โดย: Tonvet
โรคร้ายของน้องหมาที่มาจากการให้อาหารผิดๆ !!!
เลี้ยงน้องหมาแบบผิด ๆ สุนัขมีสิทธิป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้างนะ
16 พฤศจิกายน 2560 · · อ่าน (16,701)
ทุกวันนี้มีสุนัขป่วยเข้ารับการรักษามากมาย โรคภัยไข้เจ็บที่พบก็ไม่ต่างอะไรกับที่พบในมนุษย์ เพราะความใกล้ชิดระหว่างคนและสุนัขมีมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่จึงแทบไม่มีความแตกต่างกัน บางคนมองสุนัขเป็นลูกหรือเป็นหนึ่งสมาชิกในครอบครัว คนกินอย่างไรสุนัขก็กินอย่างนั้น จึงเป็นที่มาของโรคบางอย่างที่พบได้ในสุนัขดังต่อไปนี้ครับ...
พิษภัยจากอาหาร
ปัญหาที่เกิดตามมาจากอาหารที่สุนัขกินเข้าไปนั้นมีพบได้หลายสาเหตุ อย่างที่พบได้บ่อยสุด คือ การที่เจ้าของเปลี่ยนอาหารให้สุนัข แล้วสุนัขแสดงอาการท้องเสีย สุนัขพวกนี้มักจะยังร่าเริงดี เพียงแต่การขับถ่ายนั้นผิดปกติไป สาเหตุมักเกิดขึ้นกับเจ้าของที่นำอาหารใหม่มาให้สุนัขกินทันที โดยที่ไม่ได้มีการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ซึ่งโดยหลักแล้วเราควรนำอาหารใหม่มาผสมกับอาหารเก่าก่อน โดยเริ่มจากให้อาหารใหม่ในปริมาณน้อย ๆ จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จาก 25% เป็น 50% และเป็น 75% ตามลำดับ จนในที่สุดก็เปลี่ยนมาให้เป็นอาหารใหม่ล้วนร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ควรใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ การค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนอาหารเช่นนี้จะช่วยให้สุนัขคุ้นเคยกับอาหารใหม่และไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายของสุนัข
ปัญหาต่อมา คือ การให้อาหารที่เป็นพิษสำหรับสุนัข เจ้าของบางคนนั้นไม่ทราบว่าอาหารบางอย่างนั้นสุนัขกินไม่ได้ เพราะกินแล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจถึงชีวิตถ้าได้รับปริมาณมากเกินไป เช่น ช็อกโกแลต มีสาร Theobromine ทำให้สุนัขเกิดอาการท้องเสีย อาเจียน กล้ามเนื้อสั่น ฯลฯ องุ่นและลูกเกด มีสาร raisin ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ถั่วแมคคาเดเมีย ส่งผลในสุนัขอาเจียน ขาอ่อนแรง เดินเซ ปวดเกร็งท้อง กล้ามเนื้อกระตุก และมีไข้สูง เป็นต้น อาหารเหล่านี้ไม่เหมาะสมกับสุนัข ไม่ควรให้สุนัขกินเพราะจะเป็นอันตรายได้
สุดท้ายที่พบได้ คือ การให้อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เจ้าของส่วนหนึ่งเชื่อว่า สุนัขบ้านมีพัฒนาการมาจากสุนัขป่า อาหารที่ผ่านขั้นตอนการผลิตจึงไม่เหมาะสม อีกทั้งคุณค่าทางสารอาหารจะลดลง เพราะวิตามินหลายชนิดจะถูกทำลายด้วยความร้อน แต่ความจริงแล้วสุนัขนัขบ้านนั้นต่างจากสุนัขป่า มีหลักฐานของยีนหลายตัวที่ต่างกัน จึงมีความสามารถในการย่อยอาหารที่ไม่เหมือนกันตามวิวัฒนาการ และปัญหาของการให้สุนัขกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกในแง่สาธารณะสุขนั้น คือ การปนเปื้อนของเชื้อโรคมากมาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย Salmanella sp., E. coli , Clostridium sp., Staphylococcus aureus เชื้อโปรตัวซัว Giardia sp. ตัวปรสิตหรือหนอนพยาธิต่าง ๆ ฯลฯ เชื้อพวกนี้อาจปนเปื้อนในอาหารที่ผ่านขั้นตอนการผลิตได้ หรือปนเปื้อนอยู่ในภาชนะที่ใส่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื้อบางตัวเป็นเชื้อที่ก่อโรครุนแรงในทางเดินอาหารและอาจส่งต่อไปยังสิ่งแวดล้อมได้ต่อผ่านทางอุจจาระด้วย และคนก็สามารถติดเชื้อเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ อันตราย!! ภัยร้ายที่มากับอาหารสุนัข
