โดย: Tonvet
ต้องรู้ไว้..ยากำจัดเห็บและหมัดรูปแบบกินตัวไหนปลอดภัยกับน้องหมา
มาทำความรู้จักกับยากำจัดเห็บและหมัดในรูปแบบกินที่ขึ้นทะเบียนยาและปลอดภัยสำหรับน้องหมากัน
29 มีนาคม 2560 · · อ่าน (85,974)
เห็บและหมัด จัดเป็นปรสิตจอมวายร้ายประจำกายน้องหมา ที่เราสามารถพบได้เสมอปราบเท่าไรก็ไม่หมดสักที ไม่ว่าจะหยอดยาก็แล้ว ฉีดยาก็แล้ว หรือแม้แต่การฉีดพ่นยาตามพื้นร่วมด้วยก็ดี ซึ่งเห็บสุนัขในบ้านเราที่พบส่วนมากก็คือ เห็บสีน้ำตาล (Rhipicephalus sanguineus) ที่ชอบเดินไต่ตามตัวน้องหมา แถมยังนำโรคพยาธิในเม็ดเลือดมาติดอีกด้วย ส่วนหมัดที่พบบ่อย ๆ ก็คือ หมัดแมว (Ctenocephalides felis) ที่พบในสุนัขได้ด้วย หมัดชนิดนี้ชอบกระโดดไปมาตามตัว แล้วยังนำพาพยาธิตัวตืดแตงกวามาติดน้องหมาได้อีกต่างหาก
บ้านเราก็มีผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บและหมัดในสุนัขมาให้เลือกใช้หลายรูปแบบ ทั้งหยอดหลังคอ ฉีด พ่นบนตัว พ่นตามพื้น หรือในรูปแบบกินก็ดี ซึ่งในการใช้ยากำจัดเห็บและหมัดนั้น เราควรมีการสลับเปลี่ยนตัวยาที่ใช้บ้าง เนื่องจากการใช้ยาตัวเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจมีโอกาสที่ปรสิตเหล่านั้นจะดื้อยาดังกล่าวได้ ปัจจุบันมียากลุ่มหนึ่งสำหรับใช้กำจัดปรสิตในสุนัข คือ กลุ่มยา Isoxazoline ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่เพิ่งค้นพบในไม่กี่ปีมานี้ ตัวยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ได้แก่ Afoxolaner, Fluralaner, Sarolaner, Iotilaner เป็นต้น แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะชื่อตัวยาสองชนิดแรก ที่มีนำเข้ามาใช้ในบ้านเราแล้วกันก่อนนะครับ ไปดูกันเลย..
1 Afoxolaner
เป็นยากำจัดแมลงและปรสิตที่ไปออกฤทธิ์ทำให้ระบบการทำงานระบบประสาทของปรสิตผิดปกติไป ปรสิตจะเป็นอัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด ภายหลังจากที่ปรสิตได้ไปดูดเลือดน้องหมาที่มียาอยู่ในร่างกาย โดยยาตัวนี้นิยมนำมาใช้ในรูปแบบเคี้ยวกิน เพราะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้องหมาได้ดี และถูกขับออกจากร่างกายผ่านตับ (น้ำดี) โดยมีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 15.5 วัน จึงแนะนำให้กินเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ตามน้ำหนักตัวของสุนัข
โดยน้องหมาที่ใช้ยาตัวนี้ได้ จะต้องมีอายุมากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป และควรมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถให้เคี้ยวกินโดยตรงหรือกินพร้อมกับอาหารก็ได้ อย่างไรก็ดียาชนิดนี้ก็มีผลข้างเคียงที่ต้องระวังเช่นกัน โดยมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร อ่อนแรง คัน ฯลฯ ในสุนัขบางตัว และต้องระวังการใช้ในสุนัขที่เป็นโรคลมชักด้วยครับ ส่วนน้องหมาที่ตั้งท้องหรือกำลังให้นมลูกอยู่นั้น ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัย หากจะนำมาใช้ก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนเป็นราย ๆ ไปครับ
ยาตัวนี้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ ค.ศ. 2013 สำหรับใช้ในการกำจัดปรสิตภายนอกของสุนัขได้ ปัจจุบันมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วเช่นกัน ซึ่งนอกจากกำจัดเห็บและหมัดแล้ว ยังมีรายงานการนำยาชนิดนี้มาใช้สำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียกและไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัขด้วย พบว่าให้ผลการรักษาที่ดี แต่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้นครับ
2 Fluralaner
