โดย: Tonvet
7 วิธีโกงความตาย เมื่อคนถูกสุนัขกัดจะต้องทำอย่างไรบ้าง
มาดูวิธีรับมือเมื่อคนถูกสุนัขกัดกันครับ
27 มิถุนายน 2561 · · อ่าน (5,817)
- ปี พ.ศ. 2561 ผ่านไปเพียงถึงครึ่งปี มีคนเสียชีวิตจากโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ไปแล้วถึง 9 ราย แซงหน้าจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
- การปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อและนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้
- การปฐมพยาบาลบาดแผลที่ถูกกัด จะต้องรีบทำการล้างแผลด้วยสบู่โดยทันที โดยทำการถูที่แผลและรอบแผลเบา ๆ หลายรอบอย่างน้อย 10 -15 นาที
- ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน เพื่อได้รับวัคซีนและอิมมูโนโกลบุลิน (RIG) ตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่ต้องรอให้สุนัขที่มากัดเสียชีวิตก่อน
ต้องยอมรับเลยครับว่าปีนี้ (พ.ศ. 2561) สถานการณ์ปัญหาโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยน่าเป็นห่วงมาก ล่าสุดผ่านไปเพียงแค่ครึ่งปีมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 9 ราย สูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปีของหลายปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง บางรายถูกสุนัขข่วนหรือกัดเป็นแผลถลอก กลับชะล่าใจไม่ยอมทำแผลและเข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อได้รับเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่เส้นประสาทแล้วก็ยากเกินจะรักษาได้ทัน จนต้องเสียชีวิตไป เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาโรคเรบีส์ หรือโรคอื่น ๆ ที่จะติดต่อได้จากการถูกสุนัขกัด วันนี้ มุมหมอหมา จะมาแนะนำแนวทางปฏิบัติเมื่อคนเราถูกสุนัขกัดกันครับ
เมื่อคนถูกสุนัขกัดต้องทำอย่างไร
การดูแลรักษาคนที่สัมผัสเชื้อจากการถูกกัดหรือข่วนอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันชีวิตได้ แม้แต่การถูกเลียโดยที่น้ำลายของสุนัขถูกผิวหนังที่มีลอยถลอกหรือรอยขีดข่วนอยู่ก็มีโอกาสติดโรคได้ จึงต้องจัดเป็นผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อด้วย ดังนั้นเรามาดูกันครับว่า เมื่อเราถูกสุนัขกัดหรือข่วนแล้วเราจะปฐมพยาบาลบาดแผลอย่างไรดี
1 ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่ทันที โดยฟอกที่แผลเบา ๆ หลาย ๆ ครั้ง จากนั้นให้ล้างเอาสบู่ออก ควรทำแบบนี้ซ้ำไปมาอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อให้สบู่ได้ชะล้างหรือกำจัดเอาเชื้อโรคออกให้มากที่สุด แต่ห้ามบีบเค้นบาดแผลเป็นอันขาด เพื่อป้องกันไม่ให้บาดแผลบอบช้ำ ควรถูแผลเบา ๆ แต่ให้ได้เวลาที่นานเพียงพอตามที่แนะนำแทน
2 เมื่อล้างสบู่ออกแล้ว ให้ซับแผลและบริเวณโดยรอบบาดแผลให้แห้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้ยาโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) แต้มแผล จากนั้นปิดบาดแผลด้วยผ้าก๊อสหรือแผ่นปิดแผลสำเร็จรูปให้เรียบร้อย แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้สุนัขที่มากัดเสียชีวิตก่อนจึงค่อยไปพบแพทย์
3 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนชนิดหลังสัมผัสโรคโดยฉีดวัคซีนครั้งละ 1 โด้ส ในวันที่ 0, 3, 7,14 และ 30 โดยเคร่งครัดตรงตามกำหนดที่แพทย์นัดหมาย โดยวันที่ 0 คือวันแรกที่ฉีดวัคซีน ถ้าให้ดีควรเป็นวันเดียวกับถูกสุนัขกัด ส่วนวันที่ 3, 7, 14, 30 จะนับจากวันแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามลำดับครับ
4 สำหรับผู้ที่ถูกกัด โดยฟันสุนัขแทงทะลุผิวหนังและมีเลือดออก ถูกข่วนที่ผิวหนังจนเป็นลอยเล็บหรือลอยถลอก มีเลือดออกซิบๆ ถูกสุนัขเลียบาดแผล และที่สำคัญยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน นอกจากทำตามข้อที่ 1-3 แล้ว จะต้องได้รับอิมมูโนโกลบุลิน (RIG) ด้วยโดยเร็วที่สุดด้วย โดยจะทำการฉีดบริเวณโดยรอบแผลให้ได้มากที่สุด เพื่อลบล้างฤทธิ์ของเชื้อที่อยู่ในบาดแผล ซึ่งก่อนฉีดจะต้องทำการฉีดทดสอบการแพ้ RIG ก่อน และหลังจากฉีดจะต้องเฝ้าระวังอาการแพ้หลังฉีด RIG อย่างน้อย 1 ชั่วโมงด้วย
