โดย: Tonvet

เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักและรับมือกับโรคร้ายที่มักพบได้บ่อยในสุนัขแก่กันครับ

22 สิงหาคม 2561 · · อ่าน (14,896)
655

SHARES


655 shares
  • สุนัขที่มีอายุมากขึ้นทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ จนเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาได้ ซึ่งโรคที่พบบ่อย ได่แก่ โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคมะเร็ง โรคข้อเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรตต้อกระจก และโรคช่องปาก
 
  • โรคหัวใจในสุนัขสูงวัยที่พบได้บ่อย สามารถแยกได้ตามตามขนาดตัวหรือพันธุ์ของสุนัข คือ โรคลิ้นหัวใจรั่วจากความเสื่อม ที่พบในสุนัขพันธุ์เล็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ที่พบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป
 
  • โรคข้อเสื่อมในสุนัข เกิดจากการผลิตสารพวกโปรตีนโอไกลแคน ไกลโคโปรตีน และไกลโคซามิโนไกลแคนลดลง เซลล์เนื้อเยื่อจึงเริ่มเสื่อมและหมดสภาพไป ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายมีปัญหา เกิดการอักเสบตามมา ส่งผลต่อการลุก ยืน เดิน และวิ่งของสุนัข
 
  • โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข เกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ จนถึงขั้นไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดิมได้


 

Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่

 
 
     ถึงแม้อายุที่มากขึ้นจะไม่ได้บอกว่าเราต้องป่วยเป็นโรคอะไร แต่โรคก็มักจะมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นได้เสมอ สุนัขที่มีอายุมากขึ้นก็ไม่ต่างกับคนเรา ที่เมื่อความเสื่อมของร่างกายมาเยือนโรคร้ายต่าง ๆ ก็คอยจ้องจะรุมเร้า นิยามของสุนัขแก่ คือ สุนัขที่มีอายุมากกว่า 6-7 ปีขึ้นไปโดยเฉลี่ย แต่ในความจริงแล้ว สุนัขพันธุ์ใหญ่มักจะเข้าสู่วัยแก่ได้เร็วกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก เมื่อสุนัขเข้าสู่วัยแก่ อาการความผิดปกติจะค่อย ๆ เริ่มปรากฎ ช้าหรือเร็วต่างกันไปขึ้นกับการเลี้ยงดู สุขภาพสุนัขตัวนั้น และพันธุกรรมของสุนัขดังกล่าว ถ้าเจ้าของหมั่นสังเกตอาการ ก็จะพบเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นทีละน้อยได้ ซึ่งถ้าพูดถึงโรคในสุนัขแก่แล้ว ก็มีอยู่หลายโรคด้วยกัน ผมขอคัดเอาโรคเด่น ๆ ที่มักพบในสุนัขแก่มาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน เพื่อที่จะได้คอยเฝ้าระวังสุขภาพกันนะครับ
 
  
 

1 โรคไตวายเรื้อรัง

 
     โรคนี้เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่ เป็นความเสื่อมของอวัยวะตามอายุไข และเซลล์ของไตไม่สามารถสร้างใหม่มาทดแทนได้ สุนัขปกติมีไต 2 ข้างทำงานร่วมกัน แต่เมื่อใดที่ไตสูญเสียการทำงานไปมากกว่า 75% จะทำให้การกรองและการขับของเสียเกิดปัญหา มีการสะสมของของเสียในร่างกาย จนเราสามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากค่าเลือดและปัสสาวะ  สาเหตุของไตวายในสุนัขมีได้หลายสาเหตุ หากจะแบ่งสาเหตุใหญ่ๆ ออกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุจากการที่เลือดไหลมาเลี้ยงไตลดลง จากความล้มเหลวของการไหลเวียนโลหิต การเสียเลือด จนไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เรียกว่า Pre-renal function สาเหตุที่สองเกิดจากความผิดปกติที่ตัวของไตเองทำให้สูญเสียหน้าที่การทำงานไป เรียกว่า Renal function และสุดท้ายเกิดจากการอุดตันการไหลเวียนของระบบปัสสาวะส่วนท้าย ส่งผลมายังการขับของเสียและการทำงานของไต เรียกว่า Post-renal Function 
 
