โดย: Tonvet
ชีวิตสุดอาภัพ!! 8 โรคร้ายที่หมาข้างถนนต้องเผชิญ (ตอนที่2)
ตามกันต่อกับชีวิตหมาที่ไม่มีบ้านไม่มีเจ้าของสุดน่าสงสาร ต้องเสี่ยงเผชิญโรคร้ายมากมายอะไรอีกบ้าง
17 มิถุนายน 2558 · · อ่าน (9,774)
เคยได้ยินคนพูดว่า โรคภัยไข้เจ็บมักไม่เลือกใคร เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือรวยล้นฟ้า ก็ไม่มีทางหนีพ้น แต่ต่างกันก็ตรงที่ คนที่มีฐานะดี มีเงินทองหรือมีอำนาจ ย่อมมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ดีกว่า สุนัขที่มีเจ้าของก็ย่อมได้รับการรักษาที่ดีกว่าสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของเช่นกัน เกิดมาเป็นหมาไม่มีบ้านไม่มีเจ้าของก็ว่ารันทดแล้ว แต่สิ่งที่โหดร้ายกว่านั้นก็คือ โรคร้ายต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ
บทความตอนที่แล้ว (สามารถกลับไปดูบทความตอนที่แล้วได้ ที่นี่ ครับ) มุมหมอหมา ได้พาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับโรคพยาธิในเม็ดเลือด โรคพยาธิหนอนหัวใจ โรคมดลูกอักเสบเป็นหนอง และโรคไข้หัดสุนัขกันไปแล้ว เพื่อน ๆ คงจะเห็นไปแล้วว่า สุนัขจรจัดนั้นมีความเสี่ยงกับโรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง บทความความตอนนี้ เรามาดูกันต่อกับอีก 4 โรคที่เหลือกันครับว่า จะมีโรคร้ายอะไรอีกบ้างที่หมาข้างถนนจะต้องเผชิญ
1 โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ
ซึ่งน้องหมาป่วยจะแสดงอาการป่วยภายใน 3-10 วันหลังจากได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มจากซึม เบื่ออาหาร อาจมีไข้ ตามมาด้วยอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำสีดำ (melena) ไปจนถ่ายเป็นเลือด มีกลิ่นคาว (กลิ่นของเลือดที่หมักหมมในอุจาระ) ร่างกายจะสูญเสียน้ำ อิเล็กโทรไลด์ และพลาสม่าโปรตีนไปมาก อาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้ผนังลำไส้ที่ถูกทำลาย จะทำให้น้องหมาเจ็บปวดท้อง ร้องคราง จนตัวสั่นงอ เจ็บปวดเมื่อเราแตะและสัมผัสบริเวณท้อง หากเป็นลูกหมาที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน เชื้ออาจเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจได้ด้วย
ส่วนเรื่องความเชื่อที่มีการแนะนำต่อ ๆ กันมา เช่น การป้อนโยเกิร์ต น้ำมันมะพร้าว หรือฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ยังไม่มีการศึกษาในสุนัขที่ยอมรับในทางวิชาการนะครับ เป็นเรื่องเข้าใจผิดที่บังเอิญป้อนแล้วสุนัขดีขึ้นมาพอดี ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ได้ผลกับสุนัขทุกตัว หากเราเลือกใช้วิธีนี้ก็อาจเป็นการตัดโอกาสที่สุนัขจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการได้ ความจริงแล้วการที่สุนัขจะหายจากโรคได้นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของสุนัข ความรุนแรงของเชื้อโรค และระดับภูมิต้านทานของตัวเองด้วย หากสุนัขได้รับการชดเชย รักษาแบบประคองอาการเป็นอย่างดี ก็มีโอกาสรอดได้ครับ โดยที่ร่างกายจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามลำดับ ไม่มียาวิเศษใด ๆ จะทำให้หายจากโรคทันทีแน่นอน เพื่อน ๆ สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ใน “ลำไส้อักเสบติดต่อ โรคร้ายใกล้ตัวสุนัข”
