โดย: Tonvet
โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1
มาศึกษาโรคสำคัญในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกันก่อนดีกว่า
5 มีนาคม 2557 · · อ่าน (84,852)
สุนัขทุกพันธุ์ต่างก็มีโรคที่พบบ่อยหรือโรคประจำพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น น้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian) ก็เช่นกัน สัปดาห์นี้เอาใจสาวกพลพรรครักปอมฯ มุมหมอหมา มีโรคที่ต้องระวังในน้องหมาพันธุ์นี้มาฝากครับ สำหรับตอนแรกนี้ เรามาเริ่มกันด้วยโรคที่สำคัญและพบได้บ่อยมาก ๆ ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนกันก่อน พร้อมแล้วเรามาลุยกันเลย...
โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation) เกิดจาการที่สะบ้าหรือลูกสะบ้า (patellar) ซึ่งปกติจะอยู่บนร่อง trochlea โดยมีเอ็นรวมของกลุ่มกล้ามเนื้อ quadriceps ที่เรียกว่า patellar ligament พาดผ่านคอยกักเก็บลูกสะบ้าไว้ เกิดการเคลื่อนหลุดออกมาจากร่องดังกล่าว โดยมักจะเคลื่อนออกไปทางด้านใน (medial) มากกว่าเคลื่อนออกไปทางด้านนอก (lateral) ส่วนใหญ่จะพบในสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่
จากการเก็บข้อมูลของ Orthopedic Foundation for Animals หรือ O.F.A. ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1974 จนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 พบว่า สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุด ในขณะที่บ้านเรา จากการศึกษาย้อนหลังปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อนในสุนัข ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 จำนวน 63 ตัว ของ รศ.น.สพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี และคณะ พบว่าอันดับหนึ่งเป็นสุนัขพันธุ์พูเดิ้ล แต่รองมาก็ยังเป็นสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนอยู่
สอดคล้องกับการศึกษาของ รศ.น.สพ.ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาความชุกและปัจจัยการเกิดโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขเขตจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2011 ที่เข้ารับการตรวจในคลินิกออร์โธปิดิกส์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 ถึงเดือน พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ก็พบว่าสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนก็ป่วยเป็นโรคนี้สูงเป็นอันดับสอง รองจากสุนัขพันธุ์พูเดิ้ลเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าโรคสะบ้าเคลื่อนนี้ เป็นโรคที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนทั้งในไทยและต่างประเทศเลยทีเดียว
ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคสะบ้าเคลื่อนในระดับที่รุนแรง จะแสดงอาการร้องปวด เดินยกขา ขาบิดจนโก่งงอ ไม่สามารถเหยียดข้อเข่าและลงน้ำหนักที่เท้าได้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และทำกายภาพบำบัดนานนับเดือนกว่าจะกลับมาใช้ขาได้ตามปกติ ส่วนในรายที่ยังเป็นระดับไม่รุนแรง เจ้าของอาจสังเกตไม่พบความผิดปกติดังกล่าว แต่อย่าเพิ่งชะล่าไปใจนะครับ เพื่อเป็นการป้องกัน สิ่งที่เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ทุกคนควรต้องปฏิบัติ เพื่อชะลอให้ให้โรคพัฒนารุนแรงขึ้น สามารถทำได้ ดังนี้ครับ
1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือเล่นที่อาจส่งผลต่อกระดูกข้อเข่า เช่น การกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ที่สูง หรือวิ่งขึ้นลงบันไดเร็วๆ การเล่นแรงๆ ที่อาจไปกระทบกระแทกข้อเข่า
2. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือการเดินบนพื้นลื่นๆ เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นปาร์เก้ พื้นหินอ่อน ฯลฯ
3. พยายามตัดขนที่ฝ่าเท้าให้เรียบ อย่าให้ยาวจนมาปกคุลมฝ่าเท้า เพราะจะทำให้ลื่นเวลาก้าวเดิน คล้ายกับการที่คนเราสวมถุงเท้าแล้วเดินบนพื้นลื่นๆ
4. ต้องควรคุมน้ำหนักอย่าให้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะจะส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักมากเกินไป
