ค่านิยมของคนในยุคปัจจุบันมักนิยมรูปร่างผอม แต่ถ้าผอมมากไปจนหนังหุ้มกระดูก แบบนี้อาจเกิดจากการป่วยเป็นโรคได้ ในน้องหมาที่ผอมมาก ๆ เราจะมีวิธีสังเกตลักษณะภายนอกได้โดย การมองเห็นกระดูกหัวไหล่ มองเห็นกระดูกซี่โครง มองเห็นกระดูกเชิงกรานได้ และมองเห็นกระดูกสันหลังได้ แต่อีกกรณีที่อาจเข้าข่ายป่วยได้ด้วยเช่นกัน คือการที่อยู่ดี ๆ น้ำหนักตัวของสุนัขก็ลดลงมากกว่า 20-30 เปอร์เซนต์ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่เกี่ยวกับการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย
การที่สุนัขผอมลงหรือน้ำหนักตัวลดลงนั้น อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบในร่างกายได้หลายสาเหตุ เราแบ่งเป็น 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ เกิดจากการย่อยไม่ได้ เกิดจากการดูดซึ่มสารอาหารไม่ได้ และเกิดจากการนำสารอาหารที่ดูดซึมมาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งจะเกิดได้จากโรคร้ายอะไรได้บ้างนั้น เรามาดูกันเลยครับ
1 โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ inflammatory bowel disease (IBD) เกิดจากความผิดปกติของทางเกิดอาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบในบริเวณของลำไส้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่สัญนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค โปรตีนในอาหาร ฯลฯ แล้วกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้น พอเกิดการอักเสบก็ทำให้สภาพแวดล้อมในทางเดินอาหารเปลี่ยนไป แบบทีเรียตัวดีหายไป แบคทีเรียตัวร้ายก็เจริญเติบโรคเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามมา ทำให้น้องหมาแสดงอาการท้องเสียเรื้อรัง จนถึงขั้นถ่ายอุจจาระมีเลือดปน บางรายมีอาเจียน
น้ำหนักตัวลดลง ซูบผอมเนื่องจากการทำงานของลำไส้ผิดปกติไป เนื่้องจากว่ากินอะไรเข้าไปก็ขับถ่ายออกมาหมด สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ
โรคลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังในสุนัข
2 ภาวะหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
ภาวะหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป (Hyperthyroidism) เกิดจากการที่ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนไทรอกซิน (thyroxin) มากเกินไป ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญ (metabolism) ของร่างกายสูงขึ้น น้ำหนักตัวจึงลดลง อีกทั้งอาหารยังเคลื่อนตัวผ่านลำไส้เร็วกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ดูดซึมไม่ทัน จนมีปริมาณอุจจาระมากขึ้น บางรายก็ท้องเสีย อยู่ไม่เฉย และกระวนกระวาย มักพบในสัตว์สูงวัย และพบในแมวมากกว่าสุนัข ทราบได้จากการคลำตรวจบริเวณลำคอในรายที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้น และตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (T4) ในกระแสเลือดครับ ส่วนการรักษาถ้าเกิดจากเนื้องอก นั้นจะใช้การผ่าตัดหรือฉายรังสีไอโอดีน
3 โรค Exocrine pancreatic insufficiency (EPI)
เป็นโรคที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตเอนไซม์มาเพื่อย่อยอาหารได้ เมื่อร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารได้ น้ำหนักตัวก็ลดลงและผอมลงเรื่อย ๆ ทั้งที่กินเก่งขึ้น เราจะสังเกตพบว่า น้องหมาที่ป่วยเป็นโรค EPI นี้ จะมีอุจจาระของน้องหมาจะมีความผิดปกติไป เช่น อุจจาระมีเนื้อของอาหารที่กินเข้าไปปะปนออกมาด้วย เนื้อของอุจจาระจะหยาบขึ้นหรือมีลักษณะเหลวไม่เป็นก้อน อาจพบอุจจาระมีลักษณะมัน ๆ หรือมีไขมันปะปนออกมา ที่เรียกว่า Steatorrhea เพราะตับอ่อนนั้นมีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ไลเปส (lipase) สำหรับย่อยไขมัน เมื่อไม่สามารถทำงานได้ ก็จะทำให้อุจจาระมีไขมันปะปนออกมา โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด หากสุนัขตัวใดมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้จะไม่แนะนำให้ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
