โดย: Tonvet

โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

มาศึกษาโรคสำคัญในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกันก่อนดีกว่า

5 มีนาคม 2557 · · อ่าน (83,338)
385

SHARES


385 shares

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

     สุนัขทุกพันธุ์ต่างก็มีโรคที่พบบ่อยหรือโรคประจำพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น น้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian) ก็เช่นกัน สัปดาห์นี้เอาใจสาวกพลพรรครักปอมฯ มุมหมอหมา มีโรคที่ต้องระวังในน้องหมาพันธุ์นี้มาฝากครับ สำหรับตอนแรกนี้ เรามาเริ่มกันด้วยโรคที่สำคัญและพบได้บ่อยมาก ๆ ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนกันก่อน พร้อมแล้วเรามาลุยกันเลย...  

 

โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)

 
     โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation) เกิดจาการที่สะบ้าหรือลูกสะบ้า (patellar) ซึ่งปกติจะอยู่บนร่อง trochlea โดยมีเอ็นรวมของกลุ่มกล้ามเนื้อ quadriceps ที่เรียกว่า patellar ligament พาดผ่านคอยกักเก็บลูกสะบ้าไว้ เกิดการเคลื่อนหลุดออกมาจากร่องดังกล่าว โดยมักจะเคลื่อนออกไปทางด้านใน (medial) มากกว่าเคลื่อนออกไปทางด้านนอก (lateral) ส่วนใหญ่จะพบในสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ 
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

    
     จากการเก็บข้อมูลของ Orthopedic Foundation for Animals หรือ O.F.A. ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1974 จนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 พบว่า สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุด ในขณะที่บ้านเรา จากการศึกษาย้อนหลังปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อนในสุนัข ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 จำนวน 63 ตัว ของ รศ.น.สพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี และคณะ พบว่าอันดับหนึ่งเป็นสุนัขพันธุ์พูเดิ้ล แต่รองมาก็ยังเป็นสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนอยู่
 
     สอดคล้องกับการศึกษาของ รศ.น.สพ.ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาความชุกและปัจจัยการเกิดโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขเขตจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2011 ที่เข้ารับการตรวจในคลินิกออร์โธปิดิกส์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 ถึงเดือน พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ก็พบว่าสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนก็ป่วยเป็นโรคนี้สูงเป็นอันดับสอง รองจากสุนัขพันธุ์พูเดิ้ลเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าโรคสะบ้าเคลื่อนนี้ เป็นโรคที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนทั้งในไทยและต่างประเทศเลยทีเดียว

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

    
     ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคสะบ้าเคลื่อนในระดับที่รุนแรง จะแสดงอาการร้องปวด เดินยกขา ขาบิดจนโก่งงอ ไม่สามารถเหยียดข้อเข่าและลงน้ำหนักที่เท้าได้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และทำกายภาพบำบัดนานนับเดือนกว่าจะกลับมาใช้ขาได้ตามปกติ ส่วนในรายที่ยังเป็นระดับไม่รุนแรง เจ้าของอาจสังเกตไม่พบความผิดปกติดังกล่าว แต่อย่าเพิ่งชะล่าไปใจนะครับ เพื่อเป็นการป้องกัน สิ่งที่เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ทุกคนควรต้องปฏิบัติ เพื่อชะลอให้ให้โรคพัฒนารุนแรงขึ้น สามารถทำได้ ดังนี้ครับ
 
     1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือเล่นที่อาจส่งผลต่อกระดูกข้อเข่า เช่น การกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ที่สูง หรือวิ่งขึ้นลงบันไดเร็วๆ การเล่นแรงๆ ที่อาจไปกระทบกระแทกข้อเข่า

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

    
     2. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือการเดินบนพื้นลื่นๆ เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นปาร์เก้ พื้นหินอ่อน ฯลฯ
     3. พยายามตัดขนที่ฝ่าเท้าให้เรียบ อย่าให้ยาวจนมาปกคุลมฝ่าเท้า เพราะจะทำให้ลื่นเวลาก้าวเดิน คล้ายกับการที่คนเราสวมถุงเท้าแล้วเดินบนพื้นลื่นๆ
     4. ต้องควรคุมน้ำหนักอย่าให้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะจะส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักมากเกินไป
     5. เลือกอาหารที่มีส่วนผสมของสารบำรุงข้อ เช่น กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อช่วยซ่อมแซมและรักษาผิวข้อ และเพิ่มการสร้างน้ำไขข้อ ซึ่งเป็นสารหล่อลื่นช่วยลดแรงกระแทก ป้องกันโรคข้อเสื่อมที่จะตามมา สารเสริมอื่นๆ ได้แก่ พวกโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบของข้อ หรือสารต่อต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ฯลฯ ช่วยป้องการการเสื่อมของกระดูกและข้อได้ ทั้งนี้หากจะเสริมอะไรควรปรึกษาคุณหมอก่อนก็จะดีครับ

