โดย: Tonvet

คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2

ตามมาเช็คสุขภาพสุนัขสูงวัยกันต่อ กับคำถามน่ารู้ดังต่อไปนี้

3 สิงหาคม 2559 · · อ่าน (23,680)
467

SHARES


467 shares

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2



     ต่อเนื่องจากบทความเมื่อตอนที่แล้ว ที่ มุมหมอหมา ได้นำเสนอบทความ คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ กันไปแล้ว ซึ่งในเนื้อหาได้กล่าวถึง สิ่งที่เจ้าของผู้เลี้ยงสุนัขสูงวัยต้องหมั่นสังเกตและตอบคำถามให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกิน การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว ปัญหาในการเดิน รวมทั้งปัญหาในการนอนด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 5-6 ปีขึ้นไป


     ในวันนี้เรามาตามกันต่อว่า ยังเรื่องอะไรอีก ที่เจ้าของอย่างเราต้องหมั่นเช็คสุขภาพให้กับน้องหมาสูงวัย ผ่านคำถามสุขภาพดังต่อไปนี้...มาดูกันเลยครับ


 

1 สุนัขสูงวัยของเรามีปัญหาในการขับถ่ายหรือไม่ ?



     เรื่องขับถ่ายใครว่าไม่สำคัญ โดยเฉพาะกับน้องหมาสูงวัยด้วยแล้ว ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษเลยครับ เริ่มจากสังเกตปัสสาวะก่อนนะครับ สุนัขปกติก็ควรปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้งใช่ไหมครับ แต่ปัญหาที่มักพบในสุนัขสูงวัยที่มีความผิดปกติบ่อย ๆ เลยก็คือ มีการปัสสาวะมาก วันละหลายรอบ รวม ๆ กันก็มีปริมาณมากกว่าปกติ แบบนี้สงสัยได้หลายโรคเลยครับ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน แล้วก็โรคคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) เป็นต้น สุนัขเหล่านี้เมื่อสูญเสียน้ำออกจากร่างกายไปมาก ๆ ก็จะพบว่า มักชอบกินน้ำมากขึ้นด้วยครับ 
 
 
     ปัญหาต่อมาก็คือ ปัสสาวะเล็ดหรือไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ พูดง่าย ๆ อยู่ดี ๆ ฉี่ก็ไหลออกเองซะอย่างนั้น ซึ่งเกิดจากปัญหาการหดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ มักพบในน้องหมาเพศเมีย น้องหมาที่ทำหมันแล้ว น้องหมาที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทเป็นอัมพาตช่วงท้ายของลำตัว หรือน้องหมาที่อ้วนมาก ๆ ก็พบได้เช่นกันครับ


     และสุดท้ายที่พบบ่อย ๆ  เลยก็คือ ปัสสาวะไม่ออกและปัสสาวะขัด ซึ่งเราอาจจะเห็นว่า น้องหมาทำท่าจะฉี่แต่ไม่มีปัสสาวะออกมา บางทีก็ออกมาปริมาณน้อย ๆ กระปิดกระปอย ไม่สุดสักที แต่พยายามทำท่าเบ่งอยู่นั่นเอง ปัญหาเหล่านี้มักพบในรายที่เป็น นิ่ว เป็นโรคไต มีเนื้องอกมาเบียดหรือขวางทางเดินปัสสาวะ ซึ่งในสุนัขเพศผู้สูงวัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากก็พบปัญหาเช่นนี้ได้เช่นกันครับ 


Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2


 

     นอกจากนี้เราก็ควรดูอย่างอื่น ๆ ของปัสาวะประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นความขุ่น กลิ่น และสีของน้ำปัสสาวะ โดยสีปัสสาวะที่ปกติก็ควรมีสีเหลืองใสสีฟางข้าว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น เพราะสีปัสสาวะอาจเข้มขึ้นได้ เมื่อมีปริมาณปัสสาวะลดลง รวมถึงอาหารหรือยาที่น้องหมากินเข้าไป ก็ส่งผลต่อสีของปัสสาวะด้วยเช่นกันครับ เพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ สีปัสสาวะน้องหมาบอกโรคได้จริงหรือ ? 
 
 
     ต่อมาก็เป็นเรื่องของการสังเกตอุจจาระ อุจจาระปกติสีจะออกน้ำตาลคล้ายกับผลมะขามสุก ลักษณะเป็นทรงกระบอก ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป ซึ่งสีอาจเปลี่ยนไปได้ตามแต่อาหารที่น้องหมากินเข้าไป แต่ถ้ามีสีแดงหรือมีเลือดสดปนมา ก็แสดงว่า อาจมีปัญหาที่บริเวณลำไส้ใกล้รูทวาร  ซึ่งถ้าเป็นสำไส้ใหญ่ก็อาจจะมีมูกวุ้นปนออกมากับอุจจาระด้วย  ถ้าอุจจาระสีดำ ก็แสดงว่า อาจเกิดเลือดไหลที่บริเวณลำไส้ส่วนต้น อุจจาระมักมีกลิ่นคาว แต่ถ้าน้องหมากำลังได้รับยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กอยู่ ก็จะพบอุจจาระที่มีสีดำได้ด้วยเช่นกัน ส่วนน้องหมาที่มีอุจจาระลักษณะมัน ๆ สีขาวซีดหรือสีเทา ก็แสดงว่า อาจเกิดปัญหาที่ท่อน้ำดีอยู่ก็ได้ครับ 


