โดย: Tonvet
เคล็ด(ไม่)ลับ การดูแลแผลกดทับให้น้องหมา
แผลกดทับคืออะไร มีวิธีการดูแลและป้องกันอย่างไร ตามมาดูกันเลย
5 กันยายน 2561 · · อ่าน (24,280)- แผลกดทับเกิดจากแรงกดที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง จึงทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดความเสียหาย เกิดเป็นแผลกดทับขึ้น
- แผลกดทับมีหลายระดับตามความลึกและความรุนแรงของแผลกดทับ ซึ่งแต่ละระดับมีรายละเอียดการรักษาที่แตกต่างกันไป
- แผลกดทับที่เกิดเนื้อตายและแบคทีเรียจะทำให้แผลหายช้า แผลที่สะอาดและมีความชุ่มชื่นเล็กน้อยจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นได้
- สุนัขที่เคยเป็นแผลกดทับแล้ว มีโอกาสที่จะกลับมาเกิดแผลกดทับอีกได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นตามมา เมื่อสุนัขไม่สามารถขยับร่างกายหรือเคลื่อนไหวช่วยเหลือตัวเองได้ก็คือ แผลกดทับ ปัญหานี้เสมือนเป็นสิ่งที่คอยมาซ้ำเติมความเจ็บป่วยของสุนัขให้แย่ลงไปอีก สุนัขที่มีแผลกดทับจะทำให้คุณภาพชีวิตลดลงเนื่องจากการเจ็บปวด บาดแผลกดทับมีหลายระดับตามความรุนแรง และมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป แน่นอนว่าเมื่อเกิดแผลกดทับขึ้นมาแล้ว ย่อมต้องใช้ระยะเวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการรักษา ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปได้ ถ้าเราเข้าใจและเรียนรู้วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้มันเกิด วันนี้ มุมหมอหมา มีเคล็ด(ไม่)ลับ การดูแลและป้องกันแผลกดทับให้กับน้องหมา มาฝากครับ
สาเหตุของแผลกดทับ
แผลกดทับ (bedsores, pressure wounds) เป็นแผลที่มักจะเจอได้บ่อยในสุนัขที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะสุนัขที่มีปัญหาที่เกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อต่อ โรคระบบประสาท (เป็นอัมพาต) หรือเป็นสุนัขที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ และมักเกิดกับผิวหนังบริเวณที่มีชั้นไขมันน้อยตามบริเวณเหนือปุ่มกระดูกต่าง ๆ เมื่อเกิดแรงกดขึ้นกับพื้นผิว ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง จึงทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดความเสียหายขึ้น ยิ่งถ้าสุนัขต้องอยู่บนพื้นที่แข็ง ฝืด เกิดการเสียดสีหรือถู ก็จะทำให้เกิดบาดแผลขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากสภาพผิวหนังที่อับชื้น สุนัขบางตัวนอนทับฉี่ของตัวเอง ผิวหนังมีความชื้นตลอดเวลาเซลล์จะมีการหลุดลอกและเปื่อยเป็นแผลได้ง่าย ยิ่งถ้ามีเซลล์ไขมันบริเวณนั้นน้อย ร่างกายขาดสารอาหาร ก็ยิ่งทำให้เกิดแผลกดทับตามมาได้ง่ายขึ้น
ระดับความรุนแรงของแผลกดทับ
แผลกดทับมีความรุนแรงแตกต่างกันตามระดับความลึกของแผลกดทับ ที่บ่งบอกให้ทราบถึงความรุนแรงที่เนื้อเยื่อได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ผมขอยกนิยามระดับความรุนแรงของแผลกดทับตาม National Pressure Ulcer Advisory Panel (NPUAP) ซึ่งได้แยกระดับออกมาได้ดังนี้
ระดับที่ 1 ผิวหนังยังไม่เป็นแผล เพียงแต่มีสีผิวแตกต่างกับบริเวณข้างเคียง ถ้าสัมผัสอาจมีอุณหภูมิแตกต่างจากผิวบริเวณข้างเคียง
ระดับที่ 2 จะเริ่มมีแผลหลุมที่ตื้น ยังไม่ถึงขั้นเป็นเนื้อตาย ผิวยังเป็นสีแดงหรือชมพูอยู่ แต่จะแตกต่างกับผิวบริเวณรอบ ๆ อย่างเห็นได้ชัด
ระดับที่ 3 แผลจะเริ่มลึกขึ้น อาจลึกถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง นั้นคือเกิดความเสียหายของชั้นผิวหนังบริเวณนั้นทั้งหมด แต่ยังไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก
ระดับที่ 4 แผลลึกจนไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เยื่อหุ้มข้อต่อ และกระดูก อาจพบเนื้อตายร่วมด้วย แผลจะกว้างหรืออาจเป็นโพรงลึก
นอกจากนี้ยังมีแผลกดทับบางชนิดที่ไม่สามารถระบุระดับความรุนแรงได้ (Unstageable stage) เนื่องจากบาดแผลเกิดเนื้อตายทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถเห็นความลึกของแผลได้ จะต้องทำการตัดเนื้อตายออกเสียก่อน จึงจะสามารถเห็นความลึกของแผลได้
การดูแลแผลกดทับให้น้องหมา
การดูแผลกดทับนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของแผล หากมีแผลหลุมจะต้องทำความสะอาดแผล หลักการทำแผลเบื้องต้นคล้ายกับบาดแผลทั่วไป โดยใช้น้ำเกลือ narmal saline สำหรับล้างทำความสะอาดบาดแผล และบริเวณรอบ ๆ บาดแผล ถ้ารอบแผลมีขนปกคลุม ก็ให้ใช้มีดโกนเอาขนบริเวณนั้นออกก่อน เพื่อป้องกันขนไปทำให้บาดแผลเกิดการสกปรก เพราะแผลจะหายได้ดีถ้าแผลนั้นสะอาด แต่หากมีเนื้อตายจะต้องทำการตัดเอาเนื้อตายออกให้หมด ตรงนี้ควรให้สัตวแพทย์เป็นผู้ประเมินและทำการตัดเอาเนื้อที่ตายนั้นออกไป รวมถึงต้องได้รับบยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เพราะเนื้อตายและแบคทีเรียจะทำให้แผลหายช้า การกำจัดเนื้อตายจะช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรีย แผลที่สะอาดและมีความชุ่มชื่นเล็กน้อยจะช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น วัสดุปิดแผลควรเลือกใช้วัสดุที่ช่วยดูดซับสารคัดหลั่งหรือหนองได้ดี และควรช่วยลดแรงกดทับที่จะมากระทำกับแผลด้วย เพื่อให้เลือดกลับมาเลี้ยงแผลได้ตามปกติ แต่หากเป็นแผลกดทับที่ใหญ่หรือรุนแรง เจ้าของควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์จะดีกว่า ปัจจุบันมีการรักษาแผลหลากหลายวิธีช่วยทำให้แผลหายไว้ขึ้น เช่น การใช้แสงเลเซอร์ช่วยกระตุ้นมาสโคฟาส การสร้างเส้นใย และช่วยเพิ่มการสร้างคอลลาเจน ทำให้แผลหายดีขึ้น เพื่อน ๆ สามารถศึกษาวิธีการทำแผลได้อย่างละเอียดได้ในบทความ เมื่อน้องหมามีบาดแผลจะดูแลอย่างไร
การป้องกันแผลกดทับ
สุนัขที่เคยเป็นแผลกดทับแล้ว มีโอกาสที่จะกลับมาเกิดแผลกดทับอีกได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นหนทางที่ดีเพื่อลดการเกิดแผลกดทับซ้ำอีกในอนาคต หรือ อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงของแผลกดทับลงได้ โดยเราจะต้อง...
- หมั่นสำรวจผิวหนังบริเวณที่มีขนปกคลุมน้อย บริเวณที่มีไขมันสะสมน้อย โดยเฉพาะบริเวณหัวกระดูกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสะโพกด้านข้าง หัวไหล่ ข้อต่อ เชิงกรานก้นกบ ฯลฯ ตรวจดูว่ามีรอยแดงหรือมีสีแตกต่างไปจากสีผิวโดยรอบหรือไม่
- หมั่นเปลี่ยนท่าทางหรือพลิกตัวให้สุนัขบ่อย ๆ ไม่ให้น้องหมานอนท่าเดิมนาน ๆ ให้ขยับหรือพลิกตัวอย่างน้อยทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อไม่ได้ผิวหนังโดนกดทับนาน ๆ อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายได้ขยับเกิดการเคลื่อนไหว ทำให้เลือดเกิดการไหลเวียนดีขึ้นด้วย
- พยายามอย่าให้ผิวหนังเปียกหรืออับชื้น หรือปล่อยให้นอนทับฉี่ตัวเอง เพราะจะทำให้เซลล์ผิวหนังเปื่อยหลุดลอกจนเป็นแผลตามมาได้ง่าย เวลาสุนัขขับถ่ายรดผ้าปูที่นอน ควรทำความสะอาดทันที อย่าให้นอนบนวัสดุที่เปียกชื้นตลอดเวลา พยายามดูแลน้องหมาให้ผิวสะอาดและแห้งอยู่เสมอ
- จัดที่นอนนุ่ม ๆ ที่สามารถช่วยรับแรงกดทับให้กับสุนัข เช่น ที่นอนน้ำ ที่นอนลม ที่นอนฟองน้ำที่ไม่ยุบเป็นแอ่ง ฯลฯ เพื่อลดแรงกดทับที่กระทำต่อผิวหนัง โดยเฉาพะบริเวณหัวกระดูกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสะโพกด้านข้าง หัวไหล่ ข้อต่อ เชิงกรานก้นกบ ฯลฯ อาจหาหมอนหรือผ้านุ่ม ๆ หนุนรองตามข้อต่างๆ ช่วยอีกทางหนึ่งด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ แผลกดทับเกิดจากการที่เนื้อเยื่อผิวหนังขาดเลือดมาเลี้ยง จากการที่ผิวหนังถูกกดทับ จนเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย เมื่อสุนัขเกิดแผลกดทับขึ้นมาแล้ว การดูแลรักษาจะค่อนข้างจะใช้ระยะเวลานาน และอาจเกิดมาเป็นซ้ำได้อีกในอนาคต ดังนั้นการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าครับ จึงอยากให้ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปลองใช้กันดู และหากเพื่อน ๆ คนไหนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของแผลกดทับ สามารถทิ้งคำถามไว้ได้เลยนะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
https://cdn.petbarn.com.au/petspot/wp-content/uploads/2016/03/HYG9.1-Blog-Genral-In-Post-800x533px.png
https://i.pinimg.com/originals/71/ca/12/71ca12e28165253d58a0bd8d703f9579.jpg
http://scoutshouse.com/wp-content/uploads/2009/03/halley-down1.jpg
SHARES