2 โรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า)
ซึ่งโรคเรบีส์ถือเป็นปัญหาสากลของคนทั้งโลกเลยนะครับ เพราะมันติดต่อสู่คนได้ และปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีรักษา ติดแล้วคือตายกับตายไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ แม้จะมีผู้คิดค้นการรักษาด้วยวิธี Coma induction เพื่อให้สมองอยู่ในภาวะ suppression ชะลอการถูกทำลาย แต่ก็ยังไม่ได้ผลในทุกราย จึงไม่แนะนำให้ใช้ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อาจไม่คุ้มเมื่อเทียบกับการป้องกัน สุนัขจรจัดที่อยู่กันอย่างอิสระ มีการต่อสู้ไล่กัดกันตามภาษา เชื้อเรบีส์ที่อยู่ในน้ำลายสุนัขที่ป่วย ก็สามารถส่งต่อติดกันได้ อีกทั้งสุนัขจรจัดเอง ก็คงไม่ได้รับวัคซีนป้องกันทุกตัวหรือไม่ได้รับวัคซีนป้องกันต่อเนื่องทุกปี อาจมีบางรายที่หลุดลอดไปบ้าง หากติดเชื้อก็มีโอกาสแพร่เชื้อต่อได้ นี่ยังไม่นับการแพร่เชื้อระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ มายังสุนัขจรจัดอีกนะครับ สุนัขจดจัดจึงถือว่าเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต้องเผชิญโรคนี้เป็นอย่างมาก ก็ยังไม่รู้ว่าในปี ค.ศ. 2020 ที่จะประกาศเป็นปีปลอดเชื้อเรบีส์นั้น จะทำได้สำเร็จหรือเปล่า
3 โรคมะเร็งติดต่อทางระบบสืบพันธุ์
โรคนี้จะติดต่อผ่านการผสมพันธุ์ การเลีย การดม หรือแม้แต่การกัดกันบริเวณที่มีเนื้องอกอยู่ ตามธรรมชาติสุนัขจะมีการเกี้ยวพาราสีกันก่อน ก็จะมีการดมกัน ก็จะได้รับเอาเซลล์เนื้อองอกนี้ไปด้วย บางตัวอาจพบเนื้องอกที่ปาก จมูกหรือลูกตาได้ แต่ส่วนมากมักจะเป็นกันที่อวัยวะเพศ เป็นได้ทั้งสุนัขตัวผู้และตัวเมีย การวินิจฉัยจำเป็นต้องเก็บเซลล์จากก้อนเนื้องอกไปย้อมสีและส่องตรวจดู หากสุนัขเป็นมะเร็งชนิดนี้ จะต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 4-6 สัปดาห์จนกว่าก้อนมะเร็งนั้นจะยุบหายไปครับ
4 โรคไรขี้เรื้อนแห้ง
การตรวจวินิจฉัยง่าย ๆ ในเบื้องต้นเราสามารถทำการทดสอบปฏิกิริยาที่เรียกว่า Pinna-pedal reflex test โดยใช้มือบีบนวดที่ใบหูเบา ๆ สุนัขที่ป่วยจะยกขาหลังข้างเดียวกับที่กำลังถูกบีบนวดขึ้นมาเกาหูอย่างทันที วิธีนี้เชื่อถือได้ 70% โดยทำการตรวจร่วมกับวิธีการขูดตรวจผิวหนังเพื่อหาตัวไรขี้เรื้อนแห้ง สุนัขที่ป่วยสามารถรักษาได้หลายวิธี มีทั้งยาฉีด ยาหยอดหลังหรือยากินตามแต่คุณหมอจะพิจารณา เพื่อน ๆ สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ใน “โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร”
ปัญหาสุนัขจรจัดนั้นมีมานาน และคงไม่หมดลงไปง่าย ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่างน้อย ๆ ก็ควรเริ่มที่ตัวเราก่อน เริ่มต้นจากการเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ ปลูกฝังความเข้าใจว่า วัดและที่สาธารณะต่าง ๆ ไม่ใช่ที่สำหรับทิ้งสุนัข และข้างถนนก็ไม่ใช่ที่สำหรับเลี้ยงสุนัขเช่นกัน ควรหาที่จัดเตรียมให้สุนัขอยู่เฉพาะ เพราะปัญหาสุนัขจรจัดไม่ได้เกิดจากสุนัข แต่เกิดจากมนุษย์อย่างเรา ๆ ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาสุนัขจรจัด ก็คงต้องแก้ปัญหาที่ตัวเราก่อน...เพื่อน ๆ ว่าจริงไหมครับ
SHARES