โดย: Tonvet
10 ความผิดปกติแต่กำเนิด ที่ไม่ควรเกิดในสุนัขประกวด
มาดูความผิดปกติแต่กำเนิด ที่ทำให้สุนัขอาจไม่ผ่านเกณฑ์และต้องอดแจ้งเกิดในการประกวด
4 มิถุนายน 2557 · · อ่าน (14,918)ในการประกวดสุนัขนอกจากหลักเกณฑ์ในส่วนของอายุ พันธุ์ และความถูกต้องสวยงามตามมาตรฐานแล้ว เรื่องของสุขภาพก็นับว่ามีความสำคัญไม่น้อย...
สุนัขประกวดที่ดี จะต้องมีลักษณะรูปร่างและอวัยวะต่าง ๆ ปกติ ไล่ตั้งแต่กะโหลก ใบหน้า หู ตา จมูก ปาก ฟัน สันหลัง ท้อง ขา เท้า นิ้วเท้า เต้านม ขน สีขน ผิวหนัง หาง ฯลฯ ทุกอย่างต้องได้ตรงตามมาตรฐาน และใช้งานได้ตามปกติ อีกทั้งยังต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีนิสัยที่ดี ไม่ก้าวร้าว เชื่อฟังและทำตามคำสั่งได้ หากมีอวัยวะส่วนใดผิดปกติไป ก็คงไม่สามารถผ่านเกณฑ์การประกวดไปได้ ความผิดปกติแต่กำเนิดของสุนัขจึงเป็นหนึ่งในข้อต้องพิจารณา ถ้าหากมีก็อาจทำให้สุนัขไม่ผ่านเกณฑ์ และต้องอดแจ้งเกิดในเวทีประกวด
ความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital and Inherited Disorders) ที่พบในสุนัขนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งในส่วนของพันธุกรรม เช่น การกลายพันธุ์ของยีน หรือเกิดความผิดปกติของโครโมโซม และในส่วนของสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค ยา สารเคมี (teratogen) พืชมีพิษ รังสี แรงกระทำทางกายภาพ การขาดสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็น ตลอดจนความเครียดที่แม่สุนัขได้รับ ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอวัยวะในระบบต่าง ๆ ของตัวอ่อนในท้องได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดร่วมกันก็ได้
เราสามารถพบความผิดปกติเหล่านี้ได้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของสุนัข ภูมิภาค ท้องถิ่น และช่วงของฤดูกาล ซึ่งทั่วไปเราจะพบอัตราสุนัขที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดประมาณ 0.2 - 3.5% ของสุนัขที่เกิด โดยระบบที่มีรายงานพบความผิดปกติแต่กำเนิดบ่อย ๆ ในสุนัข ก็อย่างเช่น ระบบประสาท ตา หัวใจ กระดูกและกล้ามเนื้อ และระบบสืบพันธุ์
เราสามารถพบความผิดปกติเหล่านี้ได้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของสุนัข ภูมิภาค ท้องถิ่น และช่วงของฤดูกาล ซึ่งทั่วไปเราจะพบอัตราสุนัขที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดประมาณ 0.2 - 3.5% ของสุนัขที่เกิด โดยระบบที่มีรายงานพบความผิดปกติแต่กำเนิดบ่อย ๆ ในสุนัข ก็อย่างเช่น ระบบประสาท ตา หัวใจ กระดูกและกล้ามเนื้อ และระบบสืบพันธุ์
วันนี้เรามาดูกันว่า ความผิดปกติแต่กำเนิดอะไรบ้าง ที่ส่งผลให้น้องหมามีลักษณะรูปร่างที่ผิดไป และไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นสุนัขประกวด...