     สุนัขที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังในช่วงแรกนั้น หากเจ้าของที่ไม่เป็นผู้ช่างสังเกต ก็อาจไม่ทันได้เห็นความผิดปกติ สุนัขที่ป่วยจะเริ่มมีอาการกินน้ำมากขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวลดลง พอเป็นหนัก ๆ เข้าก็มักจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร บ้างก็มีอาเจียน เมื่อร่างกายเกิดการสะสมของเสียจำนวนมาก โดยเฉพาะของเสียจากไนโตรเจน หรือสารพวก uremic toxin ในกระแสเลือด เพราะไตของน้องหมาที่ป่วยไม่สามารถขับของเสียเหล่านี้ออกไปจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้ของเสียในเลือดเหล่านี้ไปกระตุ้นตัวรับรู้สารเคมีที่อยู่ในสมองส่วน Medulla oblongata จนทำให้น้องหมาเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้  เมื่ออาเจียนมาก ๆ ร่วมกับปัสสาวะออกมามากด้วย แต่กินน้ำน้อยลงไม่เพียงพอ ก็จะยิ่งทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ นอกจากนี้สุนัขที่เป็นโรคไตวายยังพบความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งสวนทางกับการทำงานของไตที่ลดลง ซึ่งความดันโลหิตสูงนี้เป็นได้ทั้งผลที่เกิดจากไตวายเรื้อรัง และเป็นสาเหตุที่ยิ่งทำให้โรคไตวายรุงแรงมากยิ่งขึ้นได้ สุดท้ายก็จะเกิดภาวะโลหิตจางตามมา เนื่องจากไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ได้ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สุนัขยิ่งมีอาการแย่ลงไปตามลำดับ เพื่อน ๆ สามารถรับมือกับโรคไตวายเรื้อรังได้ ด้วยการหมั่นสังเกตอาการ และพาสุนัขไปตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวัง สำหรับสุนัขที่ป่วยแล้ว เรามีวิธีรับมือมาฝากตามบทความ วิธีการดูแลสุนัขป่วยโรคไตวายเรื้อรัง นี้ครับ 
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่

 
 
 

2 โรคหัวใจ

 
     โรคหัวใจในสุนัขแก่ที่พบได้บ่อย สามารถแยกได้ตามตามขนาดตัวหรือพันธุ์ของสุนัข คือ โรคลิ้นหัวใจรั่วจากความเสื่อม หรือ Myxomatous valvular degeneration โรคนี้มักพบในสุนัขพันธุ์เล็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ส่วนมากจะพบความเสื่อมที่ลิ้นหัวใจไมทรัล (Mitral valve insufficiency) ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องบนและล่างข้างซ้าย ถ้าเป็นไม่มากสุนัขอาจยังไม่แสดงอาการ แต่อาจตรวจพบด้วยการฟังเสียงหัวใจแล้วพบเสียงของการรั่ว (murmur) แต่หากป่วยเป็นเวลานานจนถึงขั้นภาวะหัวใจวาย สุนัขก็มักจะแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หอบ ไอ ฯลฯ เนื่องจากเกิดการคั่งของเลือดที่หัวใจและปอด เพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดนี้ไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ ช่วงแรก ๆ หัวใจก็จะพยายามทำงานให้หนักขึ้น โดยหัวใจจะพยายามเต้นให้เร็วขึ้น มีความดันโลหิตที่สูงขึ้น แต่พอหัวใจทำงานหนัก ๆ เข้าไปนาน หัวใจก็จะเริ่มโต (โดยเฉพาะหัวใจห้องซ้าย) สุดท้ายหัวใจก็ทำงานหนักต่อไม่ไหว จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด ทำให้เกิดตับโต เกิดท้องมาน และเลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ก็ทำให้เกิดโรคไตวายตามมา เรียกได้ว่าส่งผลกระทบไปทั่วทั้งร่างกายเลยทีเดียว สุนัขที่เป็นโรคนี้และแสดงอาการแล้ว จะต้องได้รับยากินซึ่ง ได้แก่ ยาปรับความดัน ยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ ยาขับน้ำ และยาบำรุงหัวใจ ตามดุลพินิจของสัตวแพทย์ เพื่อนสามารถศึกษาเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคนี้ได้ในบทความ อาการไอเรื้อรัง สัญญาณลิ้นหัวใจเสื่อมในสุนัขพันธุ์เล็ก ครับ
 
