โดย: Tonvet

แจกวิธีการดูแลสุนัขป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

เมื่อสุนัขป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังเจ้าของต้องดูแลอย่างไรไปดูกัน

13 กันยายน 2560 · · อ่าน (33,842)
616

SHARES


616 shares

Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลสุนัขป่วยโรคไตวายเรื้อรัง


 

     โรคไตวายเรื้อรังในสุนัขเป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากจะพบได้ในสุนัขที่มีอายุมาก และโรคก็มักจะพัฒนาไปตามอายุ เนื่องจากการสูญเสียการทำหน้าที่การทำงานของไต เรื่องเช่นนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อน้องหมาป่วยเป็นแล้ว เจ้าของก็ควรจะต้องทราบวิธีการดูแลสุนัขป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังเอาไว้ เรามาดูกันครับว่าควรต้องทำอย่างไรกันบ้าง...
 
 
 
 

การจัดสถานที่ให้สุนัขอยู่

 
 
 
    ควรเป็นพื้นที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากอยู่ในกรง ก็ต้องเป็นกรงที่มีขนาดเหมาะสมกับตัวสุนัข เมื่อสุนัขเข้าไปในกรงแล้วสามารถยืนยืดตัวได้สุด ไม่แคบหรือเตี้ยเกินจนสุนัขอึดอัด สำหรับที่นอนนั้นควรเป็นวัสดุที่สุนัขสามารถนอนได้อย่างสบาย รองรับน้ำหนักของสุนัขได้ ป้องกันแผลกดทับที่จะตามมาเนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง สิ่งปูรองก็ต้องสามารถดูดซับความชื้นได้ โดยแผ่นรองซับที่ใช้ควรมีสีขาว เพื่อจะได้สังเกตได้ชัดเจนว่าปัสสาวะที่ออกมานั้นมีลักษณะหรือมีสีเป็นอย่างไร เนื่องจากสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไตนั้นจะมีการปัสสาวะปริมาณมาก ซึ่งการนำสุนัขออกไปขับถ่ายนอกกรงเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่าให้สุนัขนอนมากไป ต้องให้ขยับตัวบ้าง เพื่อให้ป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เจ้าของควรหมั่นสังเกตลักษณะปัสสาวะและอุจจาระทุกครั้ง ถ้าสามารถตวงวัดปริมาณปัสสาวะในแต่ละวันได้ก็จะดีมาก เพื่อนำไปใช้ประเมินอาการและแนวโน้มของโรคว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งยังสามารถนำปัสสาวะกลับมาให้สัตวแพทย์ตรวจเพิ่มเติมได้ด้วย
 
 
 

อาหารที่สุนัขควรได้รับ

 

 
     อาหารสำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต จะมีระดับโปรตีนต่ำ เพื่อลดของเสียจากไนโตรเจน โดยโปรตีนที่ได้รับนั้นก็ควรต้องเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงด้วยเพื่อให้ร่างกายเอาไปใช้ได้ง่าย โดยมักจะลดปริมาณของกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นลง เพราะร่างกายก็สามารถสังเคราะห์ได้เองอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังต้องมีฟอสฟอรัสที่ต่ำ เพราะสุนัขที่เป็นโรคไตมักจะมีระดับฟอสฟอรัสในกระแสเลือดสูง บางครั้งคุณหมออาจจะมีการจ่ายยาบางชนิดที่เป็นตัวจับกับฟอสฟอรัสในอาหาร ช่วยลดปริมาณการดูดซึมฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกายช่วยอีกทางหนึ่ง

     ส่วนเรื่องการคุมปริมาณของโซเดียมในอาหารนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ จะช่วยลดความดันโลหิตที่สูงในสุนัขได้เหมือนอย่างในคน แต่ถ้าในอาหารที่ให้สุนัขที่ป่วยกิน จะมีการลดปริมาณโซเดียมลงก็ไม่ก่อผลเสียอย่างไร การลดความดันโลหิตในสุนัขยังคงต้องใช้ยาปรับความดันเข้าช่วยด้วย นอกจากนี้ก็ควรต้องมีสารอาหารอื่น ๆ ที่เสริมเข้าไปด้วย เช่น วิตามินที่ละลายน้ำได้ โพแทสเซียม (ช่วยจัดการภาวะโพแทสเซียมในกระแสเลือดสูง) แคลเซียมคาร์บอเนต (ช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรด)  กรดไขมันจำเป็น ฯลฯ  อย่างไรก็ดีสุนัขที่ป่วยความอยากอาหารจะลดลง บางรายเจ้าของจำเป็นต้องช่วยป้อน ปัจจุบันมีอาหารสัตว์ป่วยสำหรับสุนัขที่เป็นโรคไตโดยเฉพาะทั้งแบบเม็ดและแบบเปียก สามารถให้คุณหมอที่รักษาจ่ายให้สุนัขป่วยมากินได้ เพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในนี้
 
 

Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลสุนัขป่วยโรคไตวายเรื้อรัง


 

ให้สารน้ำ (น้ำเกลือ) แก่สุนัข

 
 
 
     เพราะไตมีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย เมื่อไตทำงานลดลง ร่างกายก็จะเพิ่มเลือดมาที่ไตมากขึ้นในช่วงแรก เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในการขับของเสียในร่างกาย ผลที่ตามมาก็คือ สุนัขที่ป่วยจะปัสสาวะมากขึ้น ร่างกายจึงขาดน้ำ การให้สารน้ำจึงเป็นการเติมน้ำเข้าไปให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ป้องกันภาวะขาดน้ำ และลดการคั่งของของเสียในร่างกาย สารน้ำช่วยเจือจางและลดระดับของเสียในกระแสเลือด เพิ่มปริมาณการปัสสาวะ เร่งขับของเสียออกไป อีกทั้งยังได้ชดเชยน้ำและอิเล็กโตรไลท์บางชนิดให้กับร่างกายด้วย

