โดย: Tonvet

ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร

การรักษาน้องหมา เรื่องยา..เรื่องใหญ่ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาในการรักษาสุนัขที่เจ้าของควรรู้ไว้

14 พฤศจิกายน 2561 · · อ่าน (10,294)
448

SHARES


448 shares
  • ยาคน ก็คือยาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในคน ส่วน ยาสัตว์ ก็คือยาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสัตว์
 
  • การนำยาคนมาใช้ในสัตว์นั้นสามารถทำได้ หากคุณหมอผู้ให้การรักษาเห็นสมควรและมีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีหลักฐานและงานวิจัยว่ามีความปลอดภัยว่าสามารถนำไปใช้ได้
 
  • เจ้าของไม่ควรนำยาคนสำหรับเด็กมาป้อนให้สัตว์เอง แม้จะเป็นยาออกฤทธิ์ตัวเดียวกัน แต่ขนาดยาที่ใช้ในเด็กกับในสัตว์นั้นต่างกัน การใช้ยาต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทุกครั้ง
     
  • ยาเถื่อน คือ ยาที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน  จึงไม่อาจรับรองได้ว่าการผลิตจะได้มาตราฐานหรือมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยหรือไม่ จึงไม่ควรนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นในสัตว์หรือในคนก็ตาม

 

Dogilike.com :: ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร


 

     เมื่อไม่กี่วันมานี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำยาสัตว์มาใช้รักษาคน บางคนมองเป็นเรื่องแปลกที่แพทย์ใช้ยาสัตว์มารักษาคน ผมขอบอกตรงนี้เลยนะครับว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นข้อต้องห้ามนำมาใช้แต่อย่างใดครับ สามารถทำได้ถ้าคุณหมอผู้ให้การรักษาเห็นสมควรและมีความจำเป็นต้องใช้ คือศาสตร์แห่งการรักษามันเป็นเรื่องของศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ต้องทำภายใต้กรอบจรรยาบบรรณ มีแหล่งข้อมูล งานวิจัยอ้างอิงได้ เช่นเดียวกับสัตวแพทย์ที่นำยาคนมาใช้ในการรักษาสัตว์  ที่นี้เลยขอมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ถึงความแตกต่างของยาคนกับยาสัตว์นั้นเป็นอย่างไร ....
 
 
 
 
 

ความหมายของยาคนและยาสัตว์

 
 
 
     ยาคน ก็คือยาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในคน ส่วน ยาสัตว์ ก็คือยาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสัตว์ ตอบอย่างนี้เหมือนกำปั้นทุบดินเลยครับ แต่มันเป็นเรื่องของการขึ้นทะเบียนยา เพราะกว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาคนหรือยาสัตว์ได้นั้น ต้องมีการศึกษาผลทางคลินิกที่ได้รับความน่าเชื่อถือทั้งในคนหรือในสัตว์นั้น ๆ ก่อน แม้ว่ายาที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาคน จะผ่านการศึกษาวิจัยในสัตว์มาก่อน แต่พอขึ้นทะเบียนเป็นยาที่ใช้ในคนแล้ว ก็ไม่สามารถกล่าวอ้างหรือโฆษณาเป็นยาสัตว์ได้ ยกเว้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์  ดังนั้นการที่เราใช้แยกว่าอันไหนยาคน อันไหนยาสัตว์ ก็มาจากการขึ้นทะเบียนนี่เอง
 
 
 
 

ยาคนเอามาใช้ในสัตว์ ยาสัตว์เอาไปใช้ในคน 

 
 
 
     มีการนำยาคนมาใช้ในการรักษาสัตว์ เพื่อน ๆ ต้องเคยเห็นสัตวแพทย์สั่งใช้ยาที่ขึ้นทะเบียนในคน มารักษาน้องหมาแน่นอน ในแง่ของตัวยาสารออกฤทธิ์นั้น มียาบางตัวที่คนและสัตว์ใช้ร่วมกันได้ ผมยกตัวอย่างเช่นยา Ivermectin ที่กำลังเป็นประเด็นเมื่อไม่นานมานี้ ในทางสัตวแพทย์เราใช้สำหรับฆ่าปรสิตภายในและภายนอก เช่น เห็บ พยาธิตัวกลม ไรขี้เรื้อน ฯลฯ ส่วนในคนก็มีการใช้ Ivermectin สำหรับการรักษาพยาธิตัวกลม การรักษาโรคหิด และโรคปรสิตที่เกิดจากไร Demodex หากแต่ขนาดยาและข้อควรระวังของยาที่ใช้ในคนหรือในสัตว์นั้นต่างกัน 

 
Dogilike.com :: ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร
 


 
     โดยทั่วไปแล้วสัตวแพทย์มักจะเลือกใช้ยาที่ขึ้นทะเบียนในสัตว์มารักษาก่อน แต่ถ้าไม่อาจหายาสัตว์มาใช้ได้ จำเป็นต้องนำยาคนมาใช้แทน ซึ่งก็มีหลักการใช้เป็นไปตามขนาดที่สัตว์แต่ละชนิดต้องการ สุนัขกับแมวก็มีขนาดการใช้ยาที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นการเอายาคนมาใช้ในสัตว์ จึงจำเป็นต้องได้รับการคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนตามการการวิจัยที่มีเอกสารรับรอง ในทางตรงกันข้ามหากคนจะนำยาสัตว์ไปใช้ก็ต้องยึดหลักการเช่นเดียวกัน โดยต้องมีหลักฐานและงานวิจัยว่ามีความปลอดภัยสามารถนำไปใช้ได้
 
 
 
 

ยาคนสำหรับเด็ก ก็คือยาสัตว์ ??

