โดย: Tonvet

ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ

ไขข้อข้องใจ ทำไมชิสุถึงเป็นหมาขี้แพ้ แพ้อะไร แล้วทำไงถึงจะไม่แพ้...มาดูกัน

21 สิงหาคม 2556 · · อ่าน (73,196)
1,172

SHARES


1,172 shares

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


     ร่างกายของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะมนุษย์หรือสุนัข ต่างก็มีระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อทำหน้าที่จดจำและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเหมือน ๆ กัน  ระบบนี้จะเข้ามามีบทบาทเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจน (Antigen) เข้าสู่ร่างกาย ตอนแรกร่างกายจะตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะก่อน ซึ่งก็เปรียบได้กับ การส่งพลทหารเข้าไปรบเป็นแนวหน้า ถ้าเอาไม่อยู่ก็จะเรียกกำลังเสริมที่เฉพาะและชำนาญการกว่า อย่างหน่วยรบพิเศษเข้ามาช่วย ซึ่งก็คือ การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบที่จำเพาะ (Specific immune response) นั่นเอง...

     ...แต่มันก็เป็นธรรมดาของการสู้รบครับ สนามที่เราใช้รบย่อมได้รับความเสียหาย ร่างกายก็เช่นกัน หากแอนติเจนยังคงอยู่ ร่างกายที่ยังมีการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดเวลา ย่อมก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตามมาได้ การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่เป็นโทษต่อร่างกายนี้ เราเรียกว่า ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) หรือ ภาวะภูมิแพ้ (Allergy) ซึ่งเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของพันธุกรรมในน้องหมาตัวนั้น...นั่นเอง

 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ



     เราสามารถแบ่ง ภาวะภูมิแพ้ (Allergy) ออกได้เป็น 4 ประเภท (Type) ตามกลไกการเกิดพยาธิสภาพ คือ ภาวะภูมิไวเกิน ประเภทที่ 1-4 (Hypersensitivity type I, II, III และ IV) ซึ่งทั้งหมดมักจะเกิดหลังจากการที่ร่างกายได้รับแอนติเจนในครั้งที่ 2 เป็นต้นไป หรือเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับแอนติเจนซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วร่างกายกำจัดได้ไม่หมด

     ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมานั้น ส่วนมากมักจะเป็นประเภทที่ I กับ IV โดยภาวะภูมิไวเกิน ประเภทที่ I นั้น เกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดี (Antibody, IgE) ขึ้นมา ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าไปจับกับผิวของมาสเซลล์ (Mast cells) หรือเบโซฟิล (Basophil) เป็นผลทำให้มาสเซลล์หลั่งสารที่เรียกว่า Mediators ออกมาจากแกรนูล ซึ่งตัว Mediators สำคัญที่ทำให้น้องหมาเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น ก็คือ ฮีสตามีน (Histamin) นั่นเอง ส่วนภาวะภูมิไวเกิน ประเภทที่ IV เป็นชนิดที่เกิดช้าว่าภาวะภูมิไวเกิน ชนิดอื่น ๆ คือ เกิดหลังจากได้รับแอนติเจนไปแล้ว 24-72 ชั่วโมง จึงเรียกว่า Delayed type hypersensitivity ครับ  
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


 
     และถ้าจะพูดถึงภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังที่พบในสุนัขพันธุ์ชิสุแล้วก็มีหลายโรคเลยครับ จากผลสำรวจ SHIH TZU Health Survey ของ Orthopedic foundation for animals ในสุนัขพันธุ์ชิสุทั้งสิ้น 353 ตัว พบว่า สุนัขพันธุ์ชิสุมักจะเป็นภูมิแพ้ละอองอากาศมากที่สุด โดยแยกเป็น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล 12.7 % และกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลอีก 1.4% รองลงมาคือ ภูมิแพ้ต่อสารจากแมลง (หมัด) 5.9% ภูมิแพ้อาหาร 5.4% และภูมิแพ้จากการสัมผัส 3.1% ตามลำดับ ซึ่งผลสำรวจอื่น ๆ อาจแตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู พันธุกรรมของกลุ่มประชากรสุนัขที่แตกต่างกันไปครับ