     นอกจากดูสีของอุจจาระแล้ว ก็ควรดูด้วยว่ามีอะไรปนมาด้วยหรือไม่ น้องหมาสูงวัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อย การดูดซึมอาหารก็จะพบเศษอาหารที่กินเข้าไปแต่ยังไม่ย่อยปะปนมากับอุจจาระด้วย บางรายมีหนอนพยาธิในทางเดินอาหารปนออกมากับอุจจาระได้เช่นกัน ส่วนอุจจาระที่มีลักษณะคล้ายกระสุนแข็ง ๆ บ่งบอกว่า น้องหมาอาจกินน้ำไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาท้องผูกขับถ่ายลำบาก บางตัวอุจจาระไม่ออกเบ่งถ่ายนาน ๆ ถ้าพบแบบนี้ต่อเนื่องมากกว่า 1-2 วัน ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเลยครับ  
 

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2



 

2 สุนัขสูงวัยของเรามีปัญหาในการมองเห็นหรือไม่ ?


 
     คำว่า หูตาฟ่าฟาง เป็นคำที่ใช้นิยามคำถามข้อนี้ได้ดีเลยครับ น้องหมาสูงวัยก็มักจะมีปัญหาการมองเห็นเช่นกัน บางตัวอาจจะมองเห็นลาง ๆ หรือถึงขั้นมองไม่เห็นเลยก็มี ซึ่งในรายที่สูญเสียการมองเห็นนั้น อาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เดินชนสิ่งของที่ตั้งไว้ เวลาเอาขนมให้จะใช้เวลาหาเป็นเวลานาน ไม่วิ่งไปคาบขนมอย่างที่เคยทำบางตัวมีพฤติกรรมหวาดกลัว ไม่ค่อยกล้าออกไปไหน หวาดระแวงต่อเสียงหรือกลิ่นแปลก ๆ ที่ไม่คุ้น หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นเนื่องจากต้องระมัดระวังตัว แต่น้องหมาที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ก็สามารถที่จะปรับตัวได้ เนื่องจากความคุ้นเคย


    สำหรับโรคตาที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงวัยก็ได้แก่ โรคต้อกระจก ซึ่งเราจะสังเกตเห็นเลนส์ตาของน้องหมาขุ่นขางขึ้น โรคต้อหิน ซึ่งเกิดจากความดันภายในลูกตาสูงกว่าปกติ เกิดได้จากการที่สุนัขมีเนื้องอกในตาหรือมีความดันโลหิตสูงมาก่อนก็ได้ และโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งทำให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นแต่เราไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ดวงตาภายนอก เรียกว่า บอดตาใส เจ้าของควรใส่ใจสังเกตความผิดปกติที่ตา รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างใกล้ชิด และแนะนำให้พาน้องหมาสูงวัยไปตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุก 6 เดือนด้วยนะครับ


Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2


 

3. สุนัขสูงวัยของเรามีตุ่มก้อนบวมนูนขึ้นตามผิวร่างกายหรือไม่ ?

 
 
     นอกจากสังเกตด้วยตาแล้ว การตรวจความผิดปกติด้วยการลูบคลำตามตัวก็มีความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะสุนัขซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขนปกคลุมทั่วร่างกาย อาจเป็นข้อจำกัดในการสังเกตด้วยตาเปล่าเพียงอย่างเดียวได้ โดยเฉพาะกับตุ่มก้อนที่ขึ้นตามผิวร่างกาย บางรายอาจจะยื่นนูนออกมาจากเนื้อปกติ บางรายจะแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อ ขนาดของก้อนก็มีแตกต่างกัน โดยหากเป็นก้อนนูน (nodule) ส่วนมากกจะเป็นตุ่มกลมแข็งขนาดมากกว่า 1 เซนติเมตร หรือถ้าเป็นก้อนเนื้องอกที่มีการเจริญมาอย่างผิดปกติ ก็จะมีรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น อาจจะเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือขึ้นพร้อมกันหลายก้อน อาจมีผิวเรียบหรือผิวขรุขระ อาจรูปทรงกลมบ้างรีบ้าง ลักษณะที่พบก็อาจจะแข็งหรือนิ่ม บางก้อนก็อาจไม่สามารถแยกจากชั้นใต้ผิวหนังได้อย่างชัดเจน ซึ่งบรรดาตุ่มก้อนเหล่านี้ก็มีสาเหตุที่เป็นไปได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรอยโรคผิวหนัง ก้อนฝี หูด ต่อมน้ำเหลืองโต ก้อนเนื้องอกธรรมดา หรือแม้กระทั่งก้อนมะเร็ง
 
