โดย: Tonvet

ดูแลสุนัขอย่างไร ให้ปลอดภัยจากพิษของกัญชา

รู้ทันพิษภัยจากกัญชาในสุนัข การสังเกตอาการ พร้อมทั้งวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น

31 พฤษภาคม 2562 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (14,489)
108

SHARES


108 shares
  • มีการรายงานในวารสาร The Journal of Veterinary Emergency and Critical Care ว่ามีจำนวนสัตว์ป่วยในรัฐโคโลราโดที่ได้รับพิษจากกัญชามากขึ้นถึง 4 เท่า ในจำนวนนี้มีสุนัขจำนวน 2 รายที่เสียชีวิต
     
  • สุนัขที่ได้รับพิษจากกัญชา จะเดินเซ อาการคล้ายเหมือนคนเมา ทรงตัวไม่อยู่  รูม่านตาขยาย กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นช้าลง  อ่อนแรง อุณหภูมิร่างกายต่ำ ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายไหลมากกว่าปกติ ปัสสาวะกระปิดกระปอย และอาจถึงขั้นชักได้
     
  • ยังไม่ยาสำหรับถอนพิษจากกัญชาโดยเฉพาะ ส่วนมากรักษาตามอาการ โดยให้สารน้ำ ยาระงับอาเจียน หรือให้ยาซึมในรายที่กระวนกระวาย และต้องเฝ้าสังเกตอาการไปจนกว่าพิษของสารพิษจะถูกขับจากร่างกายไปหมด


 

Dogilike.com :: ดูแลสุนัขอย่างไร ให้ปลอดภัยจากพิษของกัญชา




 

     ตอนนี้กระแสของการใช้กัญชารักษาโรคในคนกำลังได้รับความสนใจ ในสหรัฐอเมริกาหลังจากที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี ก็เริ่มมีรายงานว่า สัตว์เลี้ยงที่ได้รับอันตรายจากกัญชามากขึ้นตามไปด้วย มีการรายงานในวารสาร The Journal of Veterinary Emergency and Critical Care ว่ามีจำนวนสัตว์ป่วยในรัฐโคโลราโดที่ได้รับพิษจากกัญชามากขึ้นถึง 4 เท่า ในจำนวนนี้มีสุนัขจำนวน 2 รายที่เสียชีวิต แม้แต่ในคนเองก็ยังมีรายงานการได้รับพิษจากการใช้น้ำมันกัญชาที่เกินขนาด  ปัจจุบันยังไม่ยาสำหรับถอนพิษจากกัญชาทั้งในคนและในสัตว์โดยตรง สำหรับในคนที่ได้รับพิษจากกัญชานั้น จะมีอาการประสาทหลอน คลื่นไส้อาเจียน พูดไม่ชัด หัวใจเต้นเร็ว ฯลฯ เพื่อนคงอยากรู้แล้วใช่มั้ยครับว่า แล้วในน้องหมาที่ได้พิษจากกัญชาจะมีอาการอย่างไร เราไปดูกันเลยครับ
 
 
 
 

อาการของสุนัขที่ได้รับพิษจากกัญชา






 

 

 
     จากในคลิปเป็นอาการของสุนัขที่ได้รับพิษจากกัญชาเกินขนาด ร่างกายของสุนัขสามารถรับเอาสารจากกัญชาได้หลายช่องทาง ทั้งการกิน การทา หรือแม้แต่การสูดดมผ่านปอด เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายผ่านกระแสเลือด จะเข้าไปจับกับตัวรับและออกฤทธิ์ จากนั้นจะถูกไปย่อยสลายในตับ และถูกขับออกจากร่างกายออกมาพร้อมปัสสาวะ  การได้รับผ่านทางการกินอาจต้องใช้ระยะเวลาในการย่อย 30-60 นาที จากนั้นจึงค่อยดูดซึมเข้ากระแสเลือด แล้วจึงค่อยออกฤทธิ์ โดยสาร THC ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษในสุนัข สามารถสะสมในไขมันได้ และอาจทำให้พิษยังคงค้างอยู่ต่อไปอีกนาน 2-3 วัน 
 
 
 
