เพราะอาหารถือเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด บางคนจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของการกินมาเป็นอันดับหนึ่ง และมักจะกังวลเสมอว่า สิ่งที่เราได้กินเข้าไปนั้น จะเป็นประโยชน์เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือเปล่า เช่นเดียวกับคนที่รักน้องหมา ก็อยากให้น้องหมาได้รับสารอาหารที่ดีมีประโยชน์เช่นกัน บางคนก็สรรหาของดี ๆ มาให้ มีใครแนะนำอะไรมา ก็ซื้อมาให้น้องหมากิน เสริมโน่นเสริมนี่ให้ จนบางทีก็หลงลืมไปว่า สิ่งของที่ให้น้องหมาไปนั้น มากเกินกับความต้องการไปหรือเปล่า
ปัจจุบันมีอาหารสำหรับสุนัขหลายชนิดที่ใช้สารอาหารอย่าง "โปรตีน (Protein)" มาเป็นจุดขาย โดยโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองนั้นมีโปรตีนสูงกว่าใคร ผลิตจากเนื้อสัตว์ที่ดีมีคุณภาพ หลายคนมักเข้าใจว่า ยิ่งให้โปรตีนปริมาณสูง ๆ สุนัขยิ่งโตเร็วขึ้น อาหารสุนัขบางชนิดอาจมีปริมาณโปรตีนสูงกว่า 3-7 เท่าของความต้องโปรตีนเป็นอย่างน้อยที่ร่างกายควรได้รับเลยทีเดียว ซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันครับว่า ความจริงแล้วนั้นโปรตีนมีความสำคัญอย่างไร น้องหมาแต่ละช่วงวัยมีความต้องการโปรตีนมากหรือน้อยแค่ไหน แล้วถ้าได้รับโปรตีนมากเกินไปจะเกิดผลเสียอย่างไรกับน้องหมาบ้าง ...
ประโยชน์ที่น้องหมาจะได้รับจากโปรตีน
โดยธรรมชาติแล้วเราจัดสุนัขเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ (omnivores) แม้ในอดีตก่อนที่มนุษย์จะนำมาเลี้ยง สุนัขจะดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ แต่ก็ยังได้รับพืชและกากใยที่อยู่ในทางเดินอาหารของเหยื่อ ซึ่งส่วนมากจะสัตว์กินพืชด้วย อีกทั้งยังสามารถหาพืชและผลไม้บางอย่างกินร่วมด้วย โดยเฉพาะในฤดูที่ไม่มีเหยื่อให้ล่า ดังนั้นการเลี้ยงสุนัขโดยให้อาหารที่หลากหลาย เหมาะสม และครบถ้วน ก็จะช่วยให้น้องหมาของเรามีสุขภาพดี
ในส่วนของโปรตีนนั้น เป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายเอาไว้ใช้ประโยชน์ในการสร้างกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ขน สร้างฮอร์โมนและแอนติบอดี ฯลฯ ซึ่งโปรตีนนั้นประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด มีทั้งกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองได้ และกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ซึ่งเราเรียกว่า กรดอะมิโนจำเป็น น้องหมาจะต้องได้รับกรดอะมิโนจำเป็นเหล่านี้จากอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งก็มาจาก 2 แหล่งหลัก ๆ คือ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ นม รวมถึงพวก By product อย่างเครื่องในสัตว์ ขน หรือเล็บด้วย และโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง กากถั่ว หญ้าอัลฟาฟ่า แป้งข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งเราจะใช้แหล่งอาหารเหล่านี้ มาเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารสุนัขได้ โดยแต่ละแหล่งก็จะให้ปริมาณโปรตีนไม่เท่ากันครับ โดยปกติแล้วสุนัขที่โตเต็มวัยต้องการโปรตีนไม่ควรเกิน 30% DM protein ทั้งนี้ปริมาณอาจมากหรือน้อยต่างกันไปขึ้นกับแต่ละช่วงวัยครับ
ความต้องการโปรตีนในแต่ละช่วงวัยของน้องหมา
ในแต่ละช่วงวัยของสุนัขจะมีความต้องการโปรตีนไม่เหมือนกัน ลูกสุนัขแรกเกิดนั้น แหล่งอาหารที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ น้ำนมแม่สุนัข ซึ่งนมแม่สุนัขจะมีปริมาณโปรตีนสูงกว่านมวัวและนมแพะ ที่สำคัญจะมีแลคโตสต่ำ เพราะแลคโตสสามารถทำให้ลูกสุนัขท้องเสีย เนื่องจากไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ ดังนั้นอาหารที่เหมาะสมที่สุดเลย ก็ควรเป็นนมแม่สุนัข หรือนมทดแทนที่ทำมาเพื่อลูกสุนัขโดยเฉพาะ เมื่อลูกสุนัขมีอายุ 4 สัปดาห์ ความต้องการโปรตีนจะสูงขึ้นไปอีก เพราะใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วงนี้ฟันน้ำนมของน้องหมาเริ่มขึ้นแล้ว อาจเสริมพวกไข่แดงควบคู่กับน้ำนมแม่ แล้วค่อย ๆ ปรับเป็นอาหารกึ่งแข็ง เมื่อสุนัขเริ่มเคี้ยวอาหารได้ จนหย่านมที่อายุ 6-8 สัปดาห์
