โดย: Tonvet
สังเกตอย่างไร ว่าน้องหมาของเราเป็นเนื้องอกที่เต้านม
มาทำความรู้จักกับโรคเนื้องอกที่เต้านม วิธีสังเกต การลดความเสี่ยง วิธีการรักษา แล้วมาหาคำตอบกันต่อว่า สุนัขเป็นแล้วจะหายหรือไม่
19 สิงหาคม 2558 · · อ่าน (83,065)ทุกวันนี้มีน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกกันมากขึ้นนะครับ อย่างเนื้องอกที่เต้านมนี้ สามารถพบได้มากสุดเป็นลำดับสองรองจากเนื้องอกที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนเลยที่เดียว ไม่ต้องไปไหนไกลเลย น้องหมาของเพื่อนหมอเองก็เป็นเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะพบในน้องหมาที่มีอายุมากแล้ว เพราะธรรมชาติของเนื้องอกส่วนใหญ่จะต้องอาศัยระยะเวลาในการเจริญเติบโต อีกทั้งทุกวันนี้เราเลี้ยงน้องหมาได้ดี มีอายุยืนยาวขึ้น เลยพบสุนัขป่วยเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นตามไปด้วย
พูดถึงเนื้องอกเต้านมในคน เขามีการรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง เพราะถ้าตรวจพบไว จะได้รีบเข้ารับการรักษาไว แต่ในน้องหมานี่สิ บางทีกว่าจะถึงมือหมอ ก้อนเนื้องอกก็โตมากแล้ว บางรายมีการแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ เสียแล้ว การผ่าตัดก็มีความเสี่ยง ทำได้แค่เพียงรักษาบรรเทาอาการในช่วงสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น
ความจริงแล้วเราสามารถสังเกตความผิดปกติในการเกิดโรคเนื้องอกเต้านมให้น้องหมาก่อนได้ จะด้วยวิธีอะไรนั้น เรามาทำความรู้จักกับ เนื้องอกเต้านมในสุนัข กันดีกว่าครับ
สาเหตุสำคัญ
ปัจจุบันเราพบว่า สาเหตุที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดเนื้องอกเต้านม คือ อิทธิพลของฮอร์โมนจากรังไข่ ที่มีส่วนสำคัญต่อการเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกได้ เพราะที่บริเวณเซลล์เต้านมจะมีตัวรับ (receptor) สามารถจับกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) ได้เป็นอย่างดี ฮอร์โมนเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของเต้านมได้ เช่นเดียวกับสุนัขที่ได้รับยาคุมเป็นประจำ ก็จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกเต้านมได้เช่นกัน เนื่องจากยาคุมกำเนิดที่ใช้กับสุนัขนั้น ส่วนใหญ่เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนั่นเอง
สุนัขที่สุ่มเสี่ยง
เนื้องอกเต้านมในสุนัขพบได้ในตั้งแต่อายุ 7-15 ปี แต่ช่วงอายุที่พบได้มากเฉลี่ยจะเป็นช่วงอายุ 10 ปี ความจริงแล้วพบได้ในสุนัขทั้งสองเพศเลยครับ น้องหมาเพศผู้ก็พบได้ แต่แน่นอนว่าพบในสุนัขเพศเมียมากกว่า ในสุนัขเพศผู้พบได้ไม่ถึง 1 % เท่านั้น โดยสุนัขที่ป่วยเป็นเนื้องอกที่เต้านม ครึ่งหนึ่งจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (benign) แต่อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง (malignant) น้องหมาที่ยังไม่ทำหมันมีแนวโน้มจะเป็นเนื้องอกเต้านมมากกว่าสุนัขที่ทำหมันแล้ว โดยสุนัขเพศเมียที่ทำหมันแบบตัดรังไข่และมดลูกออกตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกเต้านมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า หากทำหมันก่อนการเป็นสัดครั้งแรกจะมีความเสี่ยงเกิดโรคนี้น้อยที่สุดครับ
จุดสังเกตเฝ้าระวัง
ลักษณะของน้องหมาที่ป่วยเป็นเนื้องอกเต้านม เจ้าของจะพบว่า มีก้อนเนื้อลักษณะแข็ง ๆ ที่บริเวณเต้านม อาจจะพบเป็นก้อนเดี่ยว ๆ (single mass) หรือพบได้หลายก้อน (multiple masses) มีขนาดต่าง ๆ รวมกัน บางทีก้อนเนื้องอกอาจมีการยึดติดกับผิวหนังหรือกล้ามเนื้อด้านล่างโดยรอบ เกิดแผลหลุม มีเลือดออก หรือเนื้อตาย
โดยเต้านมที่พบบ่อยสุด จะเป็นคู่ท้าย ๆ โดยเฉพาะตำแหน่งเต้านมคู่ที่ 4 และคู่ที่ 5 (สุนัขปกติมีเต้านม 5 คู่) อาจจะพบที่ข้างใดข้างหนึ่งหรือพบทั้งสองข้างพร้อมกันก็ได้ เต้านมอาจมีเลือดคั่ง บวมน้ำ และมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม เจ็บปวด คล้ายกับการเกิดเต้านมอักเสบ (อ่านข้อมูลโรคเต้านมอักเสบเพิ่มเติม) บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงเต้านม ที่บริเวณรักแร้และโคนขาหนีบ ทำให้ขาหลังบวม ซึ่งบางรายอาจมีอาการซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดตามมาได้ครับ
จะดูแลอย่างไร
หากสังเกตพบอาการดังกล่าว ให้เจ้าของพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์ เบื้องต้นคุณหมอจะทำการตรวจดูก้อนเนื้องอก ทั้งลักษณะ จำนวน ขนาด ตำแหน่ง และดูการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง จากนั้นก็จะทำการตรวจเลือดเพื่อประเมินสภาพร่างกายโดยรวม และเพื่อดูว่าน้องหมามีปัญหาสุขภาพด้านอื่นอีกหรือไม่ ตลอดจนทำการการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องหรือเอ็กซเรย์ช่องอก เพื่อดูว่ามีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้วหรือเปล่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์สำหรับการวางแผนในการรักษาต่อไป