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

    
     6. ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น พาเดินหรือวิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรงช่วยในการรองรับน้ำหนักและทำให้การเคลื่อนไหวมั่นคงยิ่งขึ้น เจ้าของที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์เล็กอย่างปอมเมอเรเนียน อาจซื้อสระยางแบบเป่าลมของเด็ก มาให้น้องหมาหัดว่ายน้ำก็ได้ครับ
     7. ควรพาไปตรวจกับคุณหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้แสดงอาการแล้วค่อยพาไป อย่างที่บอกว่าหากยังเป็นไม่รุนแรง การรักษาก็จะง่ายกว่า การฟื้นตัวภายหลังการรักษาก็จะง่ายกว่าครับ
 
     โรคสะบ้าเคลื่อน จัดเป็นโรคที่พบบ่อยในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ซึ่งอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุก็ได้ ในรายที่เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด มักพบอาการประมาณช่วงอายุ 6-24 เดือน สำหรับเพื่อน ๆ ที่ สนใจศึกษาข้อมูลของโรคนี้อย่างละเอียด สามารถเข้าไปอ่านได้ใน โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก ครับ 
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1


 

โรคหลอดลมตีบ (Tracheal collapse)

 
     หลอดลม (Trachea) เป็นอวัยวะเชื่อมต่อจากคอหอยไปถึงปอด คล้ายท่อลม แต่ท่อลมนี้จะมีโครงสร้างเป็นส่วนแข็งที่เรียกว่า กระดูกอ่อน (cartilage rings) รูปตัวซีครึ่งหนึ่ง กับส่วนอ่อนที่เป็นกล้ามเนื้อ tracheal muscle อีกครึ่งหนึ่ง พอโครงสร้างที่เป็นส่วนแข็งเกิดอ่อนตัวลง ทำให้ผิดรูปไป ส่งผลให้ส่วนอ่อน ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อยุบตัวลงมาปิดกั้นทางไหลผ่านของลม ท่อลมก็เลยตีบแคบ เกิดเป็นโรคหลอดลมตีบ (Tracheal collapse) ตามมา
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

    
     โรคนี้พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก ช่วงอายุ 4-6 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในรายที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน น้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนก็เป็นหนึ่งในพันธุ์สุนัขที่ พบว่าป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมากเช่นกัน จากการสำรวจข้อมูลของ Orthopedic Foundation for Animals หรือ O.F.A. ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนจำนวน 999 ตัว พบว่าป่วยเป็นโรคนี้อยู่ 102 ตัว คิดเป็น 10.21% เลยทีเดียว
 
     ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคหลอดลมตีบนั้น เจ้าของจะพบว่าน้องหมามีอาการไอ โดยเสียงที่ไอนั้น จะมีเสียงดังก้องกังวาน คล้ายเสียง “ห่านร้อง  (Goose-honking)” โดยเฉพาะตอนเวลาตื่นเต้น หลังออกกำลังกาย มีสายปลอกคอไปกดหลอดลม หรือแม้แต่หลังกินน้ำและอาหารก็สามารถเกิดการไอได้เช่นกัน บางรายจะพบว่ามีการหายใจลำบาก ทำให้เวลาในการหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้งจะนานกว่าปกติ เวลาตื่นเต้นหรือหายใจไม่ทัน ลิ้นก็อาจจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง (Cyanosis) ได้ครับ
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

 
     สำหรับการรักษาส่วนใหญ่จะให้การรักษาทางยาเป็นหลัก ร่วมกับการจัดการอื่น ๆ เช่น การลดน้ำหนัก ซึ่งหากเราป้องกันไม่ให้สุนัขมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานได้ ก็จะสามารถช่วยลดอาการได้ เพราะ  เพราะเมื่อสุนัขอ้วน ความจุช่องอกลดลง มีไขมันไปเบียดหลอดลม ก็สามารถทำให้หลอดลมตีบได้ นอกจากนี้สามารถช่วยทำให้โครงสร้างหลอดลมในส่วนกระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น ด้วยการเสริมกลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต รวมถึงเวลาสวมปลอกคออย่าสวมแน่นเกินไป เวลาจูงเดินให้ใช้สายแบบที่รัดอกจะดีกว่า เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของโรคนี้เพิ่มเติมได้ใน อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 2 ครับ
 
 

โรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Alopecia X) 