5. เลือกอาหารที่มีส่วนผสมของสารบำรุงข้อ เช่น กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อช่วยซ่อมแซมและรักษาผิวข้อ และเพิ่มการสร้างน้ำไขข้อ ซึ่งเป็นสารหล่อลื่นช่วยลดแรงกระแทก ป้องกันโรคข้อเสื่อมที่จะตามมา สารเสริมอื่นๆ ได้แก่ พวกโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบของข้อ หรือสารต่อต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ฯลฯ ช่วยป้องการการเสื่อมของกระดูกและข้อได้ ทั้งนี้หากจะเสริมอะไรควรปรึกษาคุณหมอก่อนก็จะดีครับ
6. ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น พาเดินหรือวิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรงช่วยในการรองรับน้ำหนักและทำให้การเคลื่อนไหวมั่นคงยิ่งขึ้น เจ้าของที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์เล็กอย่างปอมเมอเรเนียน อาจซื้อสระยางแบบเป่าลมของเด็ก มาให้น้องหมาหัดว่ายน้ำก็ได้ครับ
7. ควรพาไปตรวจกับคุณหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้แสดงอาการแล้วค่อยพาไป อย่างที่บอกว่าหากยังเป็นไม่รุนแรง การรักษาก็จะง่ายกว่า การฟื้นตัวภายหลังการรักษาก็จะง่ายกว่าครับ
โรคสะบ้าเคลื่อน จัดเป็นโรคที่พบบ่อยในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ซึ่งอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุก็ได้ ในรายที่เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด มักพบอาการประมาณช่วงอายุ 6-24 เดือน สำหรับเพื่อน ๆ ที่ สนใจศึกษาข้อมูลของโรคนี้อย่างละเอียด สามารถเข้าไปอ่านได้ใน โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก ครับ
โรคหลอดลมตีบ (Tracheal collapse)
หลอดลม (Trachea) เป็นอวัยวะเชื่อมต่อจากคอหอยไปถึงปอด คล้ายท่อลม แต่ท่อลมนี้จะมีโครงสร้างเป็นส่วนแข็งที่เรียกว่า กระดูกอ่อน (cartilage rings) รูปตัวซีครึ่งหนึ่ง กับส่วนอ่อนที่เป็นกล้ามเนื้อ tracheal muscle อีกครึ่งหนึ่ง พอโครงสร้างที่เป็นส่วนแข็งเกิดอ่อนตัวลง ทำให้ผิดรูปไป ส่งผลให้ส่วนอ่อน ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อยุบตัวลงมาปิดกั้นทางไหลผ่านของลม ท่อลมก็เลยตีบแคบ เกิดเป็นโรคหลอดลมตีบ (Tracheal collapse) ตามมา
โรคนี้พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก ช่วงอายุ 4-6 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในรายที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน น้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนก็เป็นหนึ่งในพันธุ์สุนัขที่ พบว่าป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมากเช่นกัน จากการสำรวจข้อมูลของ Orthopedic Foundation for Animals หรือ O.F.A. ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนจำนวน 999 ตัว พบว่าป่วยเป็นโรคนี้อยู่ 102 ตัว คิดเป็น 10.21% เลยทีเดียว
ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคหลอดลมตีบนั้น เจ้าของจะพบว่าน้องหมามีอาการไอ โดยเสียงที่ไอนั้น จะมีเสียงดังก้องกังวาน คล้ายเสียง “ห่านร้อง (Goose-honking)” โดยเฉพาะตอนเวลาตื่นเต้น หลังออกกำลังกาย มีสายปลอกคอไปกดหลอดลม หรือแม้แต่หลังกินน้ำและอาหารก็สามารถเกิดการไอได้เช่นกัน บางรายจะพบว่ามีการหายใจลำบาก ทำให้เวลาในการหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้งจะนานกว่าปกติ เวลาตื่นเต้นหรือหายใจไม่ทัน ลิ้นก็อาจจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง (Cyanosis) ได้ครับ
สำหรับการรักษาส่วนใหญ่จะให้การรักษาทางยาเป็นหลัก ร่วมกับการจัดการอื่น ๆ เช่น การลดน้ำหนัก ซึ่งหากเราป้องกันไม่ให้สุนัขมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานได้ ก็จะสามารถช่วยลดอาการได้ เพราะ เพราะเมื่อสุนัขอ้วน ความจุช่องอกลดลง มีไขมันไปเบียดหลอดลม ก็สามารถทำให้หลอดลมตีบได้ นอกจากนี้สามารถช่วยทำให้โครงสร้างหลอดลมในส่วนกระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น ด้วยการเสริมกลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต รวมถึงเวลาสวมปลอกคออย่าสวมแน่นเกินไป เวลาจูงเดินให้ใช้สายแบบที่รัดอกจะดีกว่า เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของโรคนี้เพิ่มเติมได้ใน อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 2 ครับ
โรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Alopecia X)
โรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Alopecia X) หรือที่บางคนอาจจะคุ้นกันในชื่อว่า โรค Black skin disease (โรคผิวหนังสีดำ) เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยมากในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน เรียกได้ว่าแทบจะคู่กันเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อเอ่ยถึงโรคนี้เมื่อไร ก็ต้องนึกถึงสุนัขพันธุ์นี้ตามมาคู่กันเมื่อนั้น
สาเหตุแท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการถ่ายทอดโดยยีนด้อยบนโครโมโซมเอ็กซ์ (X-linked recessive trait) ซึ่งจะได้รับมาจากแม่หมาสุนัข หรือเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth hormone) ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ฯลฯ หรือเกิดจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์บางชนิด เช่น 11β-hydroxylase, 21-hydroxylase, หรือ 3β-hydroxysteroid dehydrogenase เป็นผลทำให้เกิดการสะสมของฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) ทำให้มีการตั้งชื่อโรคนี้เอาไว้มากมาย ตามสาเหตุที่คาดว่าจะทำให้เกิดโรคดังกล่าว
การวินิจฉัยโรคนี้จำเป็นต้องทำการตรวจโรคผิวหนังหลายอย่าง เพื่อค่อย ๆ ตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น การพัฒนาของต่อมขนผิดปกติ (Follicular dysplasia) ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism) โรคครูซซิ่ง ซินโดรม (Cushing’s syndrome) ฯลฯ ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางรักษาโรคนี้ที่จำเพาะ คุณหมออาจพิจารณาให้ยาหรือฮอร์โมนบางชนิด ในรายที่ตรวจพบความผิดปกติ และบางครั้งคุณหมออาจแนะนำให้ทำหมัน ซึ่งพบว่าสุนัขที่ป่วยประมาณ 75% ขนจะกลับมาขึ้นดังเดิม แต่ก็มีสุนัขบางตัวที่ทำหมันไปแล้วประมาณ 1-3 ปี จะกลับมามีขนร่วงได้อีก โดยเฉพาะในสุนัขเพศผู้
ความจริงแล้วสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของน้องหมา เพียงแต่ทำให้น้องหมาขนร่วงบริเวณช่วงท้ายของลำตัว หาง สะโพก และอาจลามมาถึงช่วงบริเวณท้ายทอย ในลักษณะที่ร่วงสมมาตรทั้งสองข้าง และผิวหนังบริเวณที่ขนร่วงนั้นจะกลายเป็นสีดำ เนื่องจากเกิดการสะสมของเม็ดสีมากขึ้น (Hyperpigmentation) ทำให้ดูแล้วไม่สวย แต่หากเจ้าของไม่เคร่งเรื่องความสวยงามมากนัก และสุนัขได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติอะไร อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาก็ได้ครับ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของโรคนี้เพิ่มเติมได้ใน Alopecia X โรคขนร่วงประหลาดในสุนัข ครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะพอหอมปากหอมคอกับ 3 โรคแรกกันไปแล้ว แต่ปัญหาสุขภาพของน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ สัปดาห์หน้ามาตามต่อว่าโรคที่เหลือนั้น จะมีโรคอะไรบ้าง แต่ละโรคส่งผลกับน้องหมาอย่างไร และเราจะมีวิธีในการรับมือกับโรคเหล่านั้นอย่างไร ต้องขอบอกว่า...ทุก ๆ โรคสำคัญกับน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ไม่แพ้ 3 โรคที่ มุมหมอหมา นำมาเล่าในวันนี้แน่นอนครับ...
บทความโดย:หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Korakot Nganvongpanit, Terdsak Yano. 2011. Prevalence of and Risk Factors of Patellar Luxation in Dogs in Chiang Mai, Thailand, during the Years 2006–2011.Thai J Vet Med. 2011. 41(4): 449-454.
นริศ เต็งชัยศรี ชัยกร ฐิติญาณพร และ เจดีย์ เต็มวิจิตร. 2549. การศึกษาย้อนหลังปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อนในสุนัข.การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 44 : สาขาสัตวแพทยศาสตร์.กรุงเทพฯ. หน้า 427-432
Small animal Dermatology: A color atlas therapeutic guide. 2006, Elsevier Inc.
www.offa.org/stats_pl.html
www.offa.org/SurveySummary.php?b=ACD&q=ALL&s=47
รูปภาพประกอบ:
www.wallsfeed.com
www.offa.org/stats_pl.html
www.torringtonorthopaedics.com
www.ilona-andrews.com
www.washingtonpost.com
www.spca.bc.ca
www.pommymommy.com
www.de.wikipedia.org
www.dailymail.co.uk
SHARES