     ส่วนโรคหัวใจอีกโรคนั้น พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป โรคนี้มีชื่อว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย (Dilated Cardiomyopathy) เรียกสั้น ๆ ว่า โรคหัวใจโต พบว่าห้องหัวใจจะมีลักษณะพองขยายใหญ่กว่าปกติ (Eccentric hypertrophy) ผนังกล้ามเนื้อของหัวใจกลับบางลง ทำให้มีช่องว่างในห้องหัวใจเพิ่มมากขึ้น แรงในการบีบตัวของหัวใจลดลง จนเกิดเลือดคั่งในห้องหัวใจ ไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ร่างกายจึงชดเชยด้วยการเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นเช่นกัน แล้วสุดท้ายก็ทำให้สุนัขเกิดภาวะหัวใจวายตามมาในที่สุด สุนัขที่ป่วยแสดงอาการไอเรื้อรัง หอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีน้ำหนักลด เกิดท้องมาน เบื่ออาหาร มักเป็นลมล้มทั้งยืน (หน้ามืด) บางรายเป็นรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างกะทันหันได้แบบไม่รู้ตัว พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ใหญ่ยักษ์ เช่น โดเบอร์แมน ค็อกเกอร์ สเปเนียล โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์ บ็อกเซอร์ โปรตุกีส วอลล์เทอร์ เซนต์เบอร์นาร์ด เกรสไพรีนีส เยอรมัน เซฟเฟิร์ด ไอริช วูฟฮาร์ว โอลอิงริช ชิฟด็อก ซาลูกิ ฯลฯ สำหรับวิธีการดูแลรักษา เพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ น้องหมาพันธุ์ใหญ่ กับ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย นี้ครับ โดยที่โรคหัวทั้งสองโรคนี้ เราสามารถพาน้องหมาไปตรวจได้ ด้วยการฟังเสียงหัวใจ เอ็กซเรย์ช่องอก วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงครับ 
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่

 
 

3 โรคมะเร็งและเนื้องอก

 
     โรคมะเร็งและเนื้องอกสามารถพบได้ในสุนัขทุกช่วงวัย แต่ที่พบบ่อยมากสุดมักจะเป็นในสุนัขแก่ และดูทีท่าว่าอุบัติการณ์ของการป่วยเป็นโรคมะเร็งในสุนัขนั้น จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะสุนัขนั้นมีอายุยืนยาวมากขึ้น จากการเลี้ยงดูที่ดีและวิทยาการที่ก้าวหน้า มะเร็งและเนื้องอกนั้นเกิดจากเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ มะเร็งมีหลายชนิดแบ่งแยกได้ตามเซลล์กำเนิด และมักเรียกตามอวัยวะที่เกิดมะเร็ง อย่างที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่ คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งกระดูก ฯลฯ เจ้าของส่วนมากจะพบเห็นก้อนแปลกขึ้นตามร่างกาย ส่วนมากจะมีขนาดที่โตเร็วมากภายในระยะเวลาไม่นานนัก จึงพาพบสัตวแพทย์ และได้ทำการเก็บตัวอย่างเซลล์หรือชิ้นเนื้อไปตรวจ จึงพบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง สำหรับโรคมะเร็งในสุนัขนั้นอาจได้รับการแก้ไขด้วยการรักษาทางการผ่าดัด เคมีบำบัด หรือฉายรังสี ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของมะเร็ง และการกระจายตัวของมะเร็ง แต่ก็มีมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกาย ทำเราให้ไม่สามารถสังเกตพบความผิดปกติได้ มาทราบอีกที่สุนัขก็มีอาการหนักแล้ว เช่น มะเร็งที่ปอด มะเร็งที่ม้าม มะเร็งที่ตับ เป็นต้น ทำให้สุนัขส่วนมากเสียชีวิตแบบกระทันหัน และส่วนมากจะทราบสาเหตุการตายได้จากการผ่าซากนั่นเองครับ
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่

 
 