 
     โรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Alopecia X) หรือที่บางคนอาจจะคุ้นกันในชื่อว่า โรค Black skin disease (โรคผิวหนังสีดำ) เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยมากในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน เรียกได้ว่าแทบจะคู่กันเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อเอ่ยถึงโรคนี้เมื่อไร ก็ต้องนึกถึงสุนัขพันธุ์นี้ตามมาคู่กันเมื่อนั้น 
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

 
     สาเหตุแท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการถ่ายทอดโดยยีนด้อยบนโครโมโซมเอ็กซ์ (X-linked recessive trait) ซึ่งจะได้รับมาจากแม่หมาสุนัข หรือเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth hormone) ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ฯลฯ หรือเกิดจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์บางชนิด เช่น 11β-hydroxylase, 21-hydroxylase, หรือ 3β-hydroxysteroid dehydrogenase เป็นผลทำให้เกิดการสะสมของฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) ทำให้มีการตั้งชื่อโรคนี้เอาไว้มากมาย ตามสาเหตุที่คาดว่าจะทำให้เกิดโรคดังกล่าว
 
     การวินิจฉัยโรคนี้จำเป็นต้องทำการตรวจโรคผิวหนังหลายอย่าง เพื่อค่อย ๆ ตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น การพัฒนาของต่อมขนผิดปกติ (Follicular dysplasia) ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism) โรคครูซซิ่ง ซินโดรม (Cushing’s syndrome) ฯลฯ ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางรักษาโรคนี้ที่จำเพาะ คุณหมออาจพิจารณาให้ยาหรือฮอร์โมนบางชนิด ในรายที่ตรวจพบความผิดปกติ และบางครั้งคุณหมออาจแนะนำให้ทำหมัน ซึ่งพบว่าสุนัขที่ป่วยประมาณ 75% ขนจะกลับมาขึ้นดังเดิม แต่ก็มีสุนัขบางตัวที่ทำหมันไปแล้วประมาณ 1-3 ปี จะกลับมามีขนร่วงได้อีก โดยเฉพาะในสุนัขเพศผู้ 
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

 
     ความจริงแล้วสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของน้องหมา เพียงแต่ทำให้น้องหมาขนร่วงบริเวณช่วงท้ายของลำตัว หาง สะโพก และอาจลามมาถึงช่วงบริเวณท้ายทอย ในลักษณะที่ร่วงสมมาตรทั้งสองข้าง และผิวหนังบริเวณที่ขนร่วงนั้นจะกลายเป็นสีดำ เนื่องจากเกิดการสะสมของเม็ดสีมากขึ้น (Hyperpigmentation) ทำให้ดูแล้วไม่สวย แต่หากเจ้าของไม่เคร่งเรื่องความสวยงามมากนัก และสุนัขได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติอะไร อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาก็ได้ครับ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของโรคนี้เพิ่มเติมได้ใน Alopecia X โรคขนร่วงประหลาดในสุนัข ครับ
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 1

 
     เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะพอหอมปากหอมคอกับ 3 โรคแรกกันไปแล้ว แต่ปัญหาสุขภาพของน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ สัปดาห์หน้ามาตามต่อว่าโรคที่เหลือนั้น จะมีโรคอะไรบ้าง แต่ละโรคส่งผลกับน้องหมาอย่างไร และเราจะมีวิธีในการรับมือกับโรคเหล่านั้นอย่างไร ต้องขอบอกว่า...ทุก ๆ โรคสำคัญกับน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ไม่แพ้ 3 โรคที่ มุมหมอหมา นำมาเล่าในวันนี้แน่นอนครับ...
 
 
 
 
บทความโดย:หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Korakot Nganvongpanit, Terdsak Yano. 2011. Prevalence of and Risk Factors of Patellar Luxation in Dogs in Chiang Mai, Thailand, during the Years 2006–2011.Thai J Vet Med. 2011. 41(4): 449-454.
นริศ เต็งชัยศรี ชัยกร ฐิติญาณพร และ เจดีย์ เต็มวิจิตร. 2549. การศึกษาย้อนหลังปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อนในสุนัข.การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 44 : สาขาสัตวแพทยศาสตร์.กรุงเทพฯ. หน้า 427-432
Small animal Dermatology: A color atlas therapeutic guide. 2006, Elsevier Inc.
www.offa.org/stats_pl.html
www.offa.org/SurveySummary.php?b=ACD&q=ALL&s=47
 
 
รูปภาพประกอบ:
www.wallsfeed.com
www.offa.org/stats_pl.html
www.torringtonorthopaedics.com
www.ilona-andrews.com
www.washingtonpost.com
www.spca.bc.ca
www.pommymommy.com
www.de.wikipedia.org
www.dailymail.co.uk