โดย: Tonvet
การค้นพบอันยิ่งใหญ่วงการแพทย์ ที่มีน้องหมาเป็นพระเอก
มาดูเรื่องราวการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ ที่สุนัขเข้าไปมีบทบาทสำคัญ
11 พฤศจิกายน 2558 · · อ่าน (5,498)
ตลอดระยะเวลาหลายพันปีของอารยธรรมมนุษย์ มีการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งที่การค้นพบเหล่านั้นของมนุษย์มีสุนัขก็เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ในวงการแพทย์ก็เช่นกัน การค้นพบหลายอย่างมีสุนัขเป็นพระเอก การรักษาบางอย่างประสบความสำเร็จในสุนัขมาก่อนที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ ทั้งการค้นพบฮอร์โมนอินซูลิน ความสำเร็จของการเปลี่ยนถ่ายเลือด และการปลูกถ่ายไต เรามาติดตามเรื่องราวการค้นพบอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันครับ
ค้นพบฮอร์โมนอินซูลิน
ย้อนไปในยุคกรีก มีการบันทึกถึงโรคหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ และผอมลง แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าป่วยเป็นอะไร จนมาในศตวรรษที่ 17 นายแพทย์ Thomas Willis ชาวอังกฤษได้ทดลองชิมปัสสาวะของคนไข้รายหนึ่งพบว่า มีรสชาติหวาน อีกศตวรรษต่อมา ได้มีการพิสูจน์ว่า ปัสสาวะที่มีรสหวานนั้น เพราะว่ามันมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แต่ก็ยังไม่ทราบวิธีการรักษาผู้ป่วย
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1889 แพทย์ชาวเยอรมัน Joseph von Mering และผู้ช่วย Oscar Minkowski ได้ทดลองตัดตับอ่อนของสุนัขออก หลายวันต่อมาพบว่า ปัสสาวะที่สุนัขออกมานั้นจะมีมดและแมลงบินมาตอม เมื่อนำปัสสาวะสุนัขไปตรวจก็พบว่า มีน้ำตาลในปัสสาวะ จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลักฐานสำคัญว่า ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวาน
จนมาถึงปี ค.ศ. 1920 นายแพทย์ Frederick G. Banting ชาวแคนาดา ก็สกัดสารชนิดหนึ่งจากตับอ่อนได้สำเร็จ โดยทดลองผูกท่อของตับอ่อนและเลี้ยงสุนัขไว้ระยะหนึ่ง จน acini สลายไป แล้วจึงทำการสกัดสารนั้นออกมาได้ นั่นก็คือ อินซูลิน แต่ตอนแรกเขาเรียกสารที่สกัดที่ได้นี้ว่า isletin จากนั้นเขาก็ได้ไปปรึกษากับศาสตรจารย์ Macleod นักสรีรวิทยาชาวสกอต จึงได้ทำการทดลองต่อ โดยฉีดอินซูลินให้กับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งพบว่า สุนัขที่ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้น มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เสียชีวิตจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ซึ่งจากการค้นพบ อินซูลิน นี้เอง ทำให้นายแพทย์ Banting และศาสตรจารย์ Macleod ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
ทุกวันนี้ทั้งมนุษย์และสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ขาดอินซูลินต่างก็มีอินซูลินใช้รักษา ซึ่งการให้อินซูลินส่วนใหญ่จะเป็นทางการฉีด สำหรับในน้องหมานั้น จะมีอินซูลินสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นยาน้ำแขวนตะกอน แล้วเราต้องนำมาแบ่งฉีดให้ ตามปริมาณที่ได้จากกราฟจากการเฝ้าติดตามระดับน้ำตาลในเลือด โดยเราจะต้องพยายามให้เหมือนกับการหลั่งในธรรมชาติมากที่สุด คือ ต้องให้เป็นเวลา กินอาหารเป็นเวลา รวมถึงต้องคุมปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อด้วย เพื่อน ๆ สามารถศึกษาโรคเบาหวานในสุนัขเพิ่มเติมได้ในบทความ พิชิตโรคเบาหวานสุนัขด้วยหลัง 3 อ. ครับ