1 ความผิดปกติของการสร้างอวัยวะ
ความผิดปกติของการสร้างอวัยวะ (Congenital malformations) ในสุนัข ส่วนมากเกิดจากความล้มเหลวในการแยกตัวในช่วงการพัฒนาของตัวอ่อนในท้องแม่ ทำให้อวัยวะเหล่านั้น อยู่ผิดที่ ผิดตำแหน่ง ไม่มี มีไม่ครบถ้วน มีเกินจำนวน มีขนาดเล็กกว่าปกติ หรือมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ที่พบได้บ่อยและสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายจากภายนอก ก็อย่างเช่น สุนัขที่ไม่มีหาง ไม่มีนิ้ว มีนิ้วเกิน มีนิ้วติดกัน มีนิ้วไม่ครบ มีเต้านมไม่ครบ (ปกติควรมี 4-5 คู่) ไม่มีหัวนม มีหัวนมมากกว่าปกติ ไม่มีรูเปิดทางทวาร ฯลฯ ถ้ามีความผิดปกติเหล่านี้ ก็อาจทำให้น้องหมาไม่ผ่านเกณฑ์ในการประกวดได้
2 โรคหูหนวกแต่กำเนิด
หูหนวกแต่กำเนิด (Congenital deafness) ที่พบในสุนัข เกิดจากการได้รับสารเคมีหรือเชื้อไวรัสในขณะยังอยู่ในท้อง หรือเกิดจากถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสุนัขบางพันธุ์ โดยเฉพาะในสุนัขที่มีขนสีขาว สีขนลายจุด (Piebald) และขนสีลายหินอ่อน (Merle) อาทิเช่น Dalmatian, English Setter, Boxer, Boston Terrier, Old English Sheepdog, Australian Shepherd, Great Dane และ West Highland White Terrier เป็นต้น ซึ่งหากเป็นสุนัขแรกเกิดจะสังเกตได้ยาก มักตรวจพบเมื่อสุนัขมีอายุมากกว่า 3-4 สัปดาห์ขึ้นไปแล้ว โดยเจ้าของจะพบว่า สุนัขที่เป็นจะไม่ตอบสนองต่อเสียงใด ๆ อาจลองทดสอบโดยด้วยการส่งเสียงเรียก (ปลุก) ในขณะที่สุนัขกำลังหลับตา หากเป็นโรคหูหนวกก็จะไม่พบการตอบสนอง แต่หากสุนัขมีหูหนวกเพียงข้างเดียว ก็อาจต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการวินิจฉัยต่อไปครับ
3 ความผิดปกติของตา
ความผิดปกติของตา (Disorder of Eye) มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เนื่องจากตาประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ มากมาย แต่สำหรับความผิดปกติที่พบได้แต่กำเนิดหรือมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และเจ้าของสามารถสังเกตได้จากภายนอกชัดเจน ได้แก่
ความผิดปกติของหนังตา เช่น ภาวะหนังตาม้วนเข้าใน (Entropion) ซึ่งเป็นลักษณะที่หนังตาเกิดการม้วนตวัดเข้าไปข้างใน ทำให้ขนที่ขอบตาหรือบริเวณใกล้เคียงไปบาดหรือเสียดสีกับกระจกตาอยู่เป็นประจำ อีกกรณีหนึ่ง คือ ภาวะหนังตาม้วนออกนอก (Ectropion) ซึ่งเป็นลักษณะที่หนังตาล่างเกิดการห้อยย้อยลงมา ทำให้ปิดตาไม่สนิท และเกิดปัญหาตาแห้ง เยื่อบุตาอักเสบ และมีขี้ตาเกรอะกรังตามมาได้
ความผิดปกติของขนตา เช่น ขนตาขึ้นผิดที่หรือผิดทิศทาง (Thichiasis) ขนตาขึ้นแทรกสองแถวจากรูเปิดเดียวกัน (Distichiasis) เป็นต้น สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ ความผิดปกติของขนตา...ปัญหาสำคัญของน้องหมาพันธุ์ชิสุ
ความผิดปกติของท่อน้ำตา เช่น การไม่มีรูเปิดท่อน้ำตาแต่กำเนิด (Imperforate lacrimal puncta) ทำให้น้องหมามีปัญหาตาแฉะอยู่ตลอดเวลา เปียกเลอะขนจนแลดูไม่สวยงาม
4 ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง
ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (Spinal Cord Disorders) นอกจากจะส่งผลต่อรูปทรงของแนวสันหลังสุนัขแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการทำงานของขา การเคลื่อนไหว และการทรงตัวด้วย ความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบตั้งแต่กำเนิด ได้แก่ Hemivertebrae เป็นการเจริญของกระดูกสันหลังที่ผิดลักษณะ อาจจะมีรูปทรงผิดไป หรือมีขนาดผิดไป ส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังผิดปกติตามมา เราอาจเห็นแนวกระดูกสันหลังบิดเบี้ยว (บิดงอ) ออกด้านข้าง (Scoliosis) กระดูกสันหลังโค้งแอ่นลงล่าง (Lordosis) หรือกระดูกสันหลังโค้งโก่งขึ้น (Kyphosis) ซึ่งการเจริญของกระดูกสันหลังที่ผิดลักษณะ (hemivertebrae) นี้ มักพบบ่อยในสุนัขที่มีหางบิดม้วนเป็นเกลียว (crew-tailed dog breeds) เช่น Pugs, Bulldogs และ Boston Terriers ครับ
5 ความผิดปกติของกระดูกและข้อต่อ
ความผิดปกติของกระดูกและข้อต่อ (Disorders of Bones and Joints) ที่พบได้แต่กำเนิดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ซึ่งโรคกระดูกและข้อต่อที่พบได้บ่อย ก็ได้แก่
โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia) เป็นความผิดปกติที่เบ้ากระดูกเชิงกรานกับหัวกระดูกต้นขาหลังไม่สามารถสวมรับกันได้อย่างพอดี หัวกระดูกจึงไม่อยู่ในเบ้า ในรายที่เป็นแต่กำเนิดอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ทำให้มีการเจริญเติบโตที่ผิดรูป มักพบในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว น้องหมาที่เป็นโรคจะแสดงอาการเจ็บปวดขาหลังเวลาเดิน ทำให้ไม่ค่อยอยากใช้ขา เดินท่าผิดปกติ เช่น ใช้การกระโดดสองขาหลังพร้อมกันเหมือนกระต่าย (bunny hopping) แทนการเดินหรือวิ่ง
โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow Dysplasia) เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมได้เช่นกัน มักพบในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จัดเป็นกลุ่มความผิดปกติที่พบในบริเวณข้อศอก ซึ่งกลุ่มความผิดปกติที่ว่านี้ ก็ประกอบด้วย โรค Osteochondritis dissecans (OCD) ที่มักพบในช่วงระหว่างการเจริญเติบโตของกระดูก การเกิดการไม่เชื่อมกัน (Ununited) ของส่วน anconeal process (UAP) และ การเกิดการแตกออก (Fragmented) ของส่วน medial coronoid process (FCP) ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการอักเสบและการเสื่อมของข้อศอกตามมาได้ เพื่อน ๆ ที่สนใจศึกษาข้อมูลของ โรค Osteochondritis dissecans (OCD) เพิ่มเติม..คลิก
6 ปากแหว่งและเพดานโหว่
ปากแหว่ง (cleft lip) และเพดานโหว่ (cleft palate) เป็นความผิดปกติของการเจริญเติบโตบริเวณใบหน้าของตัวอ่อนสุนัขตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง ส่งผลให้เกิดช่องว่างบริเวณตำแหน่งตรงกลางของริมฝีปาก มักเกิดกับริมฝีปากบนมากกว่าริมฝีปากล่าง โดยอาจต่อเนื่องไปถึงรูจมูกทำให้เกิดลักษณะปากแหว่ง ซึ่งอาจจะเกิดร่วมกับการโหว่ของเพดานแข็ง (hard palate) อันเนื่องมาจากแผ่นกะโหลกที่จะประกอบกันเป็นเพดานแข็งไม่ยอมเชื่อมกัน ทำให้เกิดเป็นช่องว่างเป็นรูเชื่อมระหว่างโพรงจมูกกับช่องปาก ซึ่งหากช่องว่างนี้กว้างมากเท่าไรก็จะยิ่งอันตรายมากเท่านั้น เพราะจะส่งผลต่อการกินและการกลืน ทำให้เกิดการสำลักนมลงปอดในระหว่างที่ลูกสุนัขดูดนมได้ บางครั้งเจ้าของอาจจะสังเกตเห็นน้ำนมไหลออกมาจากรูจมูกในขณะที่ลูกสุนัขกำลังดูดนมอยู่ มักพบในสุนัขพันธุ์ Beagles, Cocker Spaniels, Dachshunds, German Shepherds, Labrador Retrievers, Schnauzers และ Shetland Sheepdogs รวมถึงสุนัขพันธุ์หน้าสั้นด้วยครับ