ซึ่งการรักษาเนื้องอกเต้านมส่วนใหญ่จะใช้วิธีการผ่าตัด การผ่าตัดก็จะตัดเอาเต้านมออกตามแนวทางที่เส้นเลือดและเส้นน้ำเหลืองมาเลี้ยงยังเต้านมที่มีเนื้องอกนั้น ๆ ไหลผ่าน โดยดูตำแหน่งของเนื้องอกด้วยว่าอยู่ที่เต้านมคู่ไหน เช่น อาจตัดเอาก้อนเนื้องอกและเต้านมบางส่วนออก (Lumpectomy) ตัดเอาเต้านมที่มีเนื้องอกออกทั้งเต้า (Simple mastectomy) ตัดเอาเต้านมที่มีเนื้องอกและเต้าที่อยู่ติดกันออก (Regional mastectomy) ผ่าตัดเอาราวนมเต้านมข้างเดียวกันออกทั้งราว รวมทั้งตัดต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วย (Unilateral mastectomy) และผ่าตัดเอาราวนมเต้านมทั้งสองข้างและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกพร้อมกันหมดเลย (Bilateral mastectomy)
จากนั้นก็จะส่งชิ้นเนื้องอกที่ตัดออกมาไปตรวจประเมินทางจุลพยาธิวิทยาต่อไป ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ถึงจะทราบผลว่าเป็นชนิดร้ายแรง (malignant) หรือชนิดไม่ร้ายแรง (benign) ระหว่างนี้ก็เป็นช่วงของการดูแลน้องหมาหลังผ่าตัด ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากก็คือ การติดเชื้อภายหลังผ่าตัดและการเกิดแผลแตก เนื่องจากแผลผ่าตัดนั้นมีความตึงมาก จำเป็นต้องจำกัดหรือกักบริเวณน้องหมาจนกว่าแผลจะหายสนิท ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอย่าให้สุนัขเลียแผลเด็ดขาด เพราะถ้าแผลแตกน้องหมาจะเจ็บมาก อาจจะพบของเหลวไหลออกมาจากแผลได้ด้วย ซึ่งจะทำให้แผลหายช้า เจ้าของต้องตรวจดูแผลอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงต่อการแตกของแผลสูงจะต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดครับ
มีโอกาสหายหรือไม่
ในส่วนของการพยากรณ์โรคนั้น เราจะใช้การประเมินทางจุลพยาธิวิทยา ว่าเนื้องอกนั้นมีระดับความรุนแรงขั้นไหน เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (benign) หรือร้ายแรง (malignant) โดยดูทั้งขนาดของก้อนเนื้องอก การแทรกตัวเข้าสู่ชั้นผิวหนังและกล้ามเนื้อด้านล่าง การแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง หรืออวัยวะอื่น ๆ อย่างเช่น ปอด ฯลฯ ซึ่งหากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง จะมีการตอบสนองที่ดีหลังผ่าตัดรักษา แต่หากเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง มีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นแล้ว โอกาสกลับมาเป็นอีกหลังการรักษาก็มี ระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ก็อาจน้อยลงไปครับ
ซึ่งการผ่าตัดอาจไม่สามารถการันตีการกลับมาขึ้นใหม่ได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นเนื้องอกแบบร้ายแรง บางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมด้วยภายหลังจากการผ่าตัด พร้อมกับเฝ้าระวังการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อย่างเช่น การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องหรือเอ็กซเรย์ช่องอก เป็นประจำทุก 3-6 เดือน ด้วยครับ
มีคำพูดติดตลกว่า น้องหมาที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกนี่แหระ งานงอกของจริง ใครไม่อยากให้เกิดขึ้นกับน้องหมาของตัวเอง แนะนำให้พาน้องหมาไปทำหมันตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ นะครับ ยิ่งทำเร็วความเสี่ยงก็ยิ่งลดลง เรื่องยาคุมที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง ควรทำหมันไปเลยจะดีกว่า การใช้ยาคุมเป็นประจำโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกเต้านมก็มีได้เช่นกัน แล้วก็อย่าลืมหมั่นสังเกต และตรวจคลำดูเต้านมน้องหมาด้วยนะครับ ถ้าพบว่ามีก้อนอะไรแข็ง ๆ แปลก ๆ ไม่เคยมีมาก่อน ก็ให้พาไปหาคุณหมอเลยเน้อ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Robert N. White. 2008. HANDBOOK OF SMALL ANIMAL PRACTICE. CHAPTER 60: Diseases of the Mammary Glands. Saunders Elsevier Inc. Fifth Edition: page 599-601
รูปภาพประกอบ:
http://www.sites.si.edu/animalconnections/Dog%20with%20vetLarge.jpg
รูปภาพประกอบ:
http://www.sites.si.edu/animalconnections/Dog%20with%20vetLarge.jpg
http://kleinbrookah.com/clients/16651/images/spay%20and%20neuter%20pics/MissT2nd.jpg
http://www.barkingheads.co.uk/blog/wp-content/uploads/2014/10/mam1.jpg
SHARES