ค้นพบการเปลี่ยนถ่ายเลือด
แนวคิดการเปลี่ยนถ่ายเลือดนั้นเริ่มต้นที่ยุโรป ในศตวรรษที่ 17 ภายหลังจากการค้นพบว่า เลือดมีการไหลเวียนเป็นวงจร ในปี ค.ศ.1665 John Wilkin ชาวอังกฤษได้ทดลองถ่ายเลือดจากหลอดเลือดดำบริเวณคอของสุนัขตัวผู้ ใส่ลงในภาชนะรองรับ แล้วนำไปฉีดเข้ายังหลอดเลือดดำที่ขาของสุนัขตัวเมียอีกตัวหนึ่ง โดยใช้หลอดทองเหลือง ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ในปีเดียวกันนายแพทย์ Richard Lower ชาวอังกฤษ ก็ได้ทดลองนำเลือดออกจากสุนัขตัวหนึ่งจนใกล้ตาย แล้วก็ถ่ายเลือดจากหลอดเลือดแดงของสุนัขอีกตัวหนึ่งไปยังหลอดเลือดดำของสุนัขตัวนั้น ปรากฎว่า สุนัขตัวนั้นรอด นับเป็นความสำเร็จแรกที่ได้รับการบันทึกและตีพิมพ์ลงในวารสาร Philosophical Transactions อีกสองปีต่อมา นายแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทดลองถ่ายเลือดจากลูกวัวไปให้สุนัข แล้วพบว่า สุนัขไม่เป็นอะไร ตอนนั้นจึงสรุปกันว่า การเปลี่ยนถ่ายเลือดข้ามสายพันธุ์กันสามารถทำได้ จึงเริ่มมีการถ่ายเลือดจากลูกแกะมาสู่มนุษย์ ซึ่งได้ผลในบางราย แต่รายหลัง ๆ กลับเสียชีวิต จนสุดท้ายก็ประกาศให้การถ่ายเลือดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ผ่านมาอีกหลายร้อยปี เริ่มมีการนำการถ่ายเลือดมาปัดฝุ่นใหม่ โดย James Blundell เขาค้นพบว่า เลือดที่นำมาให้กันนั้น ต้องเป็นเลือดในสายพันธุ์เดียวกัน การถ่ายเลือดได้รับความนิยมอีกครั้งช่วงสงครามโลก มีการให้เลือดโดยตรงให้กับทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียเลือด พบว่ามีประโยชน์และคุ้มค่ามาก การเปลี่ยนถ่ายเลือดจึงได้รับการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา มีการค้นพบหมู่เลือดในคน มีการค้นพบสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด โดยทดลองนำเลือดสุนัขมาใส่ไว้ในซิเตรทกับน้ำตาลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วให้กลับเข้าไปยังตัวสุนัขพบว่า สุนัขตัวนั้นรอด จึงทำให้สามารถเก็บเลือดไว้ได้นานขึ้น การเปลี่ยนถ่ายเลือด จึงเข้ามามีบทบาทต่อการรักษาชีวิตทั้งในคนและสัตว์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมีการจัดตั้งธนาคารเลือดขึ้น
สำหรับธนาคารเลือดในสัตว์ของไทยเรานั้น เริ่มต้นที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันมีธนาคารเลือดของสัตว์ตั้งขึ้นในหลาย ๆ หน่วยงาน เช่น หน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน หน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์เล็ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แผนกธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์เอกชนบางแห่งด้วยครับ สุนัขที่จะบริจาคเลือดได้นั้นต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และจะต้องตรวจสุขภาพและทดสอบการเข้ากันได้ของเลือดก่อน โดยมีขั้นตอนตามบทความนี้ครับ มามะ ... พาน้องหมาไปบริจาคเลือดกัน
ค้นพบการปลูกถ่ายไต
