โดย: Tonvet
ไขข้อข้องใจ...ทำไมน้องหมาพันธุ์ใหญ่ถึงอายุสั้น
น้องหมาพันธุ์มีอายุขัยเฉลี่ย 5-8 ปีเท่านั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นนะ มาฟังคำตอบกันเลยครับ
26 มิถุนายน 2556 · · อ่าน (23,653)
ถ้าจะพูดถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางลักษณะ ตลอดจนรูปร่างและขนาดตัวมากที่สุด หนึ่งในนั้นคงต้องมีรายชื่อ สุนัข ติดโผอยู่ในลำดับต้น ๆ อย่างแน่นอน เนื่องด้วยสุนัขมีความหลากหลายของสายพันธุ์ ซึ่งหากจะแบ่งสุนัขตามขนาดน้ำหนักตัวแล้วล่ะก็ เราสามารถแบ่งสุนัขออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ สุนัขขนาดเล็ก (น้อยกว่า 10 กิโลกรัม) สุนัขขนาดกลาง (10-25 กิโลกรัม) สุนัขขนาดใหญ่ (25-45 กิโลกรัม) และสุนัขขนาดใหญ่ยักษ์ (มากกว่า 45 กิโลกรัม) จะเห็นได้ว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่นั้นจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าสุนัขพันธุ์เล็กหลายเท่าเลยทีเดียว ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ยังส่งผลในแง่ของเรื่องสุขภาพ โรค และความผิดปกติต่าง ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สุนัขพันธุ์เล็กที่มีอายุมากมักจะเป็นโรคลิ้นหัวใจเสื่อม (คลิก) ในขณะที่สุนัขพันธุ์ใหญ่มักจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย (คลิก)
อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจ ก็คือ ทำไมสุนัขพันธุ์ใหญ่ถึงมีอายุสั้นกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก ซึ่งดูจะตรงกันข้ามกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั่วไป จากการเก็บข้อมูลของ Michell และคณะ พบว่าสุนัขพันธุ์เล็กจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-14 ปี แต่สุนัขพันธุ์ใหญ่กลับมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่แค่ 5-8 ปีเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่สุนัขพันธุ์ใหญ่ใช้ระยะในการเจริญกว่าจะโตเต็มวัยยาวนานกว่า นั่นแสดงว่า สุนัขพันธุ์ใหญ่มีช่วงวัยผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างสั้นและผ่านเข้าสู่วัยชราได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อปีที่แล้วมีผลการศึกษาสาเหตุการตายของสุนัขที่สัมพันธ์กับอายุ ขนาด และสายพันธุ์ของ Jamie Fleming และคณะ ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Veterinary Internal Medicine ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน ปี ค.ศ. 2011 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลมาจาก The Veterinary Medical Database (VMDB) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 ถึง 2004 พบว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่มักจะตายด้วยสาเหตุจากโรคมะเร็งมากที่สุด โดยอวัยวะหรือระบบที่มักพบปัญหา ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร (คลิก) และระบบโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ (คลิก) โดยโรคมะเร็งมักพบในสุนัขพันธุ์ Bernese Mountain Dog, Golden Retriever, Bouvier des Flandres และ Boxer ส่วนโรคระบบทางเดินอาหารมักพบในสุนัขพันธุ์ Great Danes, Gordon Setters, Akitas, Shar peis และ Weimaraners และโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อมักพบในสุนัขพันธุ์ Saint Bernards, Great Pyrenees, Irish Wolfhounds และ Greyhounds
ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุการตายของสุนัขทั่วไปที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีนั้น ก็มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ระบบโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ และโรคทางระบบประสาทตามลำดับ ส่วนสุนัขที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็มักจะตายจากโรคทางระบบประสาท ระบบโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินอาหารตามลำดับอีกเช่นกัน (ตามรูปภาพ Fig 1 ด้านบน) ซึ่งสุนัขพันธุ์ใหญ่ก็มักจะเป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร และระบบโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้ออยู่แล้วตามที่กล่าวไปข้างต้น การที่เราทราบสาเหตุการตายนี้ จะช่วยทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมสุนัขพันธุ์ใหญ่ถึงมีอายุสั้นกว่าสุนัขพันธุ์เล็กได้มากยิ่งขึ้น
และในปีนี้วารสาร The American Naturalist ฉบับเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2013 ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของ Cornelia Kraus และคณะ พบว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่จะมี "baseline Hazard" สูงกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก โดยยิ่งมีขนาดตัวมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น (ตามกราฟ C ในรูปภาพด้านล่าง) ซึ่งขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นทุก ๆ 2 กิโลกรัม จะทำให้สุนัขมีอายุสั้นลง 1 เดือน (ตามกราฟ B ในรูปภาพด้านล่าง) โดยคณะผู้ทำการศึกษาได้ให้ความเห็นไว้ว่า "สุนัขที่มีขนาดใหญ่จะแก่ตัวในอัตราที่เร็วขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ชีวิตในช่วงโตเต็มวัยของพวกมันจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว" ซึ่งในสัตว์ที่มีอัตราเร่งของอายุช้ากว่าอย่างสุนัขพันธุ์เล็ก จะพบว่ามี Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ต่ำกว่า จึงช่วยชะลอความเสี่ยงของการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับช่วงวัย (age-related disease) ทำให้สุนัขพันธุ์เล็กมีอายุขัยยาวนานขึ้น ซึ่งระดับของ IGF-1 ที่สูงในสุนัขพันธุ์ใหญ่นี้ ยังมีความสัมพันธ์ของการเกิดโรคบางโรค อาทิเช่น โรคมะเร็ง คณะผู้ทำการศึกษาได้ตั้งข้อสังเกตว่า สุนัขพันธุ์ใหญ่จะมีการแบ่งตัวของเซลล์ที่มากขึ้น ซึ่งสาเหตุการตายส่วนใหญ่ของสุนัขพันธุ์ใหญ่ก็มักจะมาจากโรคมะเร็งเช่นกัน
เป็นไงกันบ้างครับ จากผลการศึกษาทั้งสองงาน ที่ผมได้นำเสนอไปนี้ คงจะทำให้เพื่อน ๆ ได้ไขข้อข้องใจกันได้บ้างว่า ทำไมน้องหมาพันธุ์ใหญ่ถึงมีอายุสั้น ผมเชื้อว่าในอนาคตอาจมีการศึกษาใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้มากยิ่งขึ้น หวังว่าคงจะมีวิธีที่จะช่วยยืดอายุน้องหมาพันธุ์ใหญ่ให้ได้อยู่กับเราไปนาน ๆ แม้วันนี้จะยังไม่มีวิธีเช่นว่านั้น แต่หากเพื่อน ๆ เลี้ยงน้องหมาด้วยความรัก ให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ พาออกกำลังกาย และหมั่นพาไปหาคุณหมอเป็นประจำ ก็น่าจะทำให้น้องหมาอยู่กับเราไปได้อีกนานครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
J.M. Fleming, K.E. Creevy and D.E.L. Promislow. 2011. Mortality in North American Dogs from 1984 to 2004: An Investigation into Age-, Size-, and Breed-Related Causes of Death. Journal of Veterinary Internal Medicine: Volume 25, Issue 2.March/April 2011: P 187198
(Article first published online: 25 FEB 2011)
Cornelia Kraus, Samuel Pavard, and Daniel E. L. Promislow. 2013. The SizeLife Span Trade-Off Decomposed: Why Large Dogs Die Young. The American naturalist: Volume 181, no. 4
รูปภาพประกอบ:
www.babble.com
www.img.moonbuggy.org
SHARES