โดย: Tonvet
5 เคล็ดลับเลี้ยงน้องลูกหมาตัวใหม่ตามหลักวิทยาศาสตร์
รากฐานที่ดีจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงสุนัขให้มีสุขภาพดีในระยะยาว
28 มกราคม 2564 · · อ่าน (6,007)
- ลูกสุนัขเป็นวัยที่เหมาะกับการฝึกฝนและเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ การเริ่มต้นเลี้ยงดูที่ดี จะส่งผลให้สุนัขมีสุขภาพกายและสุขภาพใจดีในระยะยาว
- สิ่งที่เจ้าของต้องใส่ใจในช่วงเวลานี้เป็นพิเศษประกอบด้วย เรื่องอาหารการกิน เรื่องการฝึกเข้าสังคม เรื่องการสอนให้อยู่แต่ตัวเดียวตามลำพังได้ เรื่องการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสุดท้ายคือ การป้องกันโรคด้วยวัคซีน
หลายคนอาจจะกำลังมองหาลูกสุนัขสักตัวมาเลี้ยง แต่การเลี้ยงลูกสุนัขนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และจดจำในทุก ๆ สิ่ง ซึ่งจะติดตัวสุนัขไปจนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ช่วงอายุที่เราสามารถแยกลูกสุนัขจากแม่สุนัขมาเลี้ยงที่ดีที่สุดก็คืออายุ 8-10 สัปดาห์ขึ้นไป คือ หลังจากหย่านมแล้ว สำหรับสิ่งสำคัญที่จะทำให้สุนัขเติบโต มาเป็นสุนัขที่มีสุขภาพทั้งกายและสุขภาพใจดีนั้น ก็มีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่เจ้าของสามารถทำตามได้ ดังนี้
อาหารการกิน
การตามใจลูกสุนัขให้กินอาหารร่วมโต๊ะหรือกินเศษอาหารคนที่กินเหลือจากโต๊ะตั้งแต่เด็กๆ อาจทำให้สุนัขติดนิสัยกินอาหารคนได้ อีกทั้งอาหารที่คนกินบางชนิด ก็ไม่เหมาะสมกับสุนัข และอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสุนัขได้ ตัวอย่างเช่น ช็อกโกแลต ที่มีสาร theobromine อาจทำให้สุนัขมีอาการอาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง มีอาการชัก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ องุ่นและลูกเกด ก็ทำให้เกิดอาเจียนและท้องเสีย จนถึงทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ถั่วแมคคาเดเมีย ก็ทำให้ สุนัขเกิดอาการกล้ามเนื้อสั่นเกร็งและอ่อนแรงได้ เป็นต้น เจ้าของควรเลือกให้อาหารสำหรับลูกสุนัขที่แบ่งตามขนาดของพันธุ์เป็นหลัก เพราะมีการคำนวณสารอาหารและพลังงานตามความต้องการของลูกสุนัขอย่างเหมาะสมและครบถ้วนแล้ว
การออกกำลังกาย
การพาลูกสุนัขออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรทำให้เหมาะสมกับช่วงวัยและสายพันธุ์ของสุนัขด้วย โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ การออกกำลังกายที่รุนแรงเกินไปนั้น อาจมีผลเสียต่อตัวของสุนัขได้ อย่างปัญหากระดูกและข้อต่อ ซึ่งอาจไปรบกวนการเจริญเติบโตของลูกสุนัขในช่วงแรกได้ และอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาในระยะยาว การออกกำลังกายที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกสุนัขได้ทุกสายพันธุ์เช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายที่น้อยเกินไปหรือไม่เพียงพอ ย่อมทำให้การพัฒนาการของร่างกายสุนัขนั้นไม่สมบูรณ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะพาลูกสุนัขเดินเล่นนั้น คือ อย่างน้อยวันละ 15-20 นาที สำหรับลูกสุนัขที่มีอายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้ออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อยวันละ 30-40 นาที
การพาเข้าสังคม
ช่วงอายุระหว่าง 8 ถึง 12 สัปดาห์เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคม ช่วงอายุนี้เป็นช่วงที่ลูกสุนัขจะจดจำทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี ซึ่งจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิตในอนาคต การพาสุนัขเข้าสังคม ให้ชินกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว รวมถึงคนแปลกหน้าและสัตว์ชนิดอื่น ๆ (แต่หากลูกสุนัขยังฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วน ควรระวังการไปในที่สาธารณะ) รวมทั้งเรื่องต่าง ๆ ให้เขาได้จดจำและคุ้นเคยทั้งภาพ เสียง และกลิ่นทุกประเภทในแง่บวก ช่วยทำให้ลูกสุนัขมีอารมณ์ที่อ่อนโยนและเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ไม่หวาดกลัว เมื่อเขาทำเรื่องที่ดีก็ควรได้รับคำชมเชย อาจเป็นของรางวัลชิ้นเล็ก ๆ อย่าง ขนมสำหรับสุนัข หรือของเล่นที่เขาชื่นชอบ ก็จะช่วยกระตุ้นพฤติกรรมในเชิงบวกของสุนัขได้
