่การรักษาสุนัขในปัจจุบัน
การรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพคือหัวใจสำคัญแห่งการรักษา การรักษาแบบมุ่งเป้าคือวิทยาการใหม่ที่ตอบโจทย์
25 กันยายน 2563 · · อ่าน (3,701)
- ปัจจุบันมีการศึกษาความรู้ระดับโมเลกุลมากขึ้นจึงมีการค้นพบการรักษาวิธีใหม่ที่เรียกว่า การรักษาแบบมุ่งเป้า
- มีการนำวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้ามาใช้ในสุนัขหลายโรค เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคมะเร็งเมลาโนมาในช่องปากของสุนัข เป็นต้น

การรักษาสัตว์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทั้งการรักษาทางยาและการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การรักษาทางยานั้น บางครั้งการใช้ยาบางชนิด ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง ปัจจุบันมีการศึกษาความรู้ในระดับโมเลกุลมากขึ้น จึงมีการค้นพบวิธีการรักษาใหม่ๆ โดยเฉพาะ เราเรียกว่าการรักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) เช่น อาจใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ การใช้ตัวยาที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ในระดับโมเลกุล ทำให้เกิดความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดอาการและผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่ตามมาจากการใช้ยาบางชนิดได้ด้วย สำหรับการรักษาแบบมุ่งเป้าในปัจจุบันของสุนัขจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยครับ
การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข
การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขเป็นเรื่องที่น่าหนักใจของสัตวแพทย์และเจ้าของเหมือนกัน การใช้ยาบางอย่างในการรักษาบางครั้งอาจไม่ได้ผล เช่น การรักษาด้วยยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการคันและการอักเสบ ก็อาจมีข้อจำกัดและอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้เช่นกัน หรือการใช้ยาในกลุ่มยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน บางครั้งก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอนัก รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนในสุนัขบางตัวได้ด้วย
ปัจจุบันจึงได้มีการคิดค้นยาเพื่อใช้ในการรักษาที่มุ่งเป้ามากขึ้น โดยเฉพาะอาการคันและการอักเสบที่มักเกิดขึ้นในสุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ไซโตไคน์ จัดเป็นโมเลกุลที่ส่งสัญญาณทางเคมีที่ทำให้เกิดการกระตุ้นการอักเสบขึ้น ไซโตไคน์ที่มีบทบาททำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขก็ได้แก่ interleukin-4 (IL-4), interleukin-6 (IL-6) , interleukin-31 เป็นต้น ดังนั้นอย่าในปัจจุบันที่สามารถออกฤทธิ์มุ่งเป้าหมายไปยังตัว interleukin โดยเฉพาะซึ่งสามารถหยุดและยับยั้งอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขได้
ยา Oclacitinib เป็นหนึ่งในยาที่ใช้ในการรักษาอาการคันในโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข ซึ่งยาตัวนี้เป็นการรักษาแบบพุ่งเป้าโดยทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยยาจะเข้าไปออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์กลุ่ม Janus kinase (JAK) ซึ่งเป็นเอนไซม์ตัวสำคัญในกระบวนการส่งสัญญาณของไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและคัน คือ IL-2, IL-4, IL-6 และ IL-31 สามารถดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็ว สามารถหยุุดอาการคันได้ภายใน 4 ชั่วโมงหลังได้รับยา และคุมอาการได้นานถึง 24 ชั่วโมง พบผลข้างเคียงน้อย ที่มีรายงานอาการข้างเคียงก็อย่างเช่น อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น
การรักษามะเร็งเมลาโนมาในสุนัข
มะเร็งเมลาโนมาเกิดจากการเพิ่มจำนวนที่มากผิดปกติของเซลล์ melanocyte มะเร็งชนิดนี้เกิดได้ที่บริเวณผิวหนังทั่วไปรวมถึงเยื่อเมือกในช่องปากของสุนัข ที่สำคัญยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ด้วย การรักษาในปัจจุบันจะเน้นวิธีการผ่าตัด การใช้รังสีรักษา และการใช้สารเคมีบำบัด แต่ในอนาคตอันใกล้อาจมีการรักษาด้วยวิธีการในระดับโมเลกุล โดยเป็นการรักษาแบบมุ่งเป้าโดยใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด คือ มีการใช้ไทโรซิเนสดีเอ็นเอวัคซีน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง มาฉีดให้กับสุนัขเพื่อหวังผลกระตุ้นให้สุนัขสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา สามารถกำจัดและทำลายเซลล์มะเร็งได้เอง เหมาะแก่การรักษามะเร็งเมลาโนมาในระยะท้ายๆ ที่มีการแพร่กระจายไปยังปอด
กล่าวโดยสรุปก็คือ การรักษาแบบมุ่งเป้านี้เป็นการรักษาที่มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะนำเซลล์ของสัตว์ป่วยแต่ละตัวมาวิเคราะห์ในระดับโมเลกุล เพื่อหาความผิดปกติ และออกแบบตัวยาให้เข้ากับสัตว์ป่วยตัวนั้นๆ หรืออาจจะทำยาที่เข้าไปยับยั้งขบวนการความผิดปกติได้ตั้งแต่เซลล์ต้นกำเนิด ทำให้ช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อเซลล์ปกติอื่นๆ ได้ ก็จะทำให้การรักษานั้นรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลบางส่วน :
รูปภาพประกอบ :
SHARES