โรคอ้วน
ปัจจุบันสุนัขมีปัญหาเป็นโรคอ้วนมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักก็เกิดจากการเลี้ยงดู การให้อาหารในแต่ละมื้อที่มากเกินไป การให้กินอาหารอื่น ๆ เสริมระหว่างมื้อ ให้กินขนมพร่ำเพื่อ การตั้งอาหารทิ้งไว้ตลอดเวลา การให้อาหารของคนกับสุนัขที่มีพลังงานสูงเกินไป และสุนัขขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากการเลี้ยงดูล้วน ๆ โรคอ้วนทำให้สุนัขเดินอุ้ยอ้าย เชื่องช้า ขี้เกียจ ไม่ทนต่อการออกกำลังกายและเหนื่อยง่าย มีไขมันปกคลุมร่างกายจนไม่สามารถคลำพบกระดูกสะโพกและกระดูกซี่โครง ซึ่งไขมันที่หนาสามารถมองเห็นได้ชัดทั้งส่วนเอวที่หายไป โคนหางที่หนาตัว และแผ่นหลังหนาตัวเป็นแผ่นหนา จนสุนัขบางตัวเมื่อจับตัวให้นอนหงายแล้วไม่สามารถพลิกตัวเองได้เลยก็มี ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ปัญหาที่ข้อต่อต้องรอบรับน้ำหนักมากเกินไป โรคเบาหวาน เป็นต้น
การจัดการง่าย ๆ ควรเริ่มต้นจากการให้อาหารสุนัขที่เหมาะสม ให้เป็นมื้อ ๆ และงดการใช้ขนมพร่ำเพื่อ คำว่าเหมาะสมในที่นี้ขอเน้นในเรื่องของ "พลังงานจากอาหาร" ที่ร่างกายน้องหมาต้องการต่อวัน ซึ่งหากเป็นอาหารที่ทำมาเพื่อสุนัขโดยเฉพาะนั้น จะมีการระบุปริมาณอาหารที่สุนัขควรได้รับต่อวันมาแล้ว (มีการคำนวนมาแล้ว) เราแค่ให้ตามคำแนะนำที่ระบุมาเท่านั้น แต่หากเป็นสุนัขที่เราปรุงให้สุนัขเอง จะต้องคำนวณตามน้ำหนักตัว โดยค่าเฉลี่ยของระดับพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน (Daily Energy Requirement) เราคำวนณจากค่า Resting energy requirement (RER) คือ (30xน้ำหนักตัว(Kg.)) + 70 ก็จะได้ออกมาเป็นพลังงานที่ต้องการ ซึ่งเราต้องมาคำนวณต่อว่า อาหารแต่ละอย่างที่เราให้สุนัขไปในแต่ละวันนั้น ให้พลังงานทั้งหมดเป็นเท่าไร เมื่อได้พลังงานสำหรับสุนัขต่อตัวต่อวันออกมาแล้ว ทีนี้ก็ควรจัดสรรแบ่งมื้อที่จะให้ โดยแนะนำว่าควรแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 2-4 มื้อ เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาพลาญพลังงานและช่วยลดความหิวระหว่างมื้อที่ต้องรอนาน ๆ และสุดท้ายเลยก็คือ การเสริมอาหารที่กากใยช่วย จะช่วยชะลอการดูดซึมกลูโคสในลำไส้เล็ก ช่วยให้สุนัขรู้สึกอิ่มนาน และเสริมแอล-คาร์เนทีน ที่มีส่วนช่วยเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานมากขึ้น ที่สำคัญก็อย่าลืมชวนน้องหมาออกกำลังกายทุกวันด้วยนะครับ โดยเลือกใช้วิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุนัขในแต่ละตัว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ "หยุด!! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง"
โรคกระดูกและข้อเจริญผิดปกติ
หัวข้อนี้ก็ยังหนีไม่พ้นการเลี้ยงดูจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้องอยู่นะครับ สำหรับโรคกระดูกและข้อเจริญผิดปกติ เราเรียกกว้าง ๆ ว่าโรค Developmental orthopedic disesea (DOD) ซึ่งมีด้วยกันหลายโรค เช่น โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคเหล่านี้จะเจ็บปวดข้อ ข้อบวมและอักเสบ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติไป เช่น การลุกยืนหรือเดินลำบาก โครงสร้างกระดูกผิดรูปไป ฯลฯ มักพบได้บ่อยในสุนัขอายุ 4-10 เดือน ซึ่งเจ้าของมีการเสริมแคลเซียมให้กับสุนัขมากเกินไปจนผิดอัตราส่วน ซึ่งอัตราส่วนของระดับแคลเซียมต่อระดับฟอสฟอรัสในอาหารจะอยู่ 1:1 ถึง 2:1 แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยในการทำงานของสารสื่อประสาท