โดย: Tonvet

ดูแลยังไงเมื่อหมาเป็น "ฝี"

ฝี(Abscess)เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง เมื่อเป็นแล้วจะต้องรักษาอย่างไรกันนะ

28 ธันวาคม 2564 · · อ่าน (29,021)
16

SHARES


16 shares
  • เคสการเป็นฝีในสัตว์เลี้ยงเป็นเคสที่พบได้บ่อยมาก โดยสามารถเป็นได้ทั้งในน้องหมาและในสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ
 
  • อาการฝีในน้องหมาที่พบได้บ่อยก็คือ ฝีที่มักจะเกิดบริเวณภายนอกร่างกาย ตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ และที่ต่อมข้างก้น


     ในบรรดาเคสที่เข้ามารักษาในคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์นั้น ปัญหาเรื่องฝี แล้วก็แผลที่เกิดจากฝี เป็นเคสที่หมอเจอบ่อยมากเลยล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นในน้องหมา หรือว่าในน้องแมว รวมไปถึงสัตว์อื่น ๆ ด้วย


Dogilike.com :: ดูแลยังไงเมื่อหมาเป็น ฝี


     บางตัวเป็นแล้วเจ้าของรู้เพราะเป็นฝีภายนอก อาการปรากฎชัดเจนสังเกตง่าย แต่ในน้องบางตัวที่เป็นฝีภายในกว่าจะรู้ก็มีอาการค่อนข้างหนักแล้ว

     หลายคนอาจจะสงสัยว่าอยู่ดี ๆ สัตว์เลี้ยงของเราเป็นฝีได้ยังไง หมอจะอธิบายแบบนี้ครับ ...

     ฝีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างเม็ดเลือดขาวเข้ามาจัดการ พวกซากเม็ดเลือดขาวที่ตายรวมถึงเซลล์เนื้อเยื่อที่ตาย ก็เกิดการสะสมกลายเป็นหนอง เมื่อหนองที่สะสมอยู่เมื่อมีจำนวนเพิ่มก็จะเกิดเป็นก้อนนูนโตขึ้นจากผิวของอวัยวะ ซึ่งเรียกว่า ก้อนฝี หากไม่ได้รับการรักษา วันดีคืนดีก้อนฝีนั้นก็จะแตกทำให้เราเห็นหนองออกมา ... เคสฝีแตกนี่สยองไม่ใช่เล่นเลยนะครับ

     ยังมีหลายคนที่เข้าใจว่าถ้าเป็นฝีจะสังเกตได้ง่าย เพราะมันจะบวมเป็นก้อนออกมาตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย แต่มันก็ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไปหรอกครับ เพราะอย่างที่หมอบอกไว้ตอนต้นว่า ฝี มีทั้งฝีภายนอกและภายในที่เจ้าของมักจะสังเกตพบได้ง่าย และพามาหาหมอได้เร็วคือฝีที่มักจะเกิดบริเวณภายนอกร่างกาย ตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ และที่ต่อมข้างก้น

     ส่วนของการรักษานะครับ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อที่ทำการเอาหนองออก และทำการฉีดล้างเข้าไปในโพรงแผล เพื่อเอาเศษซากหนองและเนื้อเยื่อที่ตายออกมาให้หมด และต้องได้รับยาฆ่าเชื้อด้วย  

     น้องหมาที่มีแผลฝี เจ้าของต้องมีวินัยในการดูแลแผลน้องหมาให้มากนะครับ แผลต้องสะอาด โดยการล้างแผลสามารถทำได้ตามขั้นตอนนี้

     - ใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผล ฉีดล้างเข้าไปในแผลเพื่อเอาเศษคราบสิ่งสกปรกออก ทำเช่นนี้ประมาณ 2-3 ครั้งหรือจนกว่าจะสะอาด
     - จากนั้นซับแผลให้แห้ง แล้วทำการใส่ยาฆ่าเชื้อ แผลแบบนี้เราควรต้องปิดแผลไว้ หรืออาจทำการพันแผลไว้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแผลแต่ละตำแหน่ง
     - อย่าลืมสวมปลอกคอกันเลียให้น้องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เลียเอายาสำหรับใช้ภายนอกเข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยป้องกันน้ำลายโดนแผล ทำให้แผลเกิดการติดเชื้อยิ่งขึ้นไปได้ ก็จะไม่หายหรือหายช้าครับ
 
     การทำแผลในช่วงแรกต้องทำกันทุกวันนะครับ และน้องต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ ยาลดการอักเสบ ทั้งแบบกินหรือแบบฉีดด้วย

     ระยะเวลาที่แผลจะหายก็จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และลักษณะของบาดแผล แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็น อายุของสัตว์ ตำแหน่งของบาดแผล การไหลเวียนของเลือดมาเลี้ยงที่แผล การติดเชื้อแทรกซ้อน ภาวะทุโภชนาการของตัวสัตว์ เทคนิคในการทำแผล ฯลฯ

     หมอขอย้ำตรงนี้นะครับว่า การดูแลแผลอย่างถูกต้อง จะช่วยลดการติดเชื้อ ซึ่งก็จะช่วยให้แผลของน้องหายเร็วขึ้นครับ


 

 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์