     เพื่อน ๆ คงสงสัยใช่ไหมครับว่า ภาวะภูมิแพ้แต่ละโรคนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร มีวิธีการดูแลและป้องกันอย่างไร ตาม มุมหมอหมา มาดูกันไปที่ละโรคเลยครับ

 

ภูมิแพ้ละอองอากาศ (Atopy, Atopic dermatitis)


     ภูมิแพ้ละอองอากาศหรือภูมิแพ้จากการสูดดม เป็นภาวะภูมิไวเกินประเภทที่ I ซึ่งเกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ผ่านการสูดดมเอาละอองในอากาศหรือสิ่งแวดล้อมเข้าไป นอกจากนี้ยังรวมถึงการรับผ่านการสัมผัสผ่านผิวหนังหรือการกินเข้าไปด้วย ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ (allergens) ดังกล่าวก็มีมากมายหลายอย่าง เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น ขนสัตว์ ซากแมลง สปอร์ของเชื้อรา สะเก็ดผิวหนังของคนและสัตว์ ฯลฯ ซึ่งมักจะมีอนุภาคเล็กจนบางครั้งเราก็อาจมองไม่เห็น สามารถพบอาการได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนถึง 10 ปีหรือมากกว่า แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะพบที่อายุ 6 เดือนถึง 3 ปี
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


 
     โดยน้องหมาที่เป็นจะแสดงอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา ใบหู รักแร้ และหน้าท้อง ตลอดจนแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีรอยแดง ขนร่วง มีสะเก็ด รังแค ผิวหนังแห้งหนาตัว ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ก็อาจจะพบผิวหนังมันเยิ้ม มีกลิ่นตัว หูอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ริมฝีปากอักเสบ (cheilitis) และเกิดผิวหนังอักเสบเป็นหนองตามมาได้ ซึ่งอาจมีปัจจัยของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ

     ในการวินิจฉัยนอกจากซักประวัติและทำการตรวจแยกจากโรคภูมิแพ้อื่น ๆ หรือโรคที่ทำให้เกิดอาการคันอื่น ๆ ออกไปแล้ว คุณหมอจะใช้การฉีดน้ำยาทดสอบที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ชั้นผิวหนัง (Intra-dermal skin test) เพื่อวัดปฏิกิริยาการแพ้จากการได้รับสารต่าง ๆ ซึ่งอาจจะฉีดหลาย ๆ สารตรงบริเวณตำแหน่งข้างลำตัว หรืออาจจะใช้วิธีการตรวจทางซีรั่มวิทยา เพื่อตรวจหาระดับของ allergen-specific IgE ในกระแสเลือด เพื่อจะได้ทราบว่าน้องหมาแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดอะไร
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


     ส่วนการรักษาก็จะยึดหลัก 3 ประการ คือ ลดและควบคุมอาการคันและอาการต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และการบำบัดด้วยวิถีทางภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy หรือ Hyposensitization) โดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่น้องหมาแพ้เข้าใต้ผิวหนัง โดยเริ่มจากปริมาณความเข้มข้นต่ำ ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ ไล่ระดับเพิ่มความเข้มข้นขึ้น จนถึงระดับ maintenance dose โดยโรคนี้อาจจะไม่หายขาด แต่เราสามารถควบคุมอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับน้องหมาได้ จึงแนะนำให้ทำการรักษาไปตลอดชีวิตเลยครับ

     เจ้าของสามารถช่วยน้องหมาได้ ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้สะอาด ติดเครื่องฟอกอากาศ (ถ้าจำเป็น) สำหรับรายที่แพ้ละอองเกสร ให้ระมัดระวังการพาออกไปนอกบ้านเพื่อลดการสัมผัส อาบน้ำโดยเลือกใช้แชมพูสูตร hypoallergenic หรือสูตรที่คุณหมอแนะนำเป็นประจำ เพื่อชำระล้างสารก่อภูมิแพ้ที่อาจอยู่บนตัว และช่วยกำจัดสิ่งสกปรกหรือเชื้อก่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ป้อนยาตามที่คุณหมอจ่ายมา ตลอดจนปรับสูตรอาหารหรือเสริมสารอาหารที่จำเป็นต่อผิวหนังให้น้องหมา อย่างเช่น โอเมก้า-3 (Eicosapentaenoic acid) โอเมก้า -6 (Linoleic acid) เป็นต้น
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