ร่างกายน้องหมาสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ผ่านทางลำไส้ สุนัขที่โตเต็มวัยแล้วจะมีความต้องการแคลเซียมประมาณ 0.5-1% Dry matter หรือ 100-150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เจ้าของส่วนมากมักจะนิยมเสริมแคลเซียมให้กับลูกสุนัข โดยเฉพาะลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตสร้างกระดูกและฟัน ก็หากเสริมให้มากเกินไปจนเสียสมดุลตามอันตราส่วนที่ได้กล่าวไปก็ทำให้เกิดผลเสียตามมาได้
โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในทางเดินปัสสาวะน้องหมานั้นมีหลายชนิด แยกตามองค์ประกอบของแร่ธาตุในก้อนนิ่วนั้น ๆ ซึ่งสาเหตุของการเกิดนิ่วดังกล่าวก็มีปัจจัยมากมายเช่นกัน ทั้งพันธุกรรม การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และหนึ่งในนั้นก็เกิดจากการเลี้ยงดู (ผิดๆ) อย่างการให้อาหารและน้ำนั่นเอง เวลาที่น้องหมากินอาหารเข้าไป ร่างกายย่อยอาหารและผ่านกระบวนการเมทาบอลิซึม จนได้ออกมาเป็นสารอาหารต่าง ๆ ที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ พวกสารต่าง ๆ เหล่านี้บางตัวก็มีผลทำให้ปัสสาวะเกิดภาวะเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป หรือในอาหารและน้ำที่กินนั้น อาจมีแร่ธาตุหรือสารเคมีบางอย่างปลอมปนอยู่สูงเกินไป ก็เป็นสาเหตุทำให้น้องหมาเกิดนิ่วขึ้นมาได้ เช่น น้องหมาที่ได้รับอาหารจำพวกโปรตีนสูง (มากกว่า 10-18% dry matter) เป็นเวลายาวนาน หรือน้องหมาที่ได้รับแคลเซียม แมกนีเซียม และออกซาเลตมากไป เป็นต้น นอกจากสารต่าง ๆ ในอาหารและน้ำจะเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วได้แล้ว รูปแบบของอาหารก็มีส่วนทำให้เกิดนิ่วได้เช่นกัน น้องหมาที่กินแต่อาหารแห้ง (อาหารเม็ด) และกินน้ำน้อยจะทำให้ปัสสาวะเข้มข้นขึ้น จึงเกิดการตกตะกอนของนิ่วได้ง่าย เจ้าของควรต้องสนใจหมั่นสังเกตการกินน้ำของสุนัขว่า ได้รับน้ำเพียงต่อความต้องการหรือหรือไม่ (สุนัขต้องการน้ำอย่างน้อย 50 มิลลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน) และไม่ควรให้อาหารเดิมซ้ำ ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเลี่ยงการให้กินอาหารที่มีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ "4 วิธีรับมือกับโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะสุนัข"
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันว่า ความเจ็บป่วยสุนัขนั้นเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง และอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้น้องหมาเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย หากเราขาดความเข้าใจในการให้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสุนัขแล้ว ก็คงปฏิเสธผลที่จะตามได้ยาก ขึ้นอยู่กับเจ้าของแล้วว่า จะเป็นผู้ยื่นความผิดปกติให้กับน้องหมา หรือเป็นผู้ปกป้องน้องหมาจากโรคร้ายเหล่านี้ ...ขอฝากไว้ให้คิดกันครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ :
https://dogfood.guide/wp-content/uploads/2016/11/Fotolia_129089349_S-768x432.jpg
https://rekordeast.co.za/wp-content/uploads/sites/85/2014/07/dog-eating.jpg
https://topdogtips.com/wp-content/uploads/2017/06/New-Study-on-How-Dogs-Diet-Affects-Gut-Microbiome-and-Obesity.jpg
https://i.ytimg.com/vi/PV5VSuBL4YE/hqdefault.jpg
http://vet.uga.edu/ivcvm/courses/vpat5215/urinary/lower/images/f19168.jpg
SHARES