การฝึกให้อยู่ตามลำพัง
สุนัขบางตัวที่ถูกแยกออกจากกลุ่มอื่นหรือถูกเลี้ยงให้อยู่ตามลำพัง อาจทำให้เกิดภาวะเครียดได้ ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์สูงขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลจากการถูกแยกหรือถูกทิ้งได้ มีการศึกษาพบว่า สุนัขที่มีประสบการณ์ไม่ดีจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก อาจทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมดังกล่าวได้เช่น ลูกสุนัขที่ต้องแยกเลี้ยงจากแม่ก่อนวัยอันควร สุนัขที่ถูกทิ้งตามลำพัง หรือสุนัขที่ถูกแยกเลี้ยงจนทำให้สุนัขเกิดความไม่สบายใจแล้วจดจำเป็นความรู้สึกไม่ดีในทางลบ ปัญหานี้อาจพบในสุนัขที่ตามติดเจ้าของหรือชอบที่อยู่ใกล้ๆ ได้สัมผัสเจ้าของ จนเกิดภาวะที่มีความผูกพันมากเกินไป สุนัขบางตัวที่มีปัญหาดังกล่าวอาจมีพฤติกรรมทำลายข้าวของ ส่วนใหญ่จะเป็นประตูหรือหน้าต่าง หรืออาจกัดแทะ เฟอร์นิเจอร์ ชุดพรม หรือสิ่งของที่มีกลิ่นตัวของเจ้าของลงเหลืออยู่ เช่น รองเท้า รีโมทคอนโทรล เสื้อผ้า ฯลฯ
ดังนั้นเจ้าของควรฝึกลูกสุนัขให้คุ้นชินกับการอยู่เพียงลำพังได้ โดยอาจจะฝึกด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ เช่น ก่อนออกจากบ้าน 30 นาที ค่อยๆ ปิดวิทยุ โทรทัศน์ ปิดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อให้สุนัขมีอารมณ์สงบก่อนที่เจ้าของจะออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการเล่นหรือพูดคุยกับสุนัขก่อนออกจากบ้าน เพื่อให้สุนัขเรียนรู้ว่า ไม่ว่าเจ้าของจะอยู่บ้านหรือไม่อยู่บ้านก็ไม่มีความแตกต่างกันเลย บางครั้งเจ้าของอาจทำการเดินไปที่ประตู แล้วกลับไปกลับมา ออกนอกบ้านแล้วกลับเข้ามาใหม่ ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อยๆ หรือทำท่าหยิบกุญแจบ้านแล้ววาง ฝึกให้สุนัขคุ้นชินกับการที่เจ้าของออกจากบ้าน ว่าการที่เจ้าของออกจากบ้านนั้น เป็นเรื่องปกติ ประเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ ซึ่งการฝึกดังกล่าวต้องเป็นไปในเชิงบวกเสมอไม่ควรลงโทษสุนัข
การฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนให้สุนัขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันโรคในช่วงปีแรกของชีวิต ลูกสุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกที่อายุ 6-8 สัปดาห์ และฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ทั้งนี้โปรแกรมวัคซีนอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ขึ้นกับความชุกของโรคที่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ ในช่วงแรกนี้ หากลูกสุนัขยังฉีดวัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม จะไม่แนะนำให้ลูกสุนัขสัมผัสกับสุนัขตัวอื่น ๆ ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการป่วยจากการได้รับเชื้อโรคบางอย่าง ทั้งนี้เนื่องจากภูมิคุ้มกันของลูกสุนัขที่ได้จากการฉีดวัคซีน ยังไม่ถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้เต็มที่ จึงไม่ควรพาสุนัขไปเดินในสวนสาธารณะ หรือพาสุนัขไปแหล่งชุมชนที่มีสุนัขรวมตัวอยู่จำนวนมาก
สำหรับใครที่กำลังจะรับลูกสุนัขตัวใหม่มาเลี้ยง ก็ลองนำวิธีการต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ดูนะครับ เป็นเคล็ดลับง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ รับรองได้ว่า ลูกสุนัขของคุณจะมีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีและยืนยาวแน่นอน
รูปภาพประกอบ :
https://www.telegraph.co.uk/content/dam/Pets/spark/royal-canin/happy-puppy-xlarge.jpg
SHARES