4 โรคตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรัง
โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นการอักเสบในส่วนของตับอ่อน อวัยวะเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำย่อยและฮอร์โมนให้กับร่างกายของน้องหมา มีทั้งแบบการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง สำหรับโรคตับอ่อนอักเสบนั้น จะมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดช่องท้องส่วนหน้า ท้องเสีย อ่อนแรง มีภาวะขาดน้ำ ฯลฯ
โดยเฉพาะในรายที่เป็นแบบเรื้อรังจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ เนื่องจากสูญเสียความในการผลิตเอนไซม์สำหรับย่อยอาหาร บางส่วนพัฒนาจากการเกิดโรคตับอ่อนอับเสบแบบเฉียบพลัน เป็น ๆ หาย ๆ จนพัฒนากลายมาเป็นแบบเรื้อรัง สุนัขที่เสี่ยงมักเป็นสุนัขที่อ้วนและกินอาหารที่มีไขมันสูงจำพวกของทอดและที่ผัดด้วยน้ำมันเป็นประจำ ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้วอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการสร้างน้ำย่อย ก่อให้เกิดโรค Exocrine Pancreatic Insufficiency (EPI) หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมน จนก่อให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมในบทความ
โรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข
5 โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานในสุนัข ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน หรือผลิตอินซูลินแต่ผลิตออกมาน้อยเกินไป
เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีอินซูลินแต่ไม่สามารถทำงานได้ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ได้ จึงพบน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ ที่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของสุนัขจะอยู่ที่ 80-120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
น้องหมาที่ป่วยจะกินเก่งขึ้น แต่กลับผอมลง น้ำหนักตัวลดลง เพราะร่างกายต้องไปสลายไขมันหรือโปรตีน เพื่อนำมาเป็นพลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กินน้ำบ่อยและปัสสาวะบ่อย ตาเป็นต้อกระจก เป็นต้น ลักษณะโรคเบาหวานที่น้องหมาเป็นเปรียบได้กับการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในคน ซึ่งเกิดได้จากความผิดปกติในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเบต้าเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายหรือฝ่อสลายไป แต่ก็มีสุนัขบางตัวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน ซึ่งเกิดจากการต้านการทำงานของอินซูลินทีร่างกายผลิตออกมา (Insulin resistance) อันมีสาเหตุโน้มนำมาจากโรคอ้วน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ
พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.
6 ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง
โรคหัวใจวายในสุนัขนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ในสุนัขพันธุ์เล็กเราจะพบว่ามักเป็นโรคลิ้นหัวใจเสื่อม (ลิ้นหัวใจรั่ว) ส่วนในสุนัขพันธุ์ใหญ่มักจะพบภาวะหัวใจโตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย (Dilated Cardiomyopathy) รวมถึงในรายที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจด้วย (ติดจากยุงกัด) เมื่อเกิดความผิดปกติของหัวใจและเข้าสู่ภาวะหัวใจวายแบบเรื้อรัง การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้การลำเลียงสารอาหารได้ไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ร่างกายจึงขาดสารอาหารได้ น้ำหนักตัวก็อาจลดลง นอกจากน้ำหนักตัวจะลดลงแล้ว ยังพบว่าน้องหมาที่เป็นโรคหัวใจ มักจะเหนื่อยง่าย หอบ ไอ และหายใจลำบาก เพื่อนๆ สามารถพาไปตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ และเอ็กซเรย์ช่องอก เพื่อแยกสาเหตุออกจากโรคทางเดินหายใจได้ครับ
7 โรคไตวายเรื้อรัง