 

ภูมิแพ้ต่อสารจากแมลง (Insect Hypersensitivity)


     ภูมิแพ้ต่อสารจากแมลงหรือภูมิแพ้น้ำลายหมัด (Flea bite allergy) เป็นภาวะภูมิไวเกินที่พบได้ทั้งประเภทที่ I และ IV ซึ่งเกิดจากการสัมผัสน้ำลายของแมลงไม่ว่าจะเป็น หมัด เห็บ และยุง โดยในน้ำลายของแมลงเหล่านี้จะมีสาร hapten ซึ่งเป็น protein antigens ที่เมื่อรวมตัวกับคอลลาเจนที่ผิวหนังของน้องหมาแล้ว จะเกิดการกระตุ้นภาวะภูมิแพ้ขึ้นมา ในบ้านเราซึ่งเป็นเขตสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (หมัดจะชอบอาศัยอยู่ที่ที่มีอุณหภูมิ 18-30 C และความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%) จึงสามารถพบน้องหมาป่วยด้วยโรคนี้แทบทั้งปี ส่วนใหญ่น้องหมามักจะแพ้น้ำลายหมัด โดยอาจเป็นร่วมกับภูมิแพ้ละอองอากาศด้วยก็ได้

     น้องหมาที่เป็นจะแสดงอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณกลางหลังถึงสะโพก และมักจะพบขนร่วงเนื่องจากการที่น้องหมากัดและถูตัวเองกับฝาผนัง ตลอดจนพบรอยโรคอื่น ๆ เช่น สะเก็ด รังแค ผิวหนังแห้งหนาตัวร่วมด้วย ส่วนหากเป็นยุงก็อาจจะพบรอยโรคบริเวณจมูก รอบตา ใบหู และส่วนที่ไม่ค่อยมีขน ในการวินิจฉัยคุณหมอจะทำการซักประวัติการสัมผัสกับแมลง ในกรณีของหมัดซึ่งเป็นปรสิตที่กระโดดไปมา จึงทำให้โอกาสในการตรวจพบหมัดบนตัวสุนัขค่อนข้างยาก บางครั้งการพบมูลของหมัด (Flea-dirt) โดยการสางขนแล้วตรวจดูรอยแดงเหมือนเลือดจากผงดำ ๆ บนกระดาษขาวชื้นก็พอจะทราบได้
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ



     จากนั้นคุณหมอจะทำการทดสอบว่าสัตว์แพ้น้ำลายหมัดจริงหรือไม่ ด้วยวิธี Insect bite trial โดยการใช้ยากำจัดและป้องกันหมัดบนตัวสัตว์เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ด้วยผลิตภัณฑ์หยอดหลัง อย่างเช่น fipronil หรือ selamectin โดยเวลากำจัดจะต้องกำจัดหมัดให้กับสุนัขทุกตัวในบ้าน ไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวน้องหมาที่เป็นโรคภูมิแพ้เท่านั้น ตลอดจนจำกัดหมัดบนตัวน้องแมวและสัตว์อื่น ๆ ด้วย (ปรึกษาคุณหมอก่อน ห้ามใช้ fipronil กับกระต่าย) นอกจากนี้ยังต้องกักบริเวณ ไม่ควรให้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้รับหมัดซ้ำอีก และสัตว์ที่ไม่ได้ป้องกันหมัดก็ไม่ควรจะมาเที่ยวเล่นที่บ้านเราด้วยเช่นกัน รวมถึงหมัดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม พรม เฟอร์นิเจอร์ ก็ควรทำความสะอาดด้วยการดูดฝุ่น ที่นอนน้องหมาก็ควรนำไปซักน้ำร้อน สนามหญ้าหรือบริเวณรอบบ้านที่ก็ควรพ่นน้ำยาฆ่าหมัดด้วย ถ้าภายในหนึ่งเดือนน้องหมา มีอาการดีขึ้นก็แสดงว่าสัตว์แพ้น้ำลายหมัดครับ