 
     สำหรับบริเวณที่พบเนื้องอกได้มากที่สุดในสุนัขก็คือ ที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน รองลงมาก็จะเป็นที่เต้านม ซึ่งทั้งสองบริเวณนี้พวกเราสามารถตรวจพบเบื้องต้นได้ด้วยตังเองครับ เพราะสังเกตและลูบคลำได้ง่าย ซึ่งหากเราพบตั้งแต่ยังเป็นก้อนเล็ก ๆ ก็ควรรีบพาสุนัขไปตรวจก่อน ไม่ต้องรอให้เป็นก้อนใหญ่นะครับ เพราะส่วนมากเจ้าของก็มักจะพามาพบหมอเมื่อมีก้อนใหญ่ หรืออาจอยู่ในระยะที่ลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่่น ๆ ไปแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสในการรักษาลดน้อยลงไป โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่มักพบการแพร่กระจายไปยังปอดหรืออวัยวะใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการตรวจ สัตวแพทย์ก็จะพิจารณาลักษณะก้อนเนื้อ รวมถึงเก็บเซลล์หรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อระบุหาสาเหตุต่อไปครับ
 
 

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2



 

4. สุนัขสูงวัยของเรามีอาการหอบ เหนื่อยง่าย และไอเรื้อรังบ้างหรือไม่ ?

 
 
     เจ้าของสุนัขส่วนมากมักจะละเลยกับอาการเล็ก ๆ น้อยๆ ครับ อย่างอาการหอบ เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง และหายใจลำบากเหล่านี้ สุนัขบางตัวอาจมีอาการอยู่ แต่เจ้าของกลับมองข้ามไป เพราะเห็นว่าสุนัขก็ยังกินได้ แข็งแรงร่าเริงดี ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่สำหรับสุนัขสูงวัยแล้ว หากแสดงอาการเหล่านี้ให้เห็น นั่นเป็นสัญญาณบอกเราได้หลายอย่างเลยครับ อย่างอาการไอเรื้อรัง จะแสดงอาการไอให้เห็นเป็นๆ หาย ๆ ต่อเนื่องมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป เช่นนี้ก็อาจบอกเราได้ว่า น้องหมาอาจมีปัญหาโรคหัวใจวายเรื้อรัง  หรือเป็นโรคหลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง (โรคหอบหืด) อยู่ก็ได้


     ส่วนอาการหายใจลำบาก (Dyspnea) ก็จะมีการหายใจที่ผิดปกติ โดยมีการเคลื่อนไหวของช่องอกและช่องท้องรุนแรงในขณะที่หายใจ บางครัังอาจพบเห็นการอ้าปากหายใจหรือยืดคอหายใจ มีจังหวะการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอสั้นบ้างยาวบ้างสลับกันไป มีทั้งหายใจเข้าลำบาก (Inspiratory dyspnea) ซึ่งเราจะสังเกตเห็นว่าช่วงเวลาหายใจเข้าจะยาวนานกว่าการหายใจออก และหายใจออกลำบาก (Expiratory dyspnea) ก็จะเห็นว่าช่วงเวลาหายใจออกจะยาวนานกว่าการหายใจเข้า บางรายอาจมีอาการหอบ เหนื่อง่าย ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย ซึ่งกรณีหายใจออกลำบากนี้ อาจมีความผิดปกติที่ปอดและหัวใจ บางครั้งอาจมีการสะสมของของเหลวหรืออากาศในช่องอก หรืออาจมีอวัยวะหรือเนื้องอกในช่องท้องเข้ามาดันช่องอกอยู่ก็ได้ครับ ความผิดปกติเหล่านี้ส่วนมากจะไม่ได้แสดงอาการปุ๊บปั๊บทันที แต่ส่วนมากจะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้หลายคนนั้นมองข้ามชะล่าใจ มาตรวจพบอีกทีน้องหมาก็มีอาการหนักไปเสียแล้ว


Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 2



      เพราะเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต ไม่ว่าจะวัยไหน ใคร ๆ ก็อยากมีสุขภาพดีไม่เจ็บไม่ป่วยด้วยกันทั้งนั้น แต่เราก็คงจะหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยไม่พ้น น้องหมาก็เช่นกัน ยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมก็ร่างกายก็ตามมา แต่เราจะทราบได้อย่างไร...นั่นเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะน้องหมาพูดบอกกับเราไม่ได้  และทั้งหมดนี้ ก็คือสิ่งที่เจ้าของผู้เลี้ยงสุนัขสูงวัยทุกคนต้องหมั่นสังเกตอย่างเป็นประจำครับ...หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะได้นำไปปรับใช้กับน้องหมาที่บ้านกันนะครับ




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://www.pethealthnetwork.com/sites/default/files/content/images/what-does-your-dogs-urine-color-mean-fb-120705213.jpg
http://farm2.static.flickr.com/1376/822871606_0814b70a8f.jpg
https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/564x/51/89/06/518906e78698aebf535e909ff915dacc.jpg
http://www.lbah.com/images/Mammary%20Tumor/catnippletumor.jpg
https://www.rover.com/blog/wp-content/uploads/2016/04/dogeye3-960x540.jpg
https://mountpleasantvetgroup.files.wordpress.com/2015/11/fullsizerender.jpg