โดย: Tonvet
10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 1
มาเรียนรู้และเตรียมตัวรับมือกับโรคสำคัญในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ก่อนคิดจะเลี้ยงกันดีกว่า
7 สิงหาคม 2556 · · อ่าน (69,655)
หลายคนอาจมองภาพว่า สุนัขหน้าตาน่าเกรงขามราวกับหมาป่า อย่างน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ คงเป็นสุนัขที่ดูไม่น่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรง่าย ๆ แต่เราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า สุนัขทุกสายพันธุ์ต่างก็มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ก็เช่นกัน ดังนั้น ... ผู้เลี้ยงหรือผู้ที่กำลังตัดสินใจจะเลี้ยงทุกคน จึงจำเป็นจะต้องทราบและเตรียมตัวรับมือกันเอาไว้ ... ซึ่งโรคเด่นที่น้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้มักเป็นกัน ก็ได้แก่
1. ภาวะ Zinc-responsive dermatosis
ภาวะ Zinc-responsive dermatosis เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการที่ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) ไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขกลุ่ม Arctic breeds หรือ Northern breeds โดยเฉพาะกับสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตามปกติแล้วร่างกายของน้องหมาจะใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุสังกะสีในหลาย ๆ ด้าน เช่น การสังเคราะห์โปรตีน การเจริญของเซลล์ การหายของแผล ใช้ในระบบสืบพันธุ์ ใช้ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฯลฯ ซึ่งร่างกายน้องหมาจะดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีที่ได้รับจากอาหารในส่วนของลำไส้เล็ก แต่ในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ จะมีปัญหาในการดูดซึมแร่ธาตุดังกล่าว รวมถึงการที่ร่างกายได้รับกรด phytic acid หรือ phytates จากอาหารที่มีธัญพืชสูงเกินไป ซึ่ง phytic acid เป็นตัวจับหรือคีเลต (Chelate) กับแร่ธาตุสังกะสี หรือได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูงมากเกินไป เพราะแคลเซียมจะไปขัดขวางการดูดซึมสังกะสีในลำไส้ จึงทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุสังกะสีลดลง
อาการที่พบ คือ น้องหมาจะมีขนร่วง ผิวหนังอักเสบ ขนหยาบ มีสะเก็ด รังแค และผิวหนังหนาตัว บริเวณรอบตา รอบจมูก รอบปาก ขา ข้อศอก อวัยวะเพศ และอุ้งเท้า สุนัขบางตัวอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย ถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน มักพบได้ตั้งแต่อายุ 2-6 ปี หรือพบในช่วงที่สุนัขเป็นสัด เกิดความเครียด ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือกำลังตั้งท้องอยู่ ในการวินิจฉัยคุณหมอจะใช้การตัดชิ้นเนื้อ (skin biopsy) ไปตรวจทางพยาธิวิทยา ส่วนการรักษาจะทำการเสริมสังกะสีในรูปแบบกินเข้าไป เช่น Zinc methionine (มีราคาแพง แต่ดูดซึมได้ดี) Zinc gluconate และ Zinc sulfate (มีราคาถูก แต่มีผลข้างเคียงทำให้อาเจียนได้) โดยจะเสริมให้กินทุกวันนาน 4-8 สัปดาห์ หรือบางรายอาจต้องได้รับไปตลอดชีวิตเลยครับ
2. โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต (Laryngeal Paralysis)
โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต เป็นโรคทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ พบได้ตั้งแต่ อายุ 2-6 เดือน จัดเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด (hereditary defect) เรียกว่า Congenital laryngeal paralysis เป็นผลมาจากกระดูกอ่อน (arytenoid cartilages) ของกล่องเสียง ไม่สามารถเปิดและปิดได้ตามปกติในระหว่างที่น้องหมาหายใจ เกิดการหย่อนตัวมาอุดกลั้นทางเดินหายใจส่วนต้น อาการที่พบ คือ สุนัขจะเห่าหรือไอเสียงเปลี่ยน หายใจเสียงดัง (เสียง stridor เสียงที่เกิดจากลมหายใจ ผ่านท่อทางเดินหายใจที่ตีบแคบ) หายใจเข้าลำบาก เหนื่อยง่าย บางครั้งหลังกินอาหารและน้ำ จะทำท่าขาก ๆ หรือสำลัก เหมือนมีอะไรติดคอ น้องหมาที่เป็นเจ้าของจะต้องคอยระมัดระวัง อย่าให้น้องหมาออกกำลังกายหนัก ๆ อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เกิดความเครียด เพราะจะหายใจไม่ทัน บางรายอาจใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัด และเนื่องจากเป็นการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ควบคุมโดยยีนเด่นบนออโตโซม (autosomal dominant) ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่นำพ่อและแม่พันธุ์ในตระกูลมีประวัติป่วยมาผสมครับ
โพสโดย CriticalVetCare สมาชิก Youtube.com
3. โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Dysplasia)
โรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่างสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ก็เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่มักจะเป็นโรคนี้เช่นกัน โรคข้อสะโพกเสื่อมจัดเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่พบได้ทุกช่วงวัย บางรายพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ถึง 1 ปีก็มี โดยมีปัจจัยเสริม ได้แก่ ความอ้วน อยู่บนลื้น ๆ การเสริมแคลเซียมมากเกินไป สุนัขที่โตไวเกินไป ฯลฯ ความผิดปกติที่พบ คือ หัวข้อต่อของกระดูกต้นขาไม่สามารถสวมอยู่ในเบ้าสะโพกได้อย่างสนิท ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของน้องหมา ทำให้ลุกยืนลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก บางตัวจะเจ็บปวด จึงไม่อยากลุกยืนหรือเดินเลยก็มี บางตัวอาจเดินท่าแปลก ๆ ให้เราเห็น