 
 


     ประเด็นนี้อยากจะชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงสัตว์ทุก ๆ คนเลยครับ เพราะหลายคนมักเข้าใจผิดว่า การรักษาสัตว์คล้ายการรักษาเด็ก มีการใช้ยาเด็กมารักษาสัตว์ เจ้าของบางคนเลยไปซื้อยาเด็กมาให้สัตว์ป่วยกินเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ครับ แม้จะเป็นยาออกฤทธิ์ตัวเดียวกัน แต่ขนาดยาที่ใช้ในเด็กกับในสัตว์นั้นต่างกัน แม้แต่ในสัตว์ต่างชนิดกันไม่ว่าจะเป็นหมา แมว กระต่าย หมู วัว นก เต่า หรือปลา ก็ยังมีการใช้ขนาดยาที่ต่างกันเลย การคำนวณขนาดยาผิด อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แทนที่จะหายกลับกลายเป็นยาพิษ บางคนเวลาสัตว์ป่วยมีไข้เอายาลดไข้ของคนไปป้อนให้สัตว์ ยาลดไข้ของคนหลาย ๆ ตัวอาจก่อให้เกิดอันตรายกับสุนัขได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน ที่อาจทำให้เกิดแผลหลุมและมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ บางคนเห็นสุนัขขาบวมคงอักเสบ ก็ไปเอายาปฏิชีวนะของคนมาป้อน โดยคิดว่าเป็นมันยาแก้อักเสบ แท้จริงแล้วยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างหากครับ จะได้ผลก็ต่อเมื่อถ้าการอักเสบนั้น เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การอักเสบจะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยต้องได้รับยาต่อเนื่องกันจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ใช่นึกจะนำมาป้อนเมื่อใดหรือจะหยุดยาเองเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นจึงอยากจะเน้นยำว่า ยาเด็กไม่ใช่จะนำมาใช้รักษาสัตว์ได้เช่นเดียวกับเด็ก การใช้ยาผิด ๆ เท่ากับการส่งสุนัขไปตาย การใช้ยาต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทุกครั้ง
 

 
Dogilike.com :: ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร
 


 

ยาเถื่อน ไม่ควรนำมาใช้ไม่ว่าจะในคนหรือในสัตว์

 
 
 
     ยาเถื่อน เป็นอีกประเด็นที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามไป คิดว่ามันเป็นยาเหมือน ๆ กัน จะนำมาใช้แทนกันอย่างไรก็ได้ ยาเถื่อน นั้นคือยาที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน  จึงไม่อาจรับรองได้ว่าการผลิตจะได้มาตราฐานหรือไม่ จะมีตัวยาจริง ๆ ตามปริมาณที่ระบุเอาไว้หรือไม่ หรือไม่ทราบเลยว่า พอกินยาไปแล้วจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาอย่างไร เพราะไม่มีการทดสอบการเป็นพิษหรือมีศึกษาถึงประสิทธิภาพของยาก่อน ตามขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนยาเลย ทุกวันนี้มียาเถื่อนที่ระบาดหนัก ส่วนมากมักเป็นยาจำพวกกำจัดเห็บหรือถ่ายพยาธิ เพราะมีความต้องการใช้สูง นักธุรกิจหัวใส (แต่ไร้จริยธรรม) จึงแอบผลิตออกมาขาย (แม้กระทั้งใน marketplace ของ Dogilike ก็มีคนแอบเอามาขาย) โดยเฉพาะตัวยา Ivermectin ซึ่งเป็นยาที่สัตวแพทย์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ยา Ivermectin นี้เป็นชื่อสามัญทางยา ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ มีทั้งยี่ห้อที่ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้อง และยี่ห้อที่เป็นยาเถื่อน อย่างที่เราพบเห็นบ่อย ๆ คือ En-Dex 4,000 และ En-Dex 8,000 ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจึงจัดเป็นยาเถื่อน ไม่ควรนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นในสัตว์หรือในคนก็ตาม เพื่อนๆ สามารถศึกาษาวิธีการตรวจสอบยาเถื่อนได้ในบทความ ด็อกไอไลค์ ... แนะวิธีตรวจสอบยาเถื่อนในสุนัข
 

 
Dogilike.com :: ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร


 
     บทความนี้จึงอยากจะทำความเข้าใจถึงหลักการใช้ยาในสัตว์ที่เจ้าของหลายคนมักเข้าใจผิด ว่ายาคนกับยาสัตว์นั้นสามารถใช้ร่วมกันได้ภายใต้ดุลยพินิจของหมอ แต่ต้องมีหลักฐานและงานวิจัยว่ามีความปลอดภัยสามารถนำไปใช้ได้ และมีการคำนวณขนาดตามความต้องการของสัตว์แต่ละชนิด ไม่ใช่ไปเอายาเด็กมาป้อนให้สุนัขในขนาดเท่ากับที่ป้อนในเด็ก หรือไปลดทอนขนาดยาเอาเองความความเข้าใจที่ผิด ๆ เพราะแบบนี้จะเกิดอันตรายได้ สิ่งสำคัญของการนำยาใดใดมาใช้ก็ตาม เราต้องไม่ใช่ยาเถื่อนเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในคนหรือสัตว์ก็ตาม



บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/319/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A2%E0%B8%B2/
 
รูปภาพประกอบ:
https://www.pet-happy.com/files/up/2017/05/dog-eating-placebo-pills.jpg
https://cf.ltkcdn.net/dogs/images/std/183989-425x279-giving-dog-pill.jpg
https://cimg.pchome.co.th/prods/021/294/3121602129420_o_0.jpg?uid=f9814c720b6487a15ac86dbf6d2e32cb