4 โรคตา

 
     โรคตาที่พบในสุนัขแก่ความจริงแล้วมีอยู่หลายโรคเลยครับ เช่น โรคกระจกตาเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม ฯลฯ แต่สำหรับโรคตาที่พบบ่อย ๆ ผมขอยกมาเล่าสัก 2 โรค คือ โรคต้อกระจกจากความเสื่อมของเลนส์ตา กับ โรคภาวะตาแห้ง สำหรับโรคแรกเป็นความผิดปกติในส่วนของเลนส์ตา ที่จากปกติจะใสกลายเป็นขุ่นมัว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีนภายในเลนส์ตา ทำให้แสงผ่านไปยังจอประสาทตาลดลง ส่งผลต่อการมองเห็นที่ลดลง หรืออาจมองไม่เห็นเลยในที่สุด เพื่อน ๆ จะสังเกตเห็นว่า บริเวณลูกตาดำของน้องหมาจะขุ่นขาวขึ้น บางครั้งโรคต้อกระจกอาจเป็นผลที่ตามมาจากโรคเบาหวานที่สุนัขเป็นอยู่แล้ว จึงทำให้น้องหมาเป็นโรคต้อกระจกตามมา สำหรับโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดสลายต้อกระจกได้ด้วยคลื่นความถี่สูง พร้อมทั้งใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อช่วยสำหรับการมองเห็นครับ แต่จะต้องได้รับการประเมินการทำงานของจอประสาทตาก่อนว่ายังปกติอยู่หรือไม่ ซึ่งค่าผ่าตัดอาจสูงถึงหลักหมื่นบาทเลยครับ  
 
     ส่วนอีกโรคคือภาวะตาแห้ง โรคนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า เยื่อตาขาวอักเสบจากภาวะตาแห้ง (Keratoconjunctivitis sicca หรือ KCS) เกิดจากความผิดปกติของการสร้างน้ำตา สาเหตุเกิดจากการอักเสบ การติดเชื้อไวรัส ได้รับยาหรือสารเคมีที่มีส่วนประกอบของกลุ่มซัลฟา (sulfa) เป็นผลจากการผ่าตัดเอาหนังตาที่สามออก เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (immune-mediated disease หรือ Autoimmune dacryoadenitis) หรืออาจเป็นผลมาจากพันธุกรรมก็ได้ ทำให้สร้างน้ำตาออกมาไม่เพียงพอ เมื่อเกิดภาวะตาแห้งจะทำให้น้องหมาเกิดการระคายเคืองเรื้อรังที่กระจกตาและเยื่อบุตา อาจทำให้เกิดแผลหลุมที่กระจกตา หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด อาการเจ้าของมักจะสังเกตพบก็คือ  น้องหมาจะมีขี้ตาเกรอะกรัง มีน้ำตาข้นเขียว ตาแดงเนื่องจากเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตา (ตาดำ) จะดูแห้งและมัวไม่สดใส กระจกตาที่ขาดน้ำตาเปรียบได้กับเซลล์ใกล้ตาย หากน้องหมาจะกระพริบตาบ่อย ๆ ชอบเอาหน้าถูไถกับวัตถุ และหรี่ตาเนื่องจากความเจ็บปวด โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะต้องได้รับยาหยอดตาไปตลอดชีวิต สำหรับการผ่าตัดรักษาไม่ค่อยนิยมทำมากนัในบ้านเรา ยกเว้นในบางที่จะทำการผ่าตัดโดยย้ายท่อน้ำลายมาเปิดที่หางตา (Parotid Duct Transposition) เพื่อให้น้ำลายมาหล่อลื่นกระจกตาแทนน้ำตาครับ เพื่อนสามารถศึกษารายละเอียดได้ในบทความ ภาวะตาแห้งในสุนัข ครับ
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่
 
 
 

5 โรคข้อเสื่อม

 
      โรคข้อเสื่อมก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่ สุนัขบางตัวที่เป็นนี้โรคที่เกิดจากพันธุกรรม โรคข้อเสื่อมในสุนัขสัมพันธ์กับโรคข้ออักเสบ สุนัขบางตัวอาจจะมีความเสื่อมของข้อได้หลาย ๆ ข้อ อันเกิดจากการที่สัตว์เมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้การผลิตสารพวกโปรตีนโอไกลแคน ไกลโคโปรตีน และไกลโคซามิโนไกลแคนลดลง เซลล์เนื้อเยื่อจึงเริ่มเสื่อมและหมดสภาพไป ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายมีปัญหา ส่งผลต่อการลุก ยืน เดิน และวิ่ง สุนัขพันธุ์ใหญ่มักเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม สุนัขที่เป็นโรคนี้จะลุกยืนลำบาก พอลุกได้สักพัก ก็จะยืนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะก้าวเดินอย่าช้า ๆ ต่อไป ซึ่งทุกครั้งที่ก้าวเดินก็จะรู้สึกเจ็บปวดเสมอ บางตัวเลือกที่จะไม่เดินไปไหน นอนมากขึ้น เมื่อไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย จนกล้ามเนื้อต่าง ๆ ฝ่อลีบและส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ลำบากมากยิ่งขึ้น 
 