ในการวินิจฉัยคุณหมอจะใช้การคลำตรวจข้อสะโพก สังเกตการยืน การเดิน และการวิ่งของน้องหมา จากนั้นจะทำการเอ็กซเรย์เพื่อดูโครงสร้างและความผิดปกติของข้อสะโพก ซึ่งใช้ประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป ในการรักษานั้น จะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นให้ยาลดปวดและลดอักเสบ การลดน้ำหนักตัว การทำกายภาพโดยเลือกวิธีที่ลดแรงกระทำกับข้อต่อ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เช่น การว่ายน้ำ การเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่งใต้น้ำ ฯลฯ เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อรองรับน้ำหนัก การเสริมสารอาหารบำรุงข้อต่อจำพวกกลูโคซามีนและคอนดรอยติน แต่สำหรับในรายที่เป็นรุนแรง คุณหมออาจพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัดรักษาครับ
การป้องกันโรคนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยไม่นำพ่อและแม่สุนัขที่ภายในตระกูลมีประวัติการเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมมาเป็นพ่อและแม่พันธุ์ ส่วนลูกที่เกิดมาแล้ว เราสามารถชะลอไม่ให้โรคเกิดเร็วขึ้น โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงการอยู่บนพื้นลื่น ไม่เสริมแคลเซียมเกินความจำเป็น ไม่ยืนสองขาหลังหรือกระโดดขึ้นลงที่สูงเกินไปบ่อยๆ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ และหมั่นพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพของข้อสะโพกเป็นระยะๆ ทุก 6 เดือน เป็นอย่างน้อยครับ
4. โรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis, Arthritis)
โรคข้อกระดูกอักเสบหรือโรคข้อต่ออักเสบ บางครั้งเราอาจเรียกโรคนี้ว่า โรคข้อเสื่อม (Degenerative joint disease หรือ DJD) มักพบในสุนัขที่มีอายุมาก จากผลสำรวจของ Orthopedic foundation for animals ที่ได้ทำการสำรวจ Siberian Husky Health Survey พบว่าโรคข้ออักเสบ (Arthritis) นี้ เป็นโรคกระดูกและข้อต่อ (Orthopedic disorders) ที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มสำรวจสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ โดยโรคนี้จะส่งผลกับข้อต่อได้ทุกข้อ โดยเฉพาะข้อสะโพก ข้อศอก ข้อหัวไหล่ หรือแม้แต่ข้อกระดูกสันหลัง
โดยอาการที่พบจะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเกิดกับข้อต่อไหน ซึ่งน้องหมาจะเจ็บปวด ไม่อยากใช้ขา นั่งหรือนอนมากกว่าลุกเดิน ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามปกติ บางครั้งเดินยกขา เดินกะเผลก มีข้อบวม บางตัวอาจซึมลง มีไข้ จับคลำหรือยืดหดข้อแล้วเกิดเสียงกรอบแกรบ (crepitus sound) เป็นต้น คุณหมอจะทำการคลำตรวจร่วมกับการเอ็กซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติบริเวณข้อ สำหรับการรักษาก็มีทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัด ร่วมกับการทำกายภาพ ลดน้ำหนัก และปรับอาหารเสริมสารบำรุงข้อต่อ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดของโรคนี้ได้ใน 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย ครับ
5. โรคไขสันหลังเสื่อม (Degenerative myelopathy)
โรคไขสันหลังเสื่อมนี้พบได้บ่อยในสุนัขอายุมากกว่า 6-9 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของไขสันหลัง เยื่อหุ้มไมอีลิน และแอกซอน (axon) มักพบในตำแหน่งกระดูกสันหลังส่วนอก-สะโพก (thoracolumbar) ทำให้น้องหมามีอาการเดินเซ ขาหลังอ่อนแรง เดินลากขา จนกระทั่งเป็นอัมพาต สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด จากผลการศึกษาพบว่า การกลายพันธุ์ของยีน superoxide dismutase 1 (SOD1) อาจเป็นสาเหตุของโรคไขสันหลังเสื่อมในสุนัขได้
ในการวินิจฉัยอาจเป็นเรื่องยากสักนิด ที่จะสรุปสาเหตุของโรคนี้ได้ในขั้นแรก คุณหมอจะทำการตรวจระบบประสาท และเอ็กซเรย์ เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง โรคมะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท โรคข้อเสื่อม ฯลฯ ในน้องหมาที่เป็นโรคนี้ จะทำได้แค่เพียงรักษาแบบประคองอาการ ร่วมกับการทำกายภาพ เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่นำพ่อและแม่พันธุ์ในตระกูลมีประวัติป่วยด้วยโรคไขสันหลังเสื่อมมาผสมครับ
ปัญหาสุขภาพของน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ สัปดาห์หน้ามาตามต่อว่าอีก 5 โรคที่เหลือนั้น จะมีโรคอะไรบ้าง แต่ละโรคส่งผลกับน้องหมาอย่างไร และเราจะมีวิธีในการรับมือกับโรคเหล่านั้นอย่างไร ต้องขอบอกว่า...ทุก ๆ โรคสำคัญกับน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ไม่แพ้ 5 โรคที่ มุมหมอหมา นำมาเล่าในวันนี้ครับ...
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
www.wallpaperwell.com
www.scottishshc.org.uk
howlingdogalaska.com
www.vetsurgerycentral.com
www.touchnpaws.com
www.ruffrollin.com
www.probioticsmart.com
www.caninegeneticdiseases.net
www.wallppaer.com
SHARES