อวัยวะภายในร่างกายส่วนใหญ่เมื่อเสื่อมลงแล้ว จะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก แนวคิดการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ให้ร่างกายจึงได้รับความสนใจ หลายคนอาจจะไม่ทราบนะครับว่า ก่อนที่การปลูกถ่ายไตจะประสบความสำเร็จในคน มีการปลูกถ่ายไตสุนัขมาก่อน ย้อนไปในปี ค.ศ. 1902 มีรายงานการทดลองปลูกถ่ายไตในสุนัขเป็นครั้งแรกโดย Emerich Ullmann ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะจะเกิดปัญหาที่ภูมิคุ้มกันร่างกายของตนเอง เกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่ จนมาในช่วงปี ค.ศ. 1972 เมื่อ Jean Borel ได้ค้นพบยา Cyclosporine จึงช่วยลดและป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ได้ดีขึ้น ทำให้คนและสัตว์สามารถใช้ชีวิตร่วมกับอวัยวะที่ปลูกถ่ายได้นานขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยไปแล้วหลายคน
สำหรับในสัตว์ช่วงราวกลางทศวรรษที่ 1980 สถาบัน The School of Veterinary Medicine at the University of California, Davis (UCD) ได้บุกเบิกและพัฒนาโปรแกรมการปลูกถ่ายไตในสัตว์ขึ้น ซึ่งได้ผลดีในแมว แต่ในสุนัขความประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตยังต่ำ อยู่ที่ประมาณ 40 % เท่านั้น เนื่องจากผลจากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน ทำให้สุนัขมีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันที่ลดลง
ในต่างประเทศเกณฑ์ของสุนัขที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตนั้นค่อนข้างเข้มงวด ส่วนสุนัขที่จะมาเป็นผู้บริจาคนั้น ส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่อยู่ในบ้านเดียวกัน สุนัขที่เป็นพี่น้องกัน หรืออาจรับบริจาคจากสัตว์เลี้ยงในสถานสงเคราะห์ที่จะต้องถูกเมตตาฆาตร เนื่องจากไม่มีเจ้าของหรือคนรับอุปการะ โดยสุนัขที่บริจาคอวัยวะนั้นจะได้บ้านใหม่ไม่ถูกทำเมตตาฆาตร ซึ่งถือเป็นการได้ต่อชีวิตให้กับสัตว์ 2 ตัวไปพร้อม ๆ กัน แต่วิธีการปลูกถ่ายไตเช่นนี้ ก็มีบางคนที่แอบไม่เห็นด้วยเหมือนกันครับ เพราะอาจขัดจริยธรรมที่ไปเอาไตจากสัตว์อีกตัวมาหนึ่งข้างเพื่อมาให้กับสุนัขอีกตัวครับ
หากจะเปรียบว่าเป็นการนำสุนัขเหล่านั้นเป็นสัตว์ทดลองที่มนุษย์เราเอามาใช้ประโยชน์ก็คงไม่ผิด แต่สำหรับผมแล้วมองว่า สุนัขเหล่านี้มีคุณกับมนุษย์เรา เพราะถ้ามีไม่มีสุนัขเหล่านี้ การป่วยหลาย ๆ โรคทั้งในคนและในสัตว์ก็อาจคงยังไม่ได้รับการรักษา เรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากสุนัขเหล่านี้ด้วยเช่นกันครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
http://kah.kasetanimalhospital.com/index.php/home/highlight-hospital-feature/item/7-kaset-bloodbank?tmpl=component&print=1
http://www.doctor.or.th/article/detail/1768
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9132
รูปภาพประกอบ:
http://i.imgur.com/DKsxStr.jpg
http://insulinnation.com/wp-content/uploads/2014/07/BantingAndDog_1923_620px.jpg
http://bantingresearchfoundation.ca/wp-content/uploads/BestBanting855x1000.jpg
http://1.bp.blogspot.com/-VbzJY7XbbU0/UUcr_cHVHRI/AAAAAAAAAJs/GYC6hsifhyU/s1600/blood_transfusion.jpg
https://mosaicscience.com/sites/default/files/styles/slideshow/public/2.Blood%20Groups%20slide%20show%20Animal%20to%20human%20blood%20transfer%201665.jpg?itok=IadOnO1K
https://web.stanford.edu/dept/HPS/transplant/assets/images/kidney-67.jpg
SHARES