5 สำหรับผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนและครบถ้วนแล้ว ก็ยังจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยที่ไม่ต้องได้รับอิมมูโนโกลบุลิน (RIG) ด้วย โดยหากสัมผัสโรคภายใน 6 เดือนหลังจากที่ได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย ต้องได้รับการฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง ในวันแรก ส่วนผู้ที่สัมผัสโรคหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ต้องได้รับการฉีดกระตุ้น 2 ครั้ง ในวันที่ 0 (วันแรก) และ 3 นับจากการฉีดกระตุ้นวัคซีนวันแรก ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นในระดับสูงอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้รับการฉีกกระตุ้น
6 ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ยาลดอาการอักเสบและลดปวดจากแพทย์มากินต่อ ตลอดจนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่แพทย์ได้นัดหมายด้วย เพื่อป้องกันโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาจากการถูกสุนัขกัดนอกเหนือจากโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า)
7 ให้กักขังสุนัขไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วัน ถ้าสุนัขที่ต้องสงสัยอยู่ มีอาการผิดปกติหรือตายภายใน 10 วัน ให้นำซากสุนัขส่งหน่วยงานชันสูตรโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) เพื่อเฝ้าระวังโรค หากตรวจพบว่าเป็นโรคเรบีส์ จะต้องประกาศเป็นเขตโรคระบาดต่อไปครับ
เมื่อสุนัขถูกสุนัขตัวอื่นมากัดต้องทำอย่างไร
สำหรับสุนัขที่ถูกกัด นอกจากจะต้องได้รับการทำแผลเช่นเดียวกับคนแล้ว (ดูวิธีการทำแผลอย่างละเอียดในนี้) ถ้าเป็นสุนัขที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง และเข็มสุดท้ายฉีดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ 1 ครั้ง และเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 45-60 วัน แต่ถ้าเป็นสุนัขที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรือนานกว่า 1-3 ปีแล้ว ถ้าสามารถการุณยฆาตรได้ให้ทำโดยทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะสุนัขที่ถูกสุนัขตัวที่ต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากัด และสุนัขตัวที่มากัดนั้นได้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 10 วันหลังแสดงอาการและมีผลตรวจยืนยันการพบเชื้อ แต่หากไม่สามารถทำได้ ให้แยกเลี้ยงกักบริเวณ และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 6 เดือน และต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 4 วัน
แม้จะเป็นสุนัขที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เลี้ยงในระบบปิด ได้รับวัคซีนป้องกันอย่างครบถ้วนเป็นประจำทุกปี และฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาไม่เกิน 1 ปี ก็อย่าชะล่าใจไปนะครับ เมื่อถูกสุนัขกัดก็ควรจะต้องปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้โดยเคร่งคัด โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลบาดแผล ให้รีบล้างทำความสะอาดบาดแผลอย่างถูกวิธีโดยทันที และที่สำคัญก้ควรต้องกักบริเวณสังเกตอาการของสุนัขอย่างน้อย 10 วันเช่นกันนะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน :
หนังสือแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อย. กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2555
รูปภาพประกอบ :
https://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/articles/health_tools/JJ_First_Aid_Essentials/WebMD_RM_photo_of_man_swabbing_hands.jpg
https://image.freepik.com/free-photo/doctor-s-hand-clean-dressing-abrasion-wound-at-knee-thumb_28914-768.jpg
https://d2v9y0dukr6mq2.cloudfront.net/video/thumbnail/BxarjgPyxiuj5f7an/close-up-vaccine-injection-and-arms-in-hospital_rvlq1lleg_thumbnail-full08.png
SHARES