     เจ้าของจะพบว่าสุนัขที่มีปัญหาข้อเสื่อมจะมีอาการเจ็บปวด ไม่อยากใช้ขา นั่งหรือนอนมากกว่าลุกเดิน ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามปกติ เดินยกขาไม่ลงน้ำหนัก บางตัวอาจซึมลง มีข้อบวม มีไข้ จับคลำหรือยืดหดข้อแล้วเกิดเสียงกรอบแกรบ (crepitus sound) พิสัยหรือมุมในการยืดหดลดลง บางรายเป็นมานานจนเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมาได้ จากผลสำรวจ STATE OF PET HEALTH 2018 REPORT ของโรงพยาบาลสัตว์เครือ Banfield ซึ่งมาสาขากระจายจำนวนมากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนสุนัข 2,586,738 ตัว พบความชุกของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบมากถึง 450 รายต่อต่อนักป่วย 10,000 ตัว (คิดเป็น 4.5%) เลยทีเดียว สำหรับการรับมือกับโรคข้อเสื่อม เจ้าของจะต้องพาสุนัขไปตรวจและเอ็กซเรย์เพื่อหาความผิดปกติ การรักษามีตั้งแต่การรักษาทางยา ร่วมกับการทำกายภาพ และการผ่าตัดรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของความผิดปกติและระดับความรุนแรงด้วย เพื่อน ๆ สามารถรับมือกับโรคนี้ได้ในบทความ 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย ครับ
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่


 

6 โรคอัลไซเมอร์

 
     โรคอัลไซเมอร์เป็นชื่อที่เรียกตามความผิดปกติในคนเพื่อให้เข้าใจง่าย เพราะมีอาการใกล้เคียงกันกับคนที่มีความจำเสื่อม แต่ความจริงแล้วโรคนี้ในสุนัขนั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่า ภาวะความผิดปกติของการรับรู้และความคิด หรือ Canine Cognitive Dysfunction Syndrome (CDS) และโรคนี้ก็พบได้บ่อยในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 10-12 ปีขึ้นไปด้วย เป็นความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ จนถึงขั้นไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดิมได้ เช่น ไม่ทำตามคำสั่ง ยืนจ้องมองกำแพงนาน ๆ เดินวนไปวนมา เดินเข้าไปติดไม่ที่แคบแล้วหาทางออกเองไม่ได้ เห่าหอนโดยไม่มีเหตุผล จำชื่อเรียกตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ขับถ่ายผิดที่ มีการนอนที่ผิดไป ชอบนอนเวลากลางวันเป็นเวลานาน แต่ชอบตื่นเวลากลางคืน ตื่นแล้วเดินไปมาไม่ยอมนอน ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด เช่นเดียวกับอัลไซเมอร์ในคน 
 
     โดยปัจจุบันเราก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรคนี้ แต่จากการผ่าซากดูลักษณะรอยโรคที่เกิดในสมองสุนัขที่เป็นโรคที่ตายไป พบสาเหตุที่ทำให้สมองเสื่อม คือ มีการสะสมของสาร Beta Amyloid plaque (insoluable amyloid plaque) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำลายเซลล์ประสาท โดยการปลดปล่อยอนุมูลอิสระออกมา เซลล์ประสาทก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคส จากเลือดเข้าไปในเซลล์ได้อีกต่อไป และเมื่อเซลล์ขาดกลูโคส เซลล์ก็ตายเพราะขาดพลังงาน การที่สมองมี Beta Amyloid plaque หุ้มอยู่ ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในสมองถูกยับยั้ง อีกทั้งระดับของ Dopamine ในสมองที่ลดลงด้วย ก็ทำให้การสั่งการของสมองหยุดชะงักลง สุนัขที่ป่วยและแสดงอาการเหล่านี้ จะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อคัดแยกกับความผิดปกติในสมองอื่น ๆ เสียก่อน ซึ่งหากเป็นโรคนี้แล้วจะรักษาไม่หายครับ แต่เพื่อน ๆ สามารถช่วยดูแลสุนัขที่ป่วยได้ ตามวิธีทั้งหมดจากบทความ โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข นี้ครับ
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่
 
 
 