7 ความผิดปกติของฟันและกระดูกขากรรไกร
ลักษณะความผิดปกติของฟัน ที่พบในสุนัขมีหลายรูปแบบ เช่น จำนวนฟันผิดปกติ ตำแหน่งของฟันผิดปกติ รูปร่างหรือสีของฟันผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม หรือจากสิ่งแวดล้อม เช่น การที่แม่สุนัขได้รับยา Tetracycline ในช่วงที่ลูกในท้องมีการเจริญของฟัน จะทำให้สีของฟันผิดปกติได้
ส่วนความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ที่พบได้บ่อย ๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ ได้แก่ Brachygnathia คือ ขากรรไกรล่างสั้นกว่าขากรรไกรบน (คล้ายกับปากนกแก้ว) กับ Prognathia คือ ขากรรไกรล่างยาวกว่าขากรรไกรบน ทำให้ฟันยื่นออกมา ส่งผลให้เกิดปัญหาในการสบของฟัน (malocclusions) โดยที่ฟันอาจไปทำอันตรายต่อลิ้น เพดานแข็ง หรือเหงือกได้ ความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับลักษณะความผิดปกติที่เป็น
ส่วนความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ที่พบได้บ่อย ๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ ได้แก่ Brachygnathia คือ ขากรรไกรล่างสั้นกว่าขากรรไกรบน (คล้ายกับปากนกแก้ว) กับ Prognathia คือ ขากรรไกรล่างยาวกว่าขากรรไกรบน ทำให้ฟันยื่นออกมา ส่งผลให้เกิดปัญหาในการสบของฟัน (malocclusions) โดยที่ฟันอาจไปทำอันตรายต่อลิ้น เพดานแข็ง หรือเหงือกได้ ความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับลักษณะความผิดปกติที่เป็น
แต่สำหรับสุนัขบางพันธุ์ อย่างสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น Shih Tzu, Pug, Bulldogs, Boxers, Pekingese ฯลฯ ที่มีส่วนหน้าสั้นและแบน ทำให้ส่วนของขากรรไกรบนสั้นกว่าขากรรไกรล่าง จัดเป็นลักษณะปกติตามพันธุ์โดยธรรมชาติ แต่สุนัขหน้าสั้นเหล่านี้ก็มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ตา และฟันตามเสมอครับ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ "5 ปัญหาสุขภาพของน้องหมาพันธุ์ (เล็ก) หน้าสั้น"
8 ปัญหาไส้เลื่อน
ปัญหาไส้เลื่อน (Herniation) เป็นความผิดปกติที่อวัยวะภายในร่างกายหรือเยื่อไขมันที่ปกคลุมอวัยวะภายในร่างกาย ไหลทะลักออกมาอยู่ภายในถุงหุ้มไส้เลื่อน (Hernia sac) ผ่านรูเปิด (Hernia ring) ที่เกิดการจากเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการปิดไม่สนิท จึงพบลักษณะเป็นก้อนนูน ๆ ที่ผิวหนัง ขนาดแตกต่างกันไปขึ้นกับความกว้างของรูเปิดและอวัยวะที่ไหลทะลักออกมา ถ้าหากเราลองเอานิ้วกดลงไปยังบริเวณที่โป่งนูนนั้นเบา ๆ แล้ว จะพบว่า มีความยืดหยุ่น สามารถดันกลับเข้าไปในร่างกายได้ (บางรายก็อาจไม่ยุบเข้าไป) และอาจสัมผัสได้ว่ามีรูเปิดอยู่ ซึ่งไส้เลื่อนสามารถเกิดได้ในหลายตำแหน่งของร่างกาย เช่น ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal hernia) ไส้เลื่อนที่ถุงอัณฑะ (Scrotal hernia) และไส้เลื่อนที่กระบังลม (Diaphragmatic hernia)