     อาการของสุนัขที่ได้รับพิษจากกัญชานั้น จะสามารถทำให้สุนัขเดินเซ อาการคล้ายเหมือนคนเมา ทรงตัวไม่อยู่  รูม่านตาขยาย กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นช้าลง  อ่อนแรง อุณหภูมิร่างกายต่ำ ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายไหลมากกว่าปกติ ปัสสาวะกระปิดกระปอย และอาจถึงขั้นชักได้ เราสามารถตรวจพบสาร delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) ได้จากการตรวจฉี่ของสุนัข 
 
 
 
 
 

การช่วยเหลือสุนัขที่ได้รับพิษจากกัญชา (ผ่านการกิน)

 
 
 
     วิธีการช่วยเหลือสุนัขที่ได้รับพิษจากกัญชา จะต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด หากได้รับมาไม่เกิน 30 นาที ต้องทำการกระตุ้นให้สุนัขอาเจียนออกมา แต่ต้องระมัดระวังในสุนัขที่หมดสติ เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักสิ่งที่อาเจียนลงปอดได้ การใช้ผงถ่านคาร์บอน (ชาโคล) ช่วยลดการดูดซึมของสาร THC หากได้รับมานานแล้วทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการ โดยให้สารน้ำหรือสารจำพวก intravenous lipid emulsion เข้ากระแสเลือดเพื่อเข้าไปจับและเร่งการขับสารพิษออกจากร่างกาย อาจให้ยาซึมในรายที่กระวนกระวาย หรือให้ยาระงับอาเจียนเพื่อช่วยลดอาการดังกล่าว และต้องเฝ้าสังเกตอาการไปจนกว่าพิษของสารพิษจะถูกขับจากร่างกายไปหมด โดยส่วนใหญ่ต้องใช้เวลา 3-5 วัน จนกว่าพิษของกัญชาจะถูกขับออกไปจากร่างกายจนหมด
 
 
 
Dogilike.com :: ดูแลสุนัขอย่างไร ให้ปลอดภัยจากพิษของกัญชา

 
 

แนวทางการป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงได้รับอันตรายจากกัญชา

 
 
 
     การเลี้ยงน้องหมาก็เหมือนกันการเลี้ยงเด็กเล็ก บางครั้งการเล่นสนุกซุกซนก็อาจเป็นภัยร้ายที่ส่งผลถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นที่จัดเก็บกัญชาจะต้องอยู่ในที่สูง อยู่ในตู้หรือภาชนะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้สุนัขเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ให้รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กับกัญชาด้วย ไม่ว่าจะเป็นไซริงค์ ขวด แก้ว บ้องกัญชา หรือแม้แต่ก้นบุหรี่ที่สูบแล้ว เจ้าของและคนในครอบครัวที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ ควรจะต้องรู้วิธีการสังเกตอาการสุนัขผิดปกติหากสุนัขได้รับกัญชาเข้าไป  พร้อมทั้งทราบวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย รวมถึงมีช่องการการติดต่อกับสัตวแพทย์ที่รักษา เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา จะได้พาสุนัขเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที



 
Dogilike.com :: ดูแลสุนัขอย่างไร ให้ปลอดภัยจากพิษของกัญชา




     แม้ในต่างประเทศจะเริ่มมีการใช้กัญชาในสัตว์เลี้ยงกันบ้างแล้ว แต่ยังคงมีการศึกษาจำนวนน้อยมาก และยังไม่ได้การรับรองยืนยันถึงผลในการรักษา หรือแม้แต่ขนาดที่ใช้ในสุนัข ส่วนในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับการรับรองในการนำมาใช้ในสัตว์เลี้ยงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ยังมีข้อมูลที่กล่าวถึงข้อดีและข้อเสียอยู่น้อยมาก หากเพื่อน ๆ สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ   อนาคตของกัญชากับการใช้รักษาโรคในสุนัข ครับ



 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์


ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
https://www.avma.org/News/JAVMANews/Pages/180801a.aspx?fbclid=IwAR092XWEt9IDkxmTLK2h4HaUe8okhVEAlQmCrd3K_OTfGE-https://www.fda.gov/NewsEvents/PublicHealthFocus/ucm421168.htm
 
รูปภาพประกอบ:
https://www.leafscience.com/wp-content/uploads/2018/10/What-to-do-if-your-dog-eats-weed.jpg
https://f5d96zitb9su75g9-zippykid.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/12/dog-15-new-marijuana-intoxication-image-01.jpg
https://i.redd.it/8k2yx91e2j201.jpg