     ภูมิแพ้ต่อสารจากแมลงสามารถควบคุมอาการได้ พยากรณ์โรคดี แต่มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก อย่างง่ายดายเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่น้องหมาสัมผัสน้ำลายของแมลงแม้เพียง 1-2 ตัว ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรงได้ ซึ่งต่างกับโรคผิวหนังอักเสบจากการถูกหมัดกัด (Flea bite dermatitis) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิไวเกิน เพียงแต่ถูกหมัดจำนวนมากรุมกัดจนเกิดผิวหนังอักเสบตามมา ดังนั้นการป้องกันในระยะยาว ทั้งการกำจัดแมลงบนตัวน้องหมาและในสิ่งแวดล้อมอย่างประจำและต่อเนื่อง จึงเป็นทางออกที่ดีครับ
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


 

ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy)


     ภูมิแพ้อาหารเป็นภาวะภูมิไวเกินที่พบได้ทั้งประเภทที่ I, III และ IV ซึ่งเกิดจากการร่างกายเข้าใจว่าอาหารหรือสารประกอบในอาหารที่น้องหมากินเข้าไปนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่ โดยอาหารทีน้องหมามักแพ้กันก็ ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อปลา เครื่องในของสัตว์ทุกชนิด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ไก่ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมถึงโปรตีนจากธัญพืชหรือพืชชนิดต่าง ๆ
 
     แต่บางรายอาจแพ้สารเสริมในอาหาร (Food additive) เช่น สารกันบูด สารปรุงแต่งสี กลิ่นและรส ฯลฯ บางรายอาจแพ้แคปซูลของยาที่กินก็ได้ ซึ่งสุนัขสามารถแพ้อาหารหรือมีสารก่อภูมิแพ้ได้มากกว่า 1 ชนิด และบางทีการแพ้อาหารอาจเกิดจากการทำปฏิกิริยา Cross reaction กันระหว่างสารก่อภูมิแพ้ เช่น ระหว่างเนื้อวัวกับนมวัวก็เป็นไปได้ จากการศึกษาพบว่า ภาวะภูมิแพ้อาหารมักเกิดกับสุนัขที่กินอาหารเดิม ๆ มานาน น้องหมาที่แสดงอาการแพ้อาหารแบบปัจจุบันทันด่วน นั้นหมายความว่า ร่างกายของเค้าได้มีความผิดปกติมาสักระยะหนึ่งแล้ว  จนถึงจุดที่ซึ่งร่างกายไม่สามารถทนต่อไปได้อีก จึงเริ่มแสดงอาการออกมาให้เราเห็น
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ



     อาการที่พบส่วนใหญ่น้องหมาจะแสดงอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณรอบปาก ใต้คาง รอบรูทวาร ใบหน้า รักแร้ และโคนขาหนีบ ซึ่งอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ผื่นแดง มีเม็ดตุ่ม ขนร่วงและบางรายอาจมีอาการของผิวหนังอักเสบ ผิวหนังมันเยิ้ม เกิด Hot spot มีตุ่มหนอง หรือมีกลิ่นตัวแรง และเกิดหูอักเสบตามมาได้ สำหรับการวินิจฉัยจะใช้การทดสอบอาหาร (food restriction trial) โดยปรับมาให้กินอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อนหรือเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการ Hydrolysed protein ให้โปรตีนมีขนาดเล็กลง เป็นระยะเวลา 10-12 สัปดาห์ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

     สำหรับการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาเกิดภูมิแพ้อาหารนั้นอีก เพื่อน ๆ สามารถเลือกให้น้องหมากินที่ประกอบด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพดี ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่น้องหมาแพ้ และระมัดระวังแหล่งโปรตีนที่จะนำมาใช้เป็นอาหาร และรวมถึงโปรตีนที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยา Cross reaction กันได้ เช่น เนื้อวัวกับนมวัว เนื้อไก่และไข่ไก่ เป็นต้น ครับ
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


 

ภูมิแพ้จากการสัมผัส (Contact allergic dermatitis)