ยาชนิดนี้เป็นสารที่ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทในสัตว์กลุ่ม arthropod ทำให้ปรสิตที่ได้รับยาเป็นอัมพาตและเสียชีวิตเช่นเดียวกับยาชนิดที่แล้ว แต่ที่ต่างกัน คือ ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ได้นานกว่า สามารดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีผ่านการกิน แล้วมีระดับยาสูงสุดในพลาสม่าภายใน 1 วัน โดยมีปริมาณยาสูงสุดในไขมัน ตับ ไต และกล้ามเนื้อ ตามลำดับ ก่อนถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ (90% ของยาที่ได้รับ) และบางส่วนขับออกทางไต โดยมีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 12 วัน จึงแนะนำให้กินยาทุก ๆ 12 สัปดาห์ หรือทุก 3 เดือน ปริมาณตามน้ำหนักตัวของสุนัข
โดยน้องหมาที่ใช้ยาตัวนี้ได้ จะต้องมีอายุมากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป และควรมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถให้เคี้ยวกินโดยตรงหรือกินพร้อมกับอาหารก็ได้ ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้นั้น ก็ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำลายไหลยืด กินน้ำมาก ฯลฯ พบจากการทดลองเพียง 1.6% ของสุนัขทั้งหมดที่ได้รับยาเท่านั้น และอาการเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราวหลังจากได้รับยา แต่ไม่ควรให้ยาในสุนัขที่แพ้ยา Fluralaner เด็ดขาด
ยาตัวนี้มีความปลอดภัยในสุนัขตั้งท้องหรือกำลังให้นมลูก รวมถึงสุนัขพันธุ์คอลลี่ที่มีความผิดปกติของยีน MDR-1 เช่นกัน สามารถนำมาใช้ได้แต่ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนนำมาใช้เป็นราย ๆ ไป ส่วนสุนัขที่ได้รับยาเกินขนาดนั้น ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ในสุนัขที่ได้รับยาเกินขนาดในระดับ 3 เท่า ในสุนัขพันธุ์บีเกิล แต่ไม่แนะนำให้ยาชนิดนี้ซ้ำในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 8 สัปดาห์ครับ
มีการนำ Fluralaner เข้ามาใช้ในประเทศไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่งยาตัวนี้สามาถนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้หมัดได้ รวมถึงมีรายงานนำมาใช้รักษาโรคไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัขได้ด้วยเช่นกัน โดยการให้ยา Fluralaner ทุก 3 เดือน พบว่าตัวไรขี้เรื้อนเปียกมีจำนวนลดลง แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้นครับ
ปัจจุบันมียากำจัดเห็บและหมัดของสุนัขหลากหลายชนิดออกมาวางขายอยู่ในท้องตลาด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นยาเถื่อนไม่มีทะเบียนยา ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุนัขจำนวนมาก ซึ่งผู้เลี้ยงสุนัจำนวนไม่น้อยซื้อมาใช้เพราะเห็นว่าราคาถูก แต่กลับต้องแลกมาด้วยบทเรียนราคาแพงแสนสาหัส ที่ไม่อาจจะเรียกคืนกลับมาได้ ดังนั้นก่อนเลือกผลิตภัณฑ์ใดมาใช้นั้น ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนและต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์นั้นด้วยว่า ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้วหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาที่เราจะนำไปใช้กับสุนัขนั้นปลอดภัยจริง เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษาวิธีการตรวจสอบยาเถื่อนได้ในบทความ "ด็อกไอไลค์ ...แนะวิธีตรวจสอบยาเถื่อนในสุนัข" ครับ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
http://www.fleabusters.com/Images/img/flea.jpg
http://www.pestworld.org/media/561681/istock_000002937031small_microscopic-flea.jpg
http://www.rd.com/wp-content/uploads/sites/2/2016/04/42-vets-wont-tell-hand-pill-dog.jpg
SHARES