โดย: Tonvet
เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) โรคระบาดจากคนสู่สุนัขได้
พบรายงานการติดเชื้อโรคโนโรไวรัสจากคนสู่สุนัขในประเทศไทย
4 มกราคม 2564 · · อ่าน (4,783)- เชื้อโนโรไวรัส (norovirus) เป็นเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องเสียอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเด็ก พบการระบาดได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
- มีการตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสในสุนัข ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ระบาดในคน ในประเทศไทยพบการรายงานในฟาร์มสุนัขแห่งหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี
โนโรไวรัส (norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงในคน โดยเฉพาะในเด็กและคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจจะทำให้เกิดอาการหนักและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เชื้อไวรัสนี้เกิดการระบาดง่ายรวดเร็วและมีความทนทานต่อความร้อน และน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ดี สามารถปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอาหารที่ดื่มและกินเข้าไป จึงทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนอย่างรุนแรง มักพบระบาดจะมากในช่วงฤดูหนาว
สำหรับในสุนัขอาการอาจจะยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ดีสามารถตรวจเจอเชื้อสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในคน จึงถือเป็นโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ทำให้เกิดความกังวลและมีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพในสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นสุนัขได้ มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสโนโรในสุนัขมาแล้วมากมายทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย และที่สำคัญยังมีการตรวจพบเชื้อนี้มาแล้วในสุนัขที่ประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2018 ด้วย
จากรายงานของ สพ.ญ.กมลพรรณ เจริญกุล และคณะ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปี ค.ศ. 2018 มีการตรวจพบเชื้อของไวรัสโนโรจากคนในสุนัข ในคอกสุนัขแห่งหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย หลังจากการเฝ้าระวังการติดเชื้อจากเด็กที่ป่วยด้วยโรคโนโรไวรัส 2 คน (อายุ 8 เดือนและอายุ 2 ปี) ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว 9-10 วันก่อนหน้า คอกสุนัขนี้ประกอบด้วยสุนัขโตเต็มวัย 18 ตัว อาศัยอยู่ร่วมกับเด็กที่ป่วย และมีสุนัข 2 ตัวที่กำลังตั้งท้อง มันถูกเลี้ยงใกล้ชิดกับเด็กที่ป่วยด้วย ต่อมาสุนัขตัวหนึ่งได้คลอดลูกออกมา 6 ตัว ส่วนสุนัขอีกตัวเกิดการตั้งท้องเทียม
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นในบ้านนั้น สุนัขโตเต็มวัย 2 ตัว (จาก 18 ตัว) รวมถึงลูกสุนัข 5 ตัว (จาก 6 ตัว) พบมีการแสดงอาการติดเชื้อไวรัสโนโร คือ มีอาการ ท้องเสียถ่ายเป็นน้ำอย่างเฉียบพลัน ซึ่งภายหลังจากการรักษาแล้ว สุนัขทั้งหมดฟื้นตัวดี ไม่มีสุนัขตัวใดเสียชีวิต ต่อมามีการส่งอุจจาระไปตรวจวิเคราะห์หาสายพันธุ์เชื้อ เมื่อนำมาลำดับจีโนมแล้ว ก็พบตัวอย่างเชื้อทั้งของสุนัขและของคนตรงกัน ระบุว่าเป็นจีโนไทป์ GII-4 Sydney ซึ่งเกี่ยวข้องกับเชื้อที่ติดในมนุษย์ โดยผู้วิจัยได้ทำการตรวจคัดแยกโรคอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง อาทิเช่น โรคพาร์โวไวรัส ชนิดที่ 2 โรคโคโรน่าไวรัส โรคโรต้าไวรัส และโรคไข้หัดสุนัขออกไปแล้ว ซึ่งไม่พบเชื้อของโรคเหล่านี้้ทั้งหมดแต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ว่า อาการป่วยของสุนัขดังกล่าว เกิดจากเชื้อไวรัสโนโรที่ติดจากคนอย่างแน่นอน
แม้อาการป่วยในสุนัขจะไม่รุนแรงเหมือนกับในมนุษย์ หรืออาจจะทำให้เกิดพยาธิสภาพในทางเดินอาหารได้ยากก็ตาม แต่มีข้อกังวลว่า สุนัขที่ได้รับเชื้อนั้น อาจสามารถเผยแพร่เชื้อต่อไปยังมนุษย์คนอื่นและสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้ เนื่องจากสุนัขสามารถแพร่ไวรัสโนโรนี้ผ่านทางอุจจาระได้อย่างน้อยเป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นเจ้าของควรให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัย โดยเฉพาะการจัดการกับอุจจาระของสุนัข ส่วนมนุษย์ที่มีการติดเชื้อไวรัสโนโรควรได้รับการปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมการแพร่เชื้อ เพื่อมิให้มีการแพร่เชื้อไปยังสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข รวมทั้งสัตว์อื่นๆ อีก
ข้อมูลบางส่วน :
รูปภาพประกอบ :
SHARES