9 ภาวะอัณฑะทองแดง
ภาวะอัณฑะทองแดง (Cryptorchidism) คือ ภาวะที่ลูกอัณฑะค้างอยู่ในช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ ไม่ลงมาอยู่ในถุงหุ้มอัณฑะตามปกติ จัดเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง หากเราสังเกตหรือคลำบริเวณถุงหุ้มอัณฑะของน้องหมา จะพบว่าลูกอัณฑะมีไม่ครบทั้งสองข้าง บางรายมีเพียงข้างเดียว หรือบางรายไม่มีเลยทั้งสองข้าง ซึ่งตามปกติแล้วลูกอัณฑะก็ควรจะลงมาครบทั้งสองข้าง บางรายอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ควรจะเกินอายุ 4-6 เดือนครับ
10 ความผิดปกติทางผิวหนังแต่กำเนิด
ความผิดปกติทางผิวหนังแต่กำเนิด (Congenital Anomalies of the skin) ในสุนัขมีหลายชนิด แม้พบไม่ค่อยบ่อยนัก แต่หากเกิดขึ้นกับน้องหมาตัวไหนแล้วย่อมส่งผลต่อความสวยงามโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น…
ถุงซีสต์ที่ชั้นผิวหนัง (Dermoid cysts) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด เกิดจากความล้มเหลวในการแยกตัวของชั้นผิวหนัง ในช่วงการพัฒนาของตัวอ่อนในท้องแม่ ทำให้เกิดเป็นถุงซีสต์ ซึ่งภายในอาจมีสะเก็ดผิวหนัง ขน ไขมัน และเศษซากอื่น ๆ เข้าไปสะสมอยู่ มักเกิดในสุนัขพันธุ์ Rhodesian Ridgebacks และพันธุ์อื่น ๆ ด้วย
ความผิดปกติเกี่ยวกับการสร้างขน เช่น โรคการสร้างขนน้อยมากโดยกำเนิด (Hypotrichosis congenital หรือ Congenital alopecia)
ความผิดปกติของเม็ดสี เช่น โรคด่างขาว (Vitiligo) ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีขาว เริ่มแรกอาจเกิดเป็นลักษณะปื้นสีขาวบริเวณหน้า สันจมูก รอบปาก รอบดวงตา อาจลามเป็นทั้งตัว หรือบางจุด บางตัวม่านตาเกิดการเปลี่ยนเป็นสีขาวด้วย ขนที่ปกคลุมบริเวณผิวที่เปลี่ยนสีมักเปลี่ยนเป็นสีขาวด้วย คาดว่าเซลล์ที่สร้างเม็ดสี เมลาโนไซต์ถูกทำลายไป ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนจากสีปกติเป็นสีขาว ซึ่งสุนัขพันธุ์ที่มักเป็น ก็ได้แก่ German Shepherds, Belgian Tervuren, Rottweilers, Old English Sheepdogs และ Dachshunds ครับ
ยังมีความผิดปกติแต่กำเนิดอีกมากมายที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น หัวใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งสุนัขบางตัวที่ภายนอกดูแข็งแรงและมีลักษณะถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ แต่อาจมีความผิดปกติภายในร่างกายซ้อนอยู่ก็ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มอย่างละเอียดต่อไปครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
http://www.merckmanuals.com/pethealth/
รูปภาพประกอบ:
www2.pictures.gi.zimbio.com
www.media.sacbee.com
www.themost10.com
www.dogbreedinfo.com
www.connemaraterrier.com
www.animaleyecare.com
www.epubbud.com
www.trish-the-stalker.deviantart.com
www.bekindtopets.com
www.vetsurgerycentral.com
www.en.academic.ru
www.chevromist.com
www.almonature.de
www.arthurveterinaryclinic.blogspot.com
www.flickr.com
www.knoxvet.com.au
www.dogbreedsinfo.org
SHARES