7 โรคในช่องปากและฟัน

 
     โรคช่องปากและฟันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่ และเป็นปัญหาอับดับต้น ๆ เลยที่เจ้าของส่วนมากมักมองข้ามไป บางรายมีหินปูนเกาะหนาตัว แต่เจ้าของปล่อยไว้นานไม่ยอมพาไปพบสัตวแพทย์ พออายุมากเข้า ต้องทำการตรวจรักษา ก็เป็นกังวลเรื่องการวางยาสลบเพื่อทำการรักษาและขูดหินปูนอีก แทนที่สุนัขจะได้รับการรักษา ก็กลับไม่ได้รับการรักษาไปเป้นเรื่องน่าเสียดาย บางรายปล่อยไว้จนกระทั้งสุนัขไม่สามารถกินอาหารได้จึงค่อยพามารักษาก็มี สำหรับโรคในช่องปากและฟันของสุนัขแก่นั้น มีได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่เหงือกอักเสบ โรคปริทนต์ที่ทำให้เย็ดยึดฟันและกระดูกเบ้าฟันมีปัญหา ไปยันเป็นมะเร็งในช่องปาก  แม้แต่ปัญหาคราบจุลินทรีย์ที่ฟัน ก็อาจลุกลามกลายเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบตามมาได้ด้วย โดยเชื้อแบคทีเรียจากฟันและเหงือกสามารถเข้าไปตามกระแสเลือดได้ตลอดเวลา  แบคทีเรียพวกนี้ล่องลอยไปตามกระแสเลือดแล้วก็ไปเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบตามมาได้ ทางป้องกันที่ดี คือหมั่นสังเกตอาการและอย่าทำเป็นละเลยปัญหาเด็ดขาด เมื่อเกิดปัญหาต้องรีบพาไปรักษาทันที เพื่อนสามารถสังเกตอาการได้ตามบทความ 4 ความผิดปกติเกี่ยวกับช่องปาก ที่ต้องพาน้องหมาไปหาหมอ (ฟัน) ทันที นี้เลยครับ
 
Dogilike.com :: เจ้าของต้องรู้!!! 7 โรคร้ายที่พบได้บ่อยในสุนัขแก่

 
 
     ปัญหาสุขภาพในสุนัขแก่เป็นสิ่งที่เจ้าของทุกคนจะต้องเผชิญ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสื่อมของร่างกายได้ บางทีที่เราเห็นสุนัขแก่เดินลำบาก เอาแต่นอนทั้งวัน หรือความอยากอาหารลดลง ซึ่งหลายคนมักคิดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่หมาแก่ตัวไหน ๆ ก็มักจะเป็นกัน ผมอยากขอร้องว่าอย่าคิดแบบนี้เป็นอันขาด เพราะการที่เราจะปล่อยปัญหาให้ผ่านไป โดยที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ แล้วว่าคิดว่ายังไงมันก็เกิดขึ้นได้ไปตามช่วงวัย เช่นนี้เป็นการปล่อยให้สุนัขที่เรารักต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเขา บางปัญหาเมื่อตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถหาวิธีรักษาและช่วยยืดชีวิตของสุนัขได้ เพราะหากปล่อยให้เป็นหนักแล้ว ก็ไม่มียาวิเศษที่ไหนจะยืดชีวิตสุนัขของเราได้ สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่เลี้ยงสุนัขแก่ มีปัญหาป่วยเป็นโรคอะไรกันอยู่บ้าง มาแลกลเปลี่ยนประสบการณ์กันได้เลยนะครับ
 
 
 
บทความโดย: หมอต้น น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก:
https://www.banfield.com/state-of-pet-health/us



รูปภาพประกอบ:
http://cdn.akc.org/content/hero/old-dog-diet.jpg
https://cdn1-www.dogtime.com/assets/uploads/2017/10/chronic-acute-renal-failure-kidney-dogs-2.jpg
https://www.eastcottreferrals.co.uk/uploads/South_West_Vet_Referrals/dog_diabetic_cataract.jpg
https://mountpleasantvetgroup.files.wordpress.com/2017/04/how-to-check-a-dogs-heart-rate-e1493101493172.jpg
https://www.yourdog.co.uk/images/stories/dogcare/arthritisjoint.jpg
http://static10.gestionaweb.cat/267/pwimg-1024/article-es-el-alzheimer-de-los-perros.jpg
https://images.wagwalkingweb.com/media/articles/dog/oral-cancer/oral-cancer.jpg
https://i.ytimg.com/vi/2hcuquTXxFg/maxresdefault.jpg