     สำหรับปริมาณการให้นั้นก็ขึ้นกับดุลพินิจของสัตวแพทย์ โดยคำนวณตามน้ำหนักตัว ร่วมกับเปอร์เซนต์การขาดน้ำ และน้ำที่สูญเสียออกไปจากร่างกาย คำนวณออกมาเป็นปริมาณที่สุนัขควรได้รับต่อวันว่าเท่าไร (กี่มิลลิลิตร) ซึ่งสุนัขตัวเดียวกันอาจมีความต้องการมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับสภาพของสัตว์ ณ ขณะนั้น โดยช่องทางการให้ก็มีหลายช่องทาง เช่น ให้สารน้ำเข้าเส้นเลือด ให้สารน้ำเข้าใต้ผิวหนัง ฯลฯ เจ้าของก็สามารถให้สารน้ำกับสุนัขด้วยตัวเองได้ทางใต้ผิวหนังตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ในสุนัขรายที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังและมีระดับคงที่แล้ว ช่วยให้สุนัขไม่เครียดที่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ๆ เพราะโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องและยาวนานครับ เพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมในที่นี่
 
 
 
 

ให้ยาตามสัตวแพทย์แนะนำ

 
 
 
     สำหรับโรคไตนั้นยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด ส่วนมากให้ตามอาการและความผิดปกติที่ตามมาเมื่อสุนัขป่วยเป็นโรคไต เช่น ภาวะโลหิตจาง อาจมีการใช้ยาบำรุงเลือด หรือมีการฉีดฮอร์โมน อีริโทรโพอิติน (erythropoietin) กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ภาวะความดันโลหิตสูง บางรายอาจจะสูงมากกว่า 160-180 mmHg. ก็จะต้องได้รับยาปรับความดันช่วยด้วย นอกจากนี้ก็ยังอาจมียาลดกรด ยาระงับอาเจียน ยาปฏิชีวนะ (สำหรับรายที่มีการติดเชื้อ) ต่างกันไปในแต่ละราย โดยยาที่ให้กับสัตว์ควรเป็นไปตามที่สัตวแพทย์กำหนด เจ้าของควรศึกษาทำความเข้าใจให้ละเอียดก่อนที่จะนำมาป้อนให้กับสุนัข และควรทำการจดบันทึกการให้เพื่อป้องกันการสับสน
 

Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลสุนัขป่วยโรคไตวายเรื้อรัง


 

หมั่นสังเกตอาการและพาสุนัขกลับมาพบสัตวแพทย์ตามนัด

 
 
 
     สุนัขป่วยที่อยู่ที่บ้านเจ้าของจะเป็นผู้ทราบอาการดีที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรมีการจดบันทึกสัญญาณชีพ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การเต้นของชีพจร  อัตราการหายใจ ฯลฯ (สามารถศึกษาวิธีการตรวจด้วยตัวเองได้ในนี้) รวมถึงสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอว่า สุนัขกินอาหารได้หรือไม่ ร่าเริงหรือไม่ มีอาการอาเจียนหรือไม่ มีแผลในช่องปากหรือที่ลิ้นหรือไม่ มีกลิ่นของลมหายใจเป็นอย่างไร (มีกลิ่นยูเรียหรือไม่) เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการประเมินความก้าวหน้าอาการป่วยของน้องหมา ที่สำคัญคือต้องพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์เป็นประจำ เพื่อเฝ้าติดตามค่าไต (การตรวจค่าของเสียในกระแสเลือด เพื่อความแม่นยำ เจ้าของควรงดอาหารสุนัขอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนมาตรวจ) ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจดูจำนวนเม็ดเลือดแดง ตรวจปัสสาวะ และดูการสูญเสียโปรตีนออกมากับปัสสาวะ ปัจจุบันมีการตรวจค่า SDMA test เป็นการตรวจค่าไตตัวใหม่ ที่สามารถช่วยระบุโรคไตได้เร็วขึ้น เพราะค่า SDMA จะเพิ่มขี้นแม้ว่าไตจะสูญเสียการทำงานไปเพียงแค่ 40% เท่านั้น ส่วนจะอยู่ในระยะใดตาม IRIS stage นั้น ก็ต้องประเมินร่วมกันทั้งค่าไต ค่าความดันโลหิต และค่า UPC ratio ครับ
 
 
     การดูแลสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังมีความจำเป็นที่เจ้าของต้องหันมาใส่ใจ อย่างเรื่องการปรับอาหารแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งหมดนี้ก็เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและช่วยยืดระยะเวลาของสุนัขที่ป่วยให้ได้อยู่กันเจ้าของออกไปได้อีกนาน





 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์

น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

www.dogilike.com 

http://family.dogilike.com/tonvet/


 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
http://www.iris-kidney.com/guidelines/grading.html
 
 
รูปภาพประกอบ :
http://cf.ltkcdn.net/dogs/images/std/204185-675x450-sickdoge.jpg
https://yourdogisworthittoo.com/wp-content/uploads/2017/04/Dog-Eats-Off-The-Floor.jpg
https://cmeimg-a.akamaihd.net/640/cme/cuteness_data/s3fs-public/diy_blog/Why-Would-A-Dog-Need-Furosimide.jpg