เมื่อไตสูญเสียการทำหน้าที่ไปมากกว่า 75 % จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของไต เป็นผลให้ของเสียในกระแสเลือดสูงขึ้น
ยิ่งไตทำหน้าที่ได้ลดลง สารอาหารบางอย่างแทนที่จะถูกเก็บไว้ใช้ประโยชน์กับร่างกาย กลับหลุดลอดปะปนออกมากับปัสสาวะ เกิดภาวะ Protein losing nephropathy ทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนออกมากับปัสสาวะ ร่างกายจึงขาดโปรตีน น้องหมาอาจมีน้ำหนักตัวลดลง การสะสมของของเสียในร่างกาย ทำให้น้องหมาแสดงอาการต่างๆ ออกมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ซึม ไม่กินอาหาร เยื่อเมือกซีด มีแผลในช่องปาก มีกลิ่นปากรุนแรง กินน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อุจจาระออกมามีสีดำหรือเป็นเลือดสด ฯลฯ ไตซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสมดุลกรด-เบสและรักษาสมดุลแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกาย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ร่างกายสูญเสียสมดุลของแร่ธาตุต่างๆ และเกิดภาวะความเป็นกรดขึ้นในร่างกาย (Metabolic acidosis) ได้ นอกจากนี้ไตยังสูญเสียหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนบางอย่าง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการควบคุมความดันโลหิตผิดปกติไปด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ
สารน้ำกับโรคไตวายในสุนัข และ
โภนาการในสุนัขป่วยโรคไตวาย
8 โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งในสุนัขแบ่งได้ตามเซลล์ต้นกำเนิดและอวัยวะที่เกิดของมะเร็ง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ในสุนัขนั้นมะเร็งที่พยได้บ่อยที่ คือ มะเร็งผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งที่อวัยวะเพศ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ เมื่อน้องหมาเป็นมะเร็ง จะส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญ (metabolism) ของร่างกาย เซลล์มะเร็งจะแย่งสารอาหารจากเซลล์ปกติของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร เรียกว่า Cancer cachexia ในขณะที่เซลล์มะเร็งกลับโตเอา ๆ ในระยะแรกน้องหมาอาจจะกินเก่งขึ้น ในขณะที่น้ำหนักกลับลดลง เมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจไปกดการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ หรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จะทำให้น้องหมามีอาการแย่ลง อาจซึมลง เบื่ออาหาร และมีอาการต่าง ๆ ขึ้นกับว่า จะเกิดขึ้นกับระบบใดของร่างกาย
สำหรับการที่น้องหมาน้ำหนักตัวลดลง (ผอมลง) นั้น ยังมีสาเหตุอีกมากมาย ตั้งแต่เกิดจากการได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม เช่น กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ พลังงานต่ำ ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สามารถช่วยได้โดยการปรับเรื่องโภชนาการเสียใหม่ หรือบางรายอาจ มีหนอนพยาธิในทางเดินอาหารจำนวนมาก ซึ่งจะคอยแย่งชิงสารอาหารจากร่างกาย เป็นเหตุให้น้องหมาขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวลดลงได้ ทั้ง ๆ ที่น้องหมาก็กินเก่งเป็นปกติ หากเพื่อน ๆ สงสัยว่าน้องหมาที่มีน้ำหนักตัวลดลงไปนั้นจะป่วยหรือไม่ แนะนำให้พาไปตรวจกับสัตวแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ นะครับ เพราะบางสาเหตุสามารถแก้ไข้ได้ถ้าหากเรารู้เร็ว
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ :
https://i.ytimg.com/vi/Czluo74DgLE/maxresdefault.jpg
https://images.boredomfiles.com/wp-content/uploads/sites/5/2016/10/mojo-2.jpg
https://media.apnarm.net.au/media/images/2017/10/30/b881051711z1_20171030132339_000gd3rh6cc2-0-22dj2yf8loxkyy3d6p2_fct2435x1826_ct1880x930.jpg
http://www.dogblab.com/wp-content/uploads/2018/03/g-Copy.jpg
https://cdn.newsapi.com.au/image/v1/bb5b73fb444c2940dacd602f1adf5414?width=650
https://petrescuereport.com/wp-content/uploads/dodge-city-PD-german-shepherd-e1508598136990.jpg
SHARES