     ภูมิแพ้จากการสัมผัสเป็นภาวะภูมิไวเกินประเภทที่ IV เป็นผลจากการได้รับสารเคมีก่อภูมิแพ้บางชนิดที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์และวัสดุต่าง ๆ ผ่านการสัมผัสที่ผิวหนัง เช่น ปูนซีเมนต์ คอนกรีต ยางพารา แสตนเลส แชมพู น้ำหอม น้ำมันเครื่อง น้ำยาถูบ้าน พลาสติก สีย้อม วัตถุกันเสีย ฯลฯ ซึ่งสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ จะเข้าไปรวมตัวกับโปรตีนในผิวหนัง แล้วกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ขึ้นมา โดยจะพบอาการหลังจากการสัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
 
     น้องหมาจะแสดงอาการคันรุนแรง มีผื่นแดง ขนร่วง ฯลฯ  ซึ่งบริเวณที่มักจะสัมผัส ก็คือ บริเวณฝ่าเท้า หน้าท้อง และบริเวณที่ไม่ค่อยมีขนปกคลุม ซึงอาการอาจจะคล้ายกับโรคผิวหนังระคายเคืองจากการได้รับสารเคมี (contact irritant dermatitis) แต่ในกรณีของภูมิแพ้นั้น น้องหมาที่เป็นจะแสดงอาการเพียงตัวเดียว ส่วนตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ใช้ผลิตภัณฑ์เดียวกันอาจไม่แสดงอาการ
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


     ในกรณีสงสัยว่าอาจเป็นภูมิแพ้จากการสัมผัส หลังจากตัดสาเหตุประเด็นอื่น ๆ ออกไปแล้ว คุณหมอจะใช้การทดสอบ โดยดูจากประวัติการได้รับสารที่ต้องสงสัย ซึ่งอาจจะใช้วิธีการย้ายน้องหมาออกจากบริเวณที่อยู่เดิม หรืองดการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นเวลา 10-30 วัน ถ้าอาการดีขึ้นแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกภายใน 10 วันหลังกลับไปสัมผัสสารตัวนั้นอีกครั้ง ก็แสดงว่าเป็นภูมิแพ้ หรืออาจใช้วิธีการปิดสารทดสอบมาตรฐานลงบนผิวหนัง เพื่อดูว่าสารเคมีใดที่ทำให้น้องหมาเกิดภูมิแพ้ขึ้นมา ซึ่งการทดสอบวิธีนี้จะทราบผลภายใน 48 ชั่วโมง ถึง 1 สัปดาห์ สำหรับโรคนี้พยากรณ์โรคดีครับ ถ้าทราบว่าแพ้สารเคมีอะไรก็แค่หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารดังกล่าว
 

Dogilike.com :: ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมาพันธุ์ชิสุ


 
     ทั้งหมดนี้ก็เป็นปัญหาภูมิแพ้ทางผิวหนังที่พบได้ในน้องหมาพันธุ์ชิสุ คงจะทำให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกับโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น จะว่าไป...ระบบภูมิคุ้มกันนั้น มุมหนึ่งจะมีประโยชน์ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจก่อให้เกิดโทษได้เช่นกัน การที่เราทราบว่าน้องหมาแพ้อะไรเป็นสิ่งที่ดี เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้น้องหมาต้องเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น แม้บางโรคจะรักษาไม่หาย แต่เราก็สามารถช่วยให้น้องหมามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ครับ




 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/


เนื้อหาอ้างอิงบางส่วนจาก:
วิน เชยชมศรี. บทที่ 9 ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivities).
ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สพ.ญ.ชเนตตี จันทิก ตรวจโรคผิวหนังสุนัขและแมว แนว STEP BY STEP
พิมพ์ครั้งที่ 1:พฤษภาคม 2550
http://www.offa.org/SurveySummary.php?b=ACD&q=ALL&s=82
http://www.merckmanuals.com/vet/integumentary_system/


รูปภาพประกอบ:
www.blackunicorn.deviantart.com
www.imagejuicy.com
www.wenliang.myweb.uga.edu
www.nevetdermatology.com
www.doggiebowties.com
www.leicesterskinvet.com
www.pets.webmd.com
www.af-za.facebook.com
www.columbiamosquitosquad.wordpress.com
www.alettertomydog.com
www.imagejuicy.com
www.leicesterskinvet.com
www.kootation.com