ในสุนัขช่วงกำลังโตนั้น ความต้องการโปรตีนจะสูงมาก เพราะใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อใหม่ จึงควรให้โปรตีนที่มีคุณภาพสูงด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายของน้องหมาสามารถย่อยและนำไปใช้ได้ง่าย ช่วงวัยนี้สุนัขแต่ละพันธุ์จะมีความต้องการสารอาหารไม่เหมือนกัน จึงควรเริ่มต้นที่แยกให้อาหารตามขนาดตัวในแต่ละพันธุ์ (พันธุ์เล็ก พันธุ์กลาง หรือพันธุ์ใหญ่) เพื่อความสมดุลของโปรตีนและพลังงานที่ควรจะได้รับ และต้องให้แบบนี้ไปจนถึงอายุประมาณ 8-12 เดือน โดยสุนัขพันธุ์เล็กจะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยได้เร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ ในช่วงโตเต็มวัยนี้ความต้องการโปรตีนและพลังงานจะลดลง ถ้าเรายังคงให้โปรตีนปริมาณสูงเท่าเดิม ก็อาจทำให้สุนัขอ้วนได้ง่าย
ในสุนัขสูงวัยเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย มวลกล้ามเนื้อเริ่มลดลง เวลาที่กินอาหารเข้าไป การย่อยและการนำไปใช้ประโยชน์จะลดลง ช่วงวัยนี้จึงต้องการโปรตีนคุณภาพสูง ปริมาณโปรตีนควรเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงโตเต็มวัยสักเล็กน้อย เพื่อเอาไว้ใช้ควบคุมน้ำหนักตัว ลดการสูญเสียกล้ามเนื้อ และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่สำหรับบางช่วงของชีวิตของสุนัข อาจมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าปกติเป็นพิเศษ เช่น ช่วงเป็นสัด ช่วงตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก อาจต้องมีการปรับเสริมโปรตีนให้มากขึ้นเช่นกันครับ
ผลที่ตามมาหากน้องหมาได้รับโปรตีนมากเกินไป
ปัจจุบันมีแนวคิดการทำสูตรอาหารสุนัขที่เน้นโปรตีนสูง ๆ เพราะเชื่อว่าสุนัขเป็นสัตว์กินเนื้อ จึงเน้นให้โปรตีนเป็นหลัก เพื่อหวังผลทั้งในเรื่องการเพิ่มขนาดตัวหรือการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ดูสวยงามเกินความจำเป็น กำลังได้รับความนิยมในผู้เลี้ยงบางกลุ่ม มีการใช้ผลิตภัณฑ์โปรตีนสกัดมาเสริมให้สุนัขกินกันอย่างผิด ๆ ซึ่งการที่สุนัขได้รับโปรตีนมากเกินไปนั้น จะส่งผลให้ต่อร่างกายหลายอย่างเลย โปรตีนจัดเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายเช่นกัน การที่ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็น ย่อมทำให้สุนัขอ้วนได้ ปัจจุบันสุนัขมีปัญหาเป็นโรคอ้วนจำนวนมาก เพราะเกิดจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้องและขาดการออกกำลังกาย
การได้รับโปรตีนสูงเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ตับและไตทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหากรดอะมิโนในร่างกายสูง ไตก็ต้องเร่งขับ nitrogenous wastes product ออกมา ยิ่งหากเป็นสัตว์ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต เช่น สุนัขที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง การได้รับโปรตีนในปริมาณสูง จะทำให้ของเสียในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ
วิถีแห่งโภชนาการที่เหมาะสำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต) นอกจากนี้การเน้นให้กินโปรตีนสูงเกินไปยังทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ กระดูกเปราะ ก่อให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะบางชนิดได้ ที่สำคัญร่างกายก็ขาดสารอาหารอื่น ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งมีความจำเป็นต่อน้องหมาไม่แพ้กัน เราต้องไม่ลืมว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่น ๆ ที่เหมาะสมร่วมด้วย
ดังนั้นการเลือกให้โปรตีนที่มีคุณภาพสูงย่อมดีกว่าที่จะให้โปรตีนในปริมาณที่สูงครับ
ของบางอย่างน้อยไปก็ไม่ดี ยิ่งมากไปกลับยิ่งไม่ดีเสียกว่า อย่างเช่นความต้องโปรตีนในน้องหมาที่เราได้ทำความเข้าใจไปแล้วนี้ บางทีการที่เรายึดตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากความหวังดีที่มากเกินไปหรือไม่ก็ตาม อาจนำมาซึ่งผลเสียในอย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึงได้ ดังนั้นหากคิดจะเสริมหรือให้สุนัขกินอะไรก็ตาม เราควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน เพื่อน ๆ อาจจะลองปรึกษากับสัตวแพทย์หรือนักโภชนาการอาหารสุนัขร่วมด้วยก็ได้ครับ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก :
Michael S. Hand. 2002. Pocket companion to Small animal Clinical Nutrition. 4thedition.
Mark Morris Institute: United States of America
รูปภาพประกอบ :
http://cmeimg-a.akamaihd.net/640/cme/cuteness_data/s3fs-public/diy_blog/What-Are-Healthy-Protein-Sources-For-Dogs.jpg
http://www.petmd.com/sites/default/files/pet-food-shutterstock_230424046.jpg
http://todaysveterinarypractice.navc.com/wp-content/uploads/2015/11/T1511C07_Table02.jpg
http://www.urdogs.com/wp-content/uploads/2016/04/